อาลปนะ (บาลีวันละคำ 4,065)
อาลปนะ
คำทักทาย
อ่านว่า อา-ละ-ปะ-นะ
“อาลปนะ” เขียนแบบบาลีเป็น “อาลปน” อ่านว่า อา-ละ-ปะ-นะ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) + ลปฺ (ธาตุ = กล่าว, พูด, บอก; พูดชัดเจน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: อา + ลปฺ = อาลปฺ + ยุ > อน = อาลปน แปลตามศัพท์ว่า “การกล่าว” หมายถึง การเจรจา, การร้องเรียก, การสนทนา (talking to, addressing, conversation)
พจนานุกรมฯ บอกว่า บาลี “อาลปน” สันสกฤตก็เป็น “อาลปน”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่ได้เก็บคำว่า “อาลปน” ไว้ แต่มีคำว่า “อาลาป” ซึ่งมีรากศัพท์อย่างเดียวกัน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“อาลาป : (คำนาม) การปราไส, การสนทนา; speaking to, conversation.”
“อาลปน” ในภาษาไทยใช้เป็น “อาลปน์” (อา-ลบ) และ “อาลปนะ” (อา-ละ-ปะ-นะ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาลปน์, อาลปนะ : (คำนาม) การพูด, การสนทนา, การเรียก, การทักทาย; ในไวยากรณ์ หมายถึง คําที่ใช้เรียกหรือทักทายผู้ที่ตนจะพูดด้วย เช่น “นายแดง แกจะไปไหน” คํา “นายแดง” เป็นอาลปนะ. (ป., ส.).”
ขยายความ :
นักเรียนบาลีในเมืองไทยไม่เคยใช้คำว่า “อาลปน์” แต่นิยมใช้คำว่า “อาลปนะ” และใช้เป็นคำเรียกชื่อนิบาตบอกอาลปนะในวิชาวากยสัมพันธ์
หนังสือบาลีไวยากรณ์ วจีวิภาคที่ 2 นามและอัพยยศัพท์ พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แสดงนิบาตบอกอาลปนะไว้ดังนี้ –
…………..
นิบาตบอกอาลปนะ
(1) ยคฺเฆ
เป็นคำสำหรับร้องเรียกให้คนสูงกว่าตนตั้งใจฟังคำที่ผู้พูดประสงค์จะว่า ไม่มีคำแปลในภาษาของเราให้ตรงกันได้ และคำเช่นนี้ก็ไม่ใคร่มีใช้นักในภาษาของเรา เห็นมีอยู่แต่คำทูลพระเจ้าแผ่นดินว่า “สรวมชีพ” หรือ “ขอเดชะ” ซึ่งเป็นคำพูดเพื่อจะให้พระจ้าแผ่นดินตั้งพระราชหฤทัยฟังคำที่จะพูดต่อไป. คำว่า “ยคฺเฆ” มีอธิบายอย่างนั้น แต่จะว่าตรงกันแท้ไม่ได้ เพราะคำว่า “สรวมชีพ” และ “ขอเดชะ” ใช้ได้แต่ทูลพระเจ้าแผ่นดิน ใช้ทูลเจ้านายหรือกราบเรียนท่านเสนาบดีอื่นไม่ได้ แต่คำว่า “ยคฺเฆ” บ่าวใช้พูดกับนายก็ได้
(2) ภนฺเต, ภทนฺเต
2 นี้เป็นคำสำหรับคฤหัสถ์เรียกบรรพชิตด้วยเคารพ หรือบรรพชิตผู้อ่อนพรรษากว่าเรียกบรรพชิตผู้แก่กว่า. ในภาษาของเราท่านบัญญัติให้แปลว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ”
(3) ภเณ
เป็นคำสำหรับคนสูงกว่าพูดกับคนผู้ที่อยู่ในบังคับตน เช่นพระเจ้าแผ่นดินรับสั่งแก่ข้าราชการ. ในภาษาของเราท่านบัญญัติให้แปลว่า “พนาย”
(4) อมฺโภ
เป็นคำสำหรับเรียกชายด้วยวาจาอันอ่อนหวาน. ในภาษาของเราท่านบัญญัติให้แปลว่า “แน่ะผู้เจริญ”
(5) อาวุโส
เป็นคำสำหรับบรรพชิตที่มีพรรษามากกว่าเรียกบรรพชิตที่มีพรรษาน้อยกว่า และสำหรับบรรพชิตเรียกคฤหัสถ์. ในภาษาของเราท่านบัญญัติให้แปลว่า “แน่ะท่านผู้มีอายุ”
(6) เร, อเร
2 นี้ เป็นคำสำหรับร้องเรียกคนเลวทราม ตรงกับภาษาของเราว่า “เว้ย, โว้ย”
(7) เห
เป็นคำสำหรับร้องเรียกคนเลว ตรงกับภาษาของเราว่า “เฮ้ย”
(8 ) เช
(แปลว่า “แม่”) เป็นคำสำหรับนายเรียกหญิงสาวใช้. คำว่า “แม่” นั้น ไม่ตรงกับ เช ทีเดียว เป็นแต่ยืมมาใช้ เพราะคำว่า “แม่” ใช้ได้ทั่วไปมาก เป็นต้นว่ามารดาบิดาเรียกธิดา บุตรธิดาเรียกมารดา นายเรียกสาวใช้เป็นคำอ่อนหวาน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เป็นมนุษย์สุดนิยมเพียงลมปาก
: จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา
: แม้นพูดดีมีคนเขาเมตตา
: จะพูดจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความ
ที่มา: สุภาษิตสอนสตรี
#บาลีวันละคำ (4,065)
30-7-66
…………………………….
…………………………….