บาลีวันละคำ

ทมยันตี (บาลีวันละคำ 2,615)

ทมยันตี

อ่านอย่างไร แปลอย่างไร

คำว่า “ทมยันตี” ในภาษาไทย เป็นที่รู้กันว่าเป็นชื่อนางเอกในวรรณคดีเรื่องพระนล

มีคำถามว่า “ทมยันตี” อ่านอย่างไร?

พระนลคำหลวง” (พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6) สรรคที่ 12 มีความตอนหนึ่งว่า –

…………..

๏ อโศกโยกกิ่งไกว….จงตอบไปดังใจหมาย

ได้เห็นพระฦๅสาย……ผ่านมาบ้างฤๅอย่างไร

๏ พระนั้นชื่อพระนล….ผู้เรืองรณอริกษัย

เปนผัวนางทรามไวย…นามนิยมทมยันตี

…………..

วรรคสุดท้ายที่ว่า “นามนิยมทมยันตี” บอกให้รู้ว่า ชื่อนี้อ่านว่า ทม-มะ-ยัน-ตี ทั้งนี้เพราะคำว่า “นามนิยม” บังคับรับสัมผัส คือ “นิยม” กับ “ทม-” ต้องรับสัมผัสกัน หรือ “นิยม” บังคับให้คำต่อไปต้องอ่านว่า ทม-

เคยได้ยินบางคนอ่านว่า ทม-ยัน-ตี คือไม่มีคำว่า -มะ- ระหว่าง ทม- กับ -ยัน ซึ่งน่าจะไม่ถูกต้อง

ที่ถูกจะต้องมีคำว่า -มะ- ระหว่าง ทม- กับ -ยัน ดังหลักฐานใน “พระนลคำฉันท์” (พระนิพนธ์ของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ หรือ น.ม.ส.) ในคำอธิบายศัพท์ หน้า 4 มีบอกไว้ว่า –

…………..

๑๖ ทัมะยันตี (ทมยน์ตี) แปลว่า นางผู้ทรมานชาย เปนชื่อนางเอกในเรื่องนี้

…………..

เป็นอันยืนยันว่าชื่อนี้ต้องมี -มะ- ระหว่าง ทม- กับ -ยัน

แต่อย่างไรก็ตาม คำอธิบายศัพท์ที่ยกมานี้ก็บอกคำอ่านพยางค์แรกว่า ทัม- ไม่ใช่ ทม

สรุปแบบประนีประนอมว่า “ทมยันตี” อ่านว่า ทม-มะ-ยัน-ตี ก็ได้ ทัม-มะ-ยัน-ตี ก็ได้

ทมยันตี” แปลอย่างไร?

พระนลคำหลวง” บอกไว้ในอภิธานว่า –

…………..

ทมยันตี, ส. = “ข่มชาย” (คือให้ชายยำเกรงเพื่อเคารพในธรรมะแห่งนาง) เปนนามแห่งธิดาท้าวภีมราช ผู้ได้เปนมเหษีพระนล ฯ

…………..

พระนลคำฉันท์” แปลไว้ว่า “นางผู้ทรมานชาย”

…………..

เป็นอันได้ความหมายตรงกันคือ “ทมยันตี” แปลว่า “ข่มชาย” หรือ “ทรมานชาย

ในคัมภีร์บาลี (ซึ่งนักวิชาการบางสายนิยมเรียกว่า “วรรณคดีบาลี”) คือคัมภีร์ธรรมบท มีพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า –

อุทกญฺหิ นยนฺติ เนตฺติกา

อุสุการา นมยนฺติ เตชนํ

ทารุํ นมยนฺติ ตจฺฉกา

อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา.

(อุทะกัญหิ นะยันติ เนตติกา

อุสุการา นะมะยันติ เตชะนัง

ทารุง นะมะยันติ ตัจฉะกา

อัตตานัง ทะมะยันติ ปัณฑิตา)

ที่มา: บัณฑิตวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 16

แปลว่า –

ชาวนาไขนํ้าเข้านา

ช่างศรดัดลูกศร

ช่างไม้ถากไม้

บัณฑิตฝึกตนเอง

Irrigators lead water;

Fletchers fashion shafts;

Carpenters bend wood;

The wise tame themselves.

(สำนวนแปลไทย-อังกฤษ ของ เสฐียรพงษ์ วรรณปก)

…………..

คำว่า “ทมยนฺติ” ในวรรคสุดท้าย รูปคำเหมือน “ทมยันตี” ความหมายก็เหมือนกัน

ทมยนฺติ” อ่านว่า ทะ-มะ-ยัน-ติ เป็นคำกิริยาอาขยาต รากศัพท์มาจาก ทมุ (ธาตุ = ฝึก, อบรม, ข่ม, ทรมาน) + ณฺย ปัจจัยในกัตตุวาจก, ลบสระที่สุดธาตุ (ทมุ > ทม) และลบ ณฺ (ณฺย > ) + อนฺติ วิภัตติ (พหูพจน์)

: ทมุ + ณฺย = ทมุณฺย > ทมณฺย > ทมย + อนฺติ = ทมยนฺติ แปลว่า “ย่อมฝึก” “ย่อมข่ม” “ย่อมทรมาน

ชื่อ “ทมยันตี” จะอธิบายให้เป็นคำบาลีก็ได้ นั่นคือ ทมุ (ธาตุ = ฝึก, อบรม, ข่ม, ทรมาน) + ณฺย ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (ทมุ > ทม) และลบ ณฺ (ณฺย > ) + อนฺต ปัจจัยในกิริยากิตก์ + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ทมุ + ณฺย = ทมุณฺย > ทมณฺย > ทมย + อนฺต = ทมยนฺต + อี = ทมยนฺตี (ทะ-มะ-ยัน-ตี) แปลตามศัพท์ว่า “ทรมานอยู่” (“อยู่” เป็นคำแสดงปัจจุบันกาล หมายถึงกำลังฝึกหรือกำลังทรมานสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ และการฝึกหรือการทรมานนั้นยังไม่เสร็จสิ้น) มีความหมายตรงตามชื่อ “ทมยันตี” ที่แปลว่า “ข่มชาย” หรือ “ทรมานชาย

แสดงที่มาของคำว่า “ทมยันตี” เป็นแนวคิดเท่านั้น ไม่ได้ยืนยันมั่นเหมาะว่าคำนี้จะต้องมาจากคำนั้น จะเรียกว่า “ลากเข้าวัด” หรือ “จับบวช” ตามที่เรียกล้อเล่นกันก็ได้ พอเป็นเครื่องบันเทิงทางภาษา

ท่านผู้ใดอ่านแล้วเกิดมีอุตสาหะที่จะเรียนบาลี ก็ถือว่าเป็นมหากุศลผลพลอยได้ที่ดีงาม

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทรมานคนอื่นจะประเสริฐอะไร

: ถ้าไม่รู้จักทรมานใจของตัวเอง

—————

(สนองศรัทธากับท่าน กวิน พ. ที่ส่งคำมาให้ช่วยกันสงสัย)

#บาลีวันละคำ (2,615)

10-8-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย