เมื่อผมไปชมพระเมรุมาศ
เมื่อผมไปชมพระเมรุมาศ
———————–
ตอน ๓ : เราควรได้อะไรจากพระเมรุมาศ
เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ผมมีโอกาสไปชมพระเมรุมาศที่ทุ่งพระเมรุ-โดยไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อน
เมื่อไปชมแล้วผมเกิดความคิดดังจะบรรยายสู่กันฟังต่อไปนี้
…………..
คนส่วนมากไปเพื่อจะถ่ายรูป
ไม่ใช่ถ่ายรูปพระเมรุมาศ
แต่ถ่ายรูปตัวเองและญาติมิตรให้ติดพระเมรุมาศด้วย
ประเด็นนี้ผมมีแง่คิดดังนี้
รูปพระเมรุมาศนั้น คนทั่วไปแทบจะไม่มีความจำเป็นต้องถ่ายไว้แต่ประการใดเลย
แต่เอาเถอะ ไหนๆ ก็ไหนๆ จะอ้างว่าถ่ายไว้เป็นสมบัติส่วนตัว-ก็ไม่ว่ากัน
ผมเข้าใจว่า รูปพระเมรุมาศครั้งนี้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องบันทึกไว้
ถอยหลังไปตั้งแต่มีการตั้งคณะกรรมการคิดอ่านสร้างพระเมรุมาศนั่นเลย
คณะกรรมการมีใครบ้าง
ประชุมกันกี่ครั้ง
ตกลงกันว่าอย่างไร
ใครเป็นคนออกแบบ
บันทึกเป็นหลักฐานไว้ทั้งหมด ตั้งแต่สนามหลวงตรงนั้นยังว่างๆ โล่งๆ
แล้วมีอิฐก้อนแรก
ไม้ท่อนแรก
เหล็กชิ้นแรก ที่เอามาวางไว้เพื่อการก่อสร้าง
ตั้งแต่วันที่บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างหรือช่างของทางราชการเข้าไปทำงานวันแรก
รายชื่อช่างมีใครบ้าง
วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เอามาจากไหน
ลวดลายศิลปกรรมต่างๆ ทำกันที่โรงงานไหน
ชิ้นส่วนต่างๆ ทำกันที่ไหน
เอามาประกอบกันแบบไหน
อาคารองค์ประกอบต่างๆ สร้างกันอย่างไร
จนเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งาน
จนถึงวันที่มีพระราชพิธีถวายพระเพลิง
จนถึงวันที่เปิดให้ประชาชนเข้าไปชม
จนถึงวันที่ลงมือรื้อถอน
ขนย้ายอะไรออกไปก่อน
แล้วจึงถอดถอนชิ้นส่วนไหนออกไป
จนถึงวันที่อิฐก้อนสุดท้าย
ไม้ท่อนสุดท้าย
เหล็กชิ้นสุดท้าย
ถูกขนออกไป
จนถึงวันที่คืนพื้นที่ว่างเปล่าให้แก่สนามหลวงเหมือนเดิม
ทั้งหมดที่ว่ามานี้ตั้งแต่ต้นจนจบควรจะต้องถูกบันทึกไว้ ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว จะหมดฟิล์มไปกี่ล้านม้วน หมดกระดาษไปกี่ล้านแผ่น หรือต้องใช้เนื้อที่อิเล็กทรอนิกส์ไปสักกี่ล้านล้าน KB ก็ควรจะต้องทำ
แล้วก็คัดเลือกภาพที่พึงประสงค์จัดพิมพ์เป็นหนังสือ “ประมวลภาพพระเมรุมาศรัชกาลที่ ๙” ออกเผยแพร่แก่ประชาชน จะเป็นเล่มกระดาษ หรือ e-book ก็แล้วแต่จะคิดอ่านกัน
ถ้ายังไม่ได้คิด จงคิดเสีย
ถ้าคิดแล้ว จงเร่งลงมือทำให้สำเร็จ
จะเป็นประวัติศาสตร์ชาติไทยที่มีคุณค่ามหาศาล เป็นอภิมหาอมตนิรันดร์กาล และเป็นเกียรติสูงสุดแก่ตัวผู้ทำ ตั้งแต่บัดนี้ตราบสิ้นดินฟ้า
ผมเชื่อว่าไม่มีใครที่ไม่อยากได้-แม้แต่คนที่อ้างว่าไปถ่ายรูปพระเมรุมาศเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัวแล้วนั่นก็เถอะ
ใครยังคิดว่าควรจะไปชมพระเมรุมาศเพื่อถ่ายรูปพระเมรุมาศเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัวอีกหรือไม่
…………..
ทีนี้ก็มาถึงประเด็น-ถ่ายรูปตัวเองและญาติมิตรให้ติดพระเมรุมาศด้วย
ความประสงค์นี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาของคนทั่วไป ไปถึงที่ไหน ได้ดูได้เห็นอะไร ก็อยากถ่ายรูปตัวเองกับสถานที่นั้นๆ สิ่งนั้นๆ ไว้เป็นที่ระลึก
ไม่ใช่เรื่องเสียหายใดๆ
แต่ถ้าลองคิดให้ลึกๆ ก็จะเห็นอะไรลึกๆ ที่คนทั้งหลายมักจะลืมคิด หรือคิดไม่ถึง
เริ่มตั้งแต่-พระเมรุมาศแห่งนี้คืออะไร
พระเมรุมาศแห่งนี้คือที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพรักและเทิดทูนของปวงชนชาวไทยและชาวโลก
พูดสั้นๆ ภาษาชาวบ้าน พระเมรุมาศคือที่เผาศพบุคคลผู้เป็นที่รักของเรา
เราพูดกันกระหึ่มไปทั้งแผ่นดินว่าเรารักในหลวงรัชกาลที่ ๙ มีคนเป็นล้านๆ สิบล้าน หลายสิบล้าน พอใจ ภูมิใจ ที่จะยืดอกประกาศว่าฉันเกิดในรัชกาลที่ ๙
แต่เรากลับตีค่าพระเมรุมาศรัชกาลที่ ๙ เป็นเพียงฉากถ่ายรูปตัวเองเท่านั้นเองหรือ?
น่าเสียดายที่คนส่วนมากมองคุณค่าของพระเมรุมาศเป็นเพียงสถานที่ถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกเท่านั้น
ดูภาพที่เผยแพร่กันออกมาจะยิ่งเห็นชัด มีคนจำนวนไม่น้อยที่ตั้งใจไปถ่ายรูปตัวเองกับพระเมรุมาศ ทั้งการแต่งตัว การโพสต์ท่า การทำกิริยาต่างๆ รวมทั้งการติดป้ายประกาศว่ามาจากไหน ล้วนเป็นการบ่งบอกว่ามุ่งแสดงตัวตนของตัวเอง เห็นความสำคัญของตัวเองมากกว่าตัวพระเมรุมาศ
ไม่ต่างอะไรกับกรณีถ่ายรูปบ่าวสาว ที่เรียกเป็นคำฝรั่งว่า pre-wedding ร้านที่รับถ่ายรูปจะมีบริการให้เจ้าบ่าวนุ่งผ้าม่วงแบบขุนนาง เจ้าสาวสวมชุดไทยห่มสไบ ไปถ่ายรูปที่โบราณสถาน เช่นที่วัดมหาธาตุ ราชบุรีบ้านผมเป็นต้น มีมาให้เห็นเป็นประจำ
โพสต์ท่าเจ้าบ่าวโอบเจ้าสาว เจ้าสาวชม้ายตามองเจ้าบ่าว ฯลฯ อยู่ข้างๆ พระพุทธรูป ข้างๆ เจดีย์ โบสถ์ วิหาร กำแพงศิลาแลง
วัดวาอารามที่ปู่ย่าตายายสร้างไว้เป็นบุณยสถาน เป็นที่เคารพบูชากราบไหว้ มีคุณค่าเพียงแค่เป็นฉากประกอบการถ่ายรูปบ่าวสาวเท่านั้น
หนุ่มสาวเหล่านั้นไม่ได้ไปวัดมหาธาตุด้วยตั้งใจจะไปไหว้พระเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตคู่ หรือเพราะนับถือเลื่อมใสในพระรัตนตรัยแต่ประการใด หากแต่ตั้งใจจะไปถ่ายรูปโดยอาศัยพระพุทธรูปเก่าๆ และโบสถ์วิหารลานพระเจดีย์เป็นฉากประกอบเท่านั้นเอง-นี้ฉันใด
ผู้คนส่วนใหญ่ที่ไปชมพระเมรุมาศในครั้งนี้-ก็ฉันนั้น
ถ้าการพูดเช่นนี้ไปกระทบใจญาติมิตรท่านใด ผมกราบขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย-แน่นอนที่สุด ผู้ที่ไปด้วยความตั้งใจไปชื่นชมความงดงามอลังการของพระเมรุมาศก็ต้องมีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยด้วยเช่นกัน
ขอคารวะท่านที่มีเจตนาสูงส่งทั้งปวงไว้ ณ ที่นี้
ผมเพียงพยายามจะบอกว่า ไปชมพระเมรุมาศควรได้อะไรที่มากกว่าการไปถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก
…………..
ถึงตรงนี้ก็คงจะมีหลายท่านบอกว่า เรื่องแบบนี้มันแล้วแต่ความประสงค์หรือ “มุมมอง” ของแต่ละคน คนเราคิดไม่เท่ากัน มองไม่เหมือนกัน จึงไม่ควรจะมากะเกณฑ์อะไรกัน
ผมไม่เถียงเรื่องมุมมอง
แต่มุมมองก็ต้องมีกรอบขอบเขต ไม่ใช่มองอะไรให้เป็นอะไรก็ได้หมด
ลองคิดเทียบกับเรื่องนี้-เรื่องพระพุทธปฏิมา
ถ้ามีใครสักคนที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาขึ้นไปขี่พระศอหรือเหยียบพระเศียรพระพุทธรูป แล้วบอกว่านี่มันเป็นมุมมองของฉัน ฉันเห็นว่าพระพุทธรูปควรมีไว้สำหรับขี่คอและเหยียบหัวเล่นสนุกๆ ไม่เห็นจะเป็นไร
ตัวอย่างแบบนี้ท่านอาจจะแย้งว่า แบบนี้มันมีกฎหมายกำหนดไว้ ทำไม่ได้ ทำไม่ถูกอยู่แล้ว
เห็นไหมครับว่า-จะมีคนอ้างอิงกฎหมายทันที-เหมือนกับจะบอกว่าต้องเคารพกฎหมายด้วย
เห็นไหมครับว่า มันมีมากกว่า “มุมมอง” ขึ้นมาแล้ว
ทีนี้สมมุติว่า มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่า คนที่มาอยู่เมืองไทยต้องกราบไหว้พระพุทธรูป
แน่นอน แบบนี้ก็เห็นกันได้ชัดว่า-ใครเขียนกฎหมายแบบนี้ก็บ้าแล้ว
ทีแรกก็อ้างมุมมอง
ต่อมาก็เอ่ยกฎหมาย
แต่แล้วกฎหมายก็ยังไม่พอ ยังต้องมีความถูกต้องเหมาะสม มีวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต มีจารีต มีเหตุมีผลอันชอบธรรมประกอบเข้าไปอีกด้วย
สุภาพชนคนทั่วไปก็ย่อมจะคิดต่อไปได้ด้วยตัวเองว่า เออ จริงด้วย มันไม่ใช่มีแต่ “มุมมอง” อย่างเดียว ยังมีสิ่งที่จะต้องนำมาคิดนึกตรึกตรองเป็นองค์ประกอบเข้าไปด้วยอีกตั้งมากมายหลายแง่หลายมุม
การไปชมพระเมรุมาศก็มีอุปมาอุปไมยเช่นนั้น
จะคิดแค่-ก็ฉันอยากไปถ่ายรูปเฉยๆ มันเสียหายตรงไหน-แค่นี้ไม่ได้
แต่ต้องคิดต่อไปอีกว่า ถ่ายรูปอะไร ถ่ายรูปใคร ถ่ายแบบไหน ถ่ายตรงไหน ถ่ายท่าไหน ถ่ายเอาไปทำอะไร ….
จะเห็นได้ว่า ถ่ายรูปเรื่องเดียวต้องคิดไปอีกยาวทีเดียว จึงจะสมฐานะของสามัญชนคนมีสามัญสำนึก
…………..
สูงขึ้นไปอีก-ถ้าตั้งใจไปชมความงดงามอลังการอย่างคนที่เจริญแล้วอยู่ในชาติที่พัฒนาแล้ว ก็ยังควรจะต้องทดสอบความเข้าใจของตัวเองด้วยว่า ทำไมลักษณะอย่างนี้ๆ เขาจึงเรียกกันว่างดงามอลังการ พระเมรุมาศงดงามอย่างไร อลังการอย่างไร ตรงไหน ส่วนไหนของพระเมรุมาศเขาเรียกว่าอะไร ในแง่ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม งามอย่างไร
สรุปว่า ควรมีความรู้พอที่จะเห็นความงาม หรือซาบซึ้งในความงดงามอย่างคนมีความรู้ ไม่ใช่ว่า-เขาว่างามก็ว่าตามเขาไป
มองในแง่หนึ่ง ควรถือเป็นโอกาสที่จะทำให้พระเมรุมาศเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ เป็นแหล่งให้ความรู้แก่คนในชาติไปด้วย
ในแง่นี้ ผมเข้าใจว่าคนที่ได้ประโยชน์คงจะมีน้อยมาก ส่วนใหญ่ของผู้ไปดูจะเป็นพวก-เดินๆ ดู แต่ไม่ค่อยรู้อะไร แม้ว่าหลายๆ จุดที่จัดแสดงให้ดูจะมีคนไปรุมดูกันมาก แต่ไม่แน่ใจว่าดูเพราะอยากได้ความรู้ หรือดูเพราะเห็นคนอื่นเขาดู
ผมเดินถ่ายชื่อศาลาภายในบริเวณพระเมรุมาศไว้ได้ ๓ ชื่อ ไม่ทราบว่ามีทั้งหมดกี่ชื่อ แต่ละชื่อไพเราะเพราะพริ้งและมีความหมายดี อยากทราบชื่อผู้คิดตั้งชื่อเหล่านี้ แต่ไม่ทราบว่าจะไปถามใคร และไม่ทราบว่าข้อมูลทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้มีอยู่ที่ไหน เปิดเผยแก่สาธารณชนได้หรือไม่
นี่เป็นตัวอย่างที่ผมเชื่อว่า ในหมู่ฝูงชนที่ไปชมพระเมรุมาศนั้นแทบจะไม่มีใครสนใจใคร่รู้ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องน่ารู้
…………..
แต่แง่มุมสำคัญที่น่าคิด หากแต่คงจะไม่มีใครคิดกันก็คือ พระเมรุมาศแห่งนี้ คิดเทียบกับพุทธประวัติก็คือ มกุฏพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เป็นสถานที่อันควรไปดูไปชมเพื่อเจริญธรรมสังเวช
มกุฏพันธนเจดีย์ที่อินเดีย แม้จะไม่ได้ระบุไว้ในจำนวน ๔ แห่งของสังเวชนียสถาน แต่ชาวพุทธที่ได้จาริกบุญไปถึงที่นั่นย่อมไม่พลาดโอกาสที่จะไปสวดมนต์ไหว้พระ เจริญจิตภาวนา กระทำประทักษิณรอบมกุฏพันธนเจดีย์ควบคู่ไปกับสถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน
ถ้าประชาชนที่ไปชมพระเมรุมาศจะได้ตั้งจิตเจตนาไปชมเพื่อเจริญ “นวมินทรมหาราชานุสติ” โดยการจัดระเบียบตัวเองให้สงบเงียบเรียบร้อยสักชั่วเวลาหนึ่ง ระลึกถึงพระมหาบารมีอันเป็นคุณูปการอย่างยิ่งแก่ปวงชนชาวสยามตั้งแต่เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ ตราบจนถึงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ เป็นเวลายาวนานถึง ๗๐ ปี ก็จะเกิดธรรมปีติเป็นมหากุศลอย่างยิ่ง
หรือถ้าทางราชการจัดเตรียมสถานที่สักมุมหนึ่งไว้เพื่อให้ประชาชนเข้าไปเจริญสติ หรือสวดมนต์ หรือทำกิจอันเป็นกุศลอื่นๆ ที่สมควร โดยสงบเงียบด้วยจิตเจตนาอันงามตามที่กล่าวมา ก็จะเป็นมหากุศลอย่างยิ่ง
จำนวนผู้คนที่เกลื่อนกล่นไม่ควรเป็นอุปสรรคแก่ความสงบเงียบ ถ้าทุกคนมาด้วยความปรารถนาเดียวกัน คือมาเพื่อรำลึกถึงบุคคลอันเป็นที่เคารพรักอย่างสูงยิ่งในชีวิตของตน
แต่อนิจจา … คิดช้าเกินไป
…………..
ผมประมวลดูแล้ว พอจะแบ่งกลุ่มผู้คนที่ไปชมพระเมรุมาศได้เป็น ๔ จำพวกตามจิตเจตนาที่ตั้ง หรือตามจำนวนมากไปหาน้อย ดังนี้ –
จำพวกที่ ๑ ไปตั้งท่าถ่ายภาพ
จำพวกที่ ๒ ไปซาบซึ้งความงาม
จำพวกที่ ๓ ไปตามหาความรู้
จำพวกที่ ๔ ไปตามดูสัจธรรม
และถ้าจะอุปมาเหมือนคนไปเที่ยวแสวงหาไม้ ก็ควรจะอุปมาได้ดังนี้
จำพวกที่ ๑ ได้สะเก็ดไม้
จำพวกที่ ๒ ได้เปลือกไม้
จำพวกที่ ๓ ได้กระพี้ไม้
จำพวกที่ ๔ ได้แก่นไม้
ท่านผู้ใดอยู่ในจำพวกไหน พึงพิจารณาจิตด้วยจิตของตนของแต่ละคนตามอัธยาศัย เทอญ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐
๑๘:๔๓
…………………………….
……………………………