น้ำกรวด – กรวดน้ำ (บาลีวันละคำ 1,995)
น้ำกรวด – กรวดน้ำ
“น้ำกรวด” และ “กรวดน้ำ” เป็นคำไทย จึงควรหาความรู้ในภาษาไทยก่อน
พจนานุกรมฯ ว่าอย่างไร :
คำว่า “กรวด” ในที่นี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้เป็น “กรวด ๓” บอกไว้ดังนี้ –
“กรวด ๓ : (คำกริยา) หลั่งนํ้า เช่น นํ้าพระเต้าสิโตทกธารามารดริน กรวดลงในมืออินทพฤฒาจารย์. (ม. กาพย์ สักบรรพ). (ข. จฺรวจ).”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เก็บคำว่า “กรวดน้ำ” เป็นลูกคำของ “กรวด” บอกไว้ว่า –
“กรวดน้ำ : (คำกริยา) แผ่ส่วนบุญด้วยวิธีหลั่งนํ้า; (ภาษาปาก) โดยปริยายหมายความว่า ตัดขาดไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย, มักใช้ว่า กรวดนํ้าควํ่ากะลา หรือ กรวดนํ้าควํ่าขัน.”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามเหลือเพียง –
“กรวดน้ำ : (คำกริยา) แผ่ส่วนบุญด้วยวิธีหลั่งนํ้า.”
แล้วเพิ่มคำว่า “กรวดน้ำคว่ำกะลา, กรวดน้ำคว่ำขัน” เป็นลูกคำของ “กรวด” บอกไว้ว่า –
“กรวดน้ำคว่ำกะลา, กรวดน้ำคว่ำขัน : (สำนวน) (คำกริยา) ตัดขาดไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย.”
บาลีว่าอย่างไร :
คำว่า “กรวดน้ำ” เมื่อถือเอาความว่า “แผ่ส่วนบุญด้วยวิธีหลั่งนํ้า” ก็ตรงกับสำนวนบาลีว่า “ทกฺขิโณทกํ ปาเตติ” แปลว่า “ยังน้ำเพื่อทักษิณาให้ตกลง”
“ทกฺขิโณทก” (ทัก-ขิ-โน-ทะ-กะ) แยกศัพท์เป็น ทกฺขิณา + อุทก
(๑) “ทกฺขิณา” (ทัก-ขิ-นา) รากศัพท์มาจาก ทกฺขฺ (ธาตุ = เจริญ) + อิณ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ทกฺขฺ + อิณ = ทกฺขิณ + อา = ทกฺขิณา แปลตามศัพท์ว่า (1) “ทานที่คนเชื่อผลของกรรมแล้วให้” (2) “เหตุเป็นเครื่องเจริญด้วยสมบัติตามที่ปรารถนา” หมายถึง ของทำบุญ, ทักษิณาทาน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทกฺขิณา” ว่า –
(1) a gift, a fee, a donation (รางวัล, ของขวัญ, ค่าธรรมเนียม, ของที่ควรให้, สิ่งบริจาค)
(2) a donation given to a “holy” person with ref. to unhappy beings in the Peta existence (“Manes”), intended to induce the alleviation of their sufferings (ทานที่ให้แก่ “ผู้ศักดิ์สิทธิ์” เพื่ออุทิศแก่พวกสัตว์ที่ได้รับทุกข์ทรมานเป็นเปรต (“Manes”), โดยหมายจะบรรเทาความทุกข์ทรมาน)
(3) an intercessional, expiatory offering (สิ่งที่ให้เพื่อชดใช้หรือล้างบาป หรือเพื่ออุทิศให้ผู้อื่น)
(๒) “อุทก”
บาลีอ่านว่า อุ-ทะ-กะ รากศัพท์มาจาก อุทิ (ธาตุ = ไหลไป; เปียก, ชุ่ม) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), ลบที่สุดธาตุ (อุทิ > อุท)
: อุทิ + ณฺวุ > อก = อุทิก > อุทก (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ไหลไป” (2) “สิ่งที่ทำให้เปียก” หมายถึง น้ำ (water)
ทกฺขิณา + อุทก “ลบสระหน้า อาเทสสระหลัง” คือลบ อา ที่ (ทกฺขิ)-ณา (ทกฺขิณา > ทกฺขิณ) และแผลง อุ ที่ อุ-(ทก) เป็น โอ (อุทก > โอทก)
: ทกฺขิณา > ทกฺขิณ + อุทก = ทกฺขิณุทก > ทกฺขิโณทก แปลตามศัพท์ว่า “น้ำเพื่อการอุทิศให้” “น้ำเพื่อสิ่งที่มอบให้”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทกฺขิโณทก” ว่า –
water to wash in (orig. water of dedication, consecrated water)
(น้ำสำหรับชำระล้าง [แต่เดิมหมายถึง น้ำที่หลั่งเพื่อแสดงการอุทิศ, น้ำที่หลั่งเพื่ออุทิศส่วนบุญให้บรรพบุรุษ])
“ทกฺขิโณทก” ในภาษาไทยใช้เป็น “ทักษิโณทก”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“ทักษิโณทก : (คำนาม) นํ้าที่หลั่งในเวลาทําทานเพื่ออุทิศผลให้แก่ผู้ตาย, นํ้าที่หลั่งลงเป็นการแสดงว่ามอบให้เป็นสิทธิ์ขาด, นํ้ากรวด คือ นํ้าที่ใช้แทนสิ่งของที่ให้ซึ่งใหญ่โตหรือไม่มีรูปที่จะหยิบยกให้ได้ เช่นวัด ศาลา บุญกุศล เป็นต้น, เมื่อเป็นชื่อของพระเต้า เรียกย่อว่า พระเต้าษิโณทก. (ส.).”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –
“ทักษิโณทก : (คำราชาศัพท์) (คำนาม) นํ้าที่หลั่งการบำเพ็ญพระราชกุศล, นํ้าที่หลั่งลงเป็นการแสดงว่ามอบให้เป็นสิทธิ์ขาด, นํ้ากรวด คือ น้ำที่ใช้แทนสิ่งของที่ให้ซึ่งใหญ่โตหรือสิ่งไม่มีรูปที่จะหยิบยกให้ได้ อย่างวัด ศาลา บุญกุศล เป็นต้น เช่น พระเวสสันดรหลั่งทักษิโณทกยกสองกุมารให้ชูชก, ชื่อของพระเต้าที่พระมหากษัตริย์ทรงหลั่งน้ำเพื่ออุทิศพระราชกุศล เรียกว่า พระเต้าทักษิโณทก. (ส.).”
“ทกฺขิโณทก” หรือ “ทักษิโณทก” แปลว่า “น้ำกรวด” คือน้ำที่ใช้สำหรับกรวดน้ำ
แต่ถ้าพูดว่า “กรวดน้ำ” จะกลายเป็นคำกริยา คำบาลีที่เป็นประโยคสามัญคือ “ทกฺขิโณทกํ ปาเตติ” แปลว่า “ยังน้ำเพื่อทักษิณาให้ตกลง”
ถ้าเป็นกริยานามก็แปลงคำกริยา “ปาเตติ” ให้เป็นนามศัพท์ คือเป็น “ปาต” รากศัพท์คือ ปตฺ (ธาตุ = ตกไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ป-(ตฺ) เป็น อา (ปตฺ > ปาต)
: ปตฺ + ณ = ปตณ > ปต > ปาต แปลตามศัพท์ว่า “การตกไป” (2) “การทำให้ตกไป” หมายถึง การตก (fall); การโยน, การขว้าง (throwing, a throw)
ทกฺขิโณทก + ปาต = ทกฺขิโณทกปาต (ทัก-ขิ-โน-ทะ-กะ-ปา-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “การยังน้ำเพื่อทักษิณาให้ตกลง” = การกรวดน้ำ
“ทกฺขิโณทกปาต” ถ้าเขียนทับศัพท์เป็นไทยก็น่าจะเป็น “ทักษิโณทกบาต” และควรอ่านว่า ทัก-สิ-โน-ทก-กะ-บาด
สรุปว่า
– น้ำกรวด = ทกฺขิโณทก > ทักษิโณทก
– กรวดน้ำ = ทกฺขิโณทกปาต > ทักษิโณทกบาต
ที่ว่ามาเป็นการแสดงรูปศัพท์ตามหลักภาษาเท่านั้น ในคัมภีร์ยังไม่พบศัพท์ “ทกฺขิโณทกปาต” ในภาษาไทยของเราเองก็ไม่เคยได้ยินใครใช้คำว่า “ทักษิโณทกบาต” ได้ยินแต่พูดกันว่า “กรวดน้ำ” อย่างเป็นภาษาทางการหน่อยก็ใช้ว่า “หลั่งทักษิโณทก”
…………..
ข้อควรเข้าใจให้ถูกต้องบางประการเกี่ยวกับการกรวดน้ำ :
๑ การกรวดน้ำไม่ใช่เป็นขั้นตอนการทำให้บุญสำเร็จผลดังที่มักเข้าใจผิดๆ เช่นทำบุญใส่บาตรเสร็จแล้ว มักเข้าใจกันว่าต้องกรวดน้ำก่อน บุญที่เกิดจากการใส่บาตรจึงจะสำเร็จเป็นบุญ
โปรดทราบว่านั่นเป็นการเข้าใจผิดอย่างยิ่ง
๒ บุญทุกอย่าง เมื่อทำเสร็จก็สำเร็จเป็นบุญทันที ไม่ใช่ต้องกรวดน้ำก่อนจึงจะสำเร็จเป็นบุญ
๓ การกรวดน้ำเป็นการทำบุญอีกวิธีหนึ่งในวิธีทำบุญ 10 วิธี ที่เรียกว่า “ปัตติทานมัย” บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ หรือที่นิยมพูดกันว่า แบ่งส่วนบุญ
เพราะฉะนั้น ทำบุญแล้ว ไม่ต้องกรวดน้ำ ก็เป็นบุญหรือได้บุญเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าประสงค์จะอุทิศส่วนบุญที่ทำนั้นให้ผู้อื่น-โดยเฉพาะผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว-จึงกรวดน้ำ เป็นการทำบุญเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง
๔ การกรวดน้ำสำเร็จได้ด้วยการตั้งจิตเจตนา แม้ไม่เปล่งวาจาก็สำเร็จได้ การเปล่งวาจาเป็นเพียงวิธีทำให้เจตนาเข้มข้นชัดเจนขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าจะกล่าวคำกรวดน้ำ ก็ต้องเข้าใจความหมายของถ้อยคำนั้นด้วย
๕ เมื่อการกรวดน้ำสำเร็จด้วยใจเป็นสำคัญ ก็เป็นอันตอบข้อสงสัยได้ว่า กรวดน้ำเป็นภาษาบาลี ถ้าผู้รับไม่รู้ภาษาบาลีจะได้บุญหรือ กรวดน้ำเป็นภาษาไทยให้ฝรั่ง ฝรั่งไม่รู้ภาษาไทยจะได้บุญหรือ
๖ กรณีผู้รับจะได้บุญที่อุทิศให้หรือไม่ ไม่ขึ้นอยู่กับผู้อุทิศ แต่ขึ้นอยู่กับผู้รับ นั่นคือถ้าผู้ที่เราอุทิศให้เขารับรู้และอนุโมทนา เขาก็ได้บุญ ถ้าเขาไม่รับรู้ หรือรับรู้แต่ไม่อนุโมทนา เขาก็ไม่ได้บุญ
๗ อนึ่ง บุญที่เขาได้คือบุญที่เกิดจากการอนุโมทนาส่วนบุญ ที่เรียกว่า “ปัตตานุโมทนามัย” ไม่ใช่ได้รับบุญที่เราเป็นผู้ทำ เช่น
– เราใส่บาตร เราได้บุญที่เกิดจากการใส่บาตร (ทานมัย)
– เราแบ่งส่วนบุญที่เกิดจากการใส่บาตรให้ผู้อื่น เราได้บุญที่เกิดจากการแบ่งส่วนบุญ (ปัตติทานมัย) (เป็นคนละส่วนกับบุญที่เกิดจากการใส่บาตร)
– ผู้ที่เราแบ่งส่วนบุญให้ อนุโมทนาบุญที่เราทำ เขาได้บุญที่เกิดจากการอนุโมทนาส่วนบุญ (ปัตตานุโมทนามัย) ไม่ใช่ได้บุญที่เกิดจากการใส่บาตร เพราะเขาไม่ได้ใส่บาตรเอง
แต่อาจกล่าวได้ว่า ผู้ใดอนุโมทนาบุญที่ผู้อื่นทำด้วยใจจริง เพราะความจริงใจนั้นเขาอาจอยู่ในฐานะเสมือนเป็นผู้ทำบุญนั้นด้วยตัวเองได้บ้าง
๘ การกรวดน้ำไม่จำเป็นต้องใช้น้ำเสมอไป ถ้าไม่สามารถหาได้ก็ไม่ต้องใช้ การใช้น้ำกรวดก็ด้วยเหตุผลที่ว่า บุญเป็นนามธรรม ไม่อาจจับยกหยิบยื่นให้กันได้เหมือนสิ่งของ จึงใช้การหลั่งน้ำเป็นเครื่องหมายให้เห็นเป็นรูปธรรม ทำนองเดียวกับให้ของใหญ่ของหนักที่ไม่สามารถยกยื่นให้กันได้ ก็ใช้วิธีหลั่งน้ำลงบนฝ่ามือของผู้รับแทน (ดูคำนิยามในพจนานุกรมฯ ข้างต้น)
๙ มีคำแนะนำว่า เมื่อทำบุญเสร็จให้กรวดน้ำทันที เหตุผลก็คือ ทำบุญเสร็จใหม่ๆ จิตใจยังสดชื่นอยู่ ระลึกถึงบุญที่ทำได้ชัดเจนแจ่มใส จึงเหมาะที่จะกรวดน้ำอันเป็นการแบ่งส่วนบุญให้ผู้อื่น
๑๐ และด้วยเหตุผลดังกล่าว เป็นอันยืนยันว่า เราสามารถกรวดน้ำได้ทุกเวลาที่ระลึกได้ถึงบุญที่ทำไว้ แม้จะได้ทำบุญมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ถ้ายังระลึกถึงบุญนั้นได้ก็สามารถกรวดน้ำได้ทุกครั้ง ไม่ใช่ว่าต้องกรวดน้ำภายในวันนั้น หรือต้องกรวดน้ำก่อนดวงอาทิตย์ตกดิน มิเช่นนั้นจะไม่ได้บุญ-อย่างที่บางตำราบอก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: น้ำกรวดที่ศักดิ์สิทธิ์
: คือน้ำที่ล้างทุจริตออกจากหัวใจ
———–
ภาพประกอบ: จาก google
#บาลีวันละคำ (1,995)
28-11-60