พระคาถาธรรมบท
พระคาถาธรรมบท
———————
พระคาถามหาเศรษฐี
มีญาติมิตรท่านหนึ่งบอกมาที่หน้าบ้านผม ความว่าดังนี้
………..
พระคาถามหาเศรษฐี (ของพระพุทธเจ้า)
อัตตะทัตถัง ปะรัตเถนะ พระหุนาปิ นะ หาปะเย
อัตตะทัตถะมะภิญญายะ สะทัตถะปะสุโต สิยาฯ
พระคาถานี้เป็นคาถาโบราณของพระพุทธเจ้าโดยตรง ผู้ใดหมั่นท่องพระคาถานี้ก่อนนอนทุกคืน อย่าได้ขาด 1,009 คืน ติดต่อกันขาดไม่ได้ ถ้าลืมท่องคืนใดคืนหนึ่งให้ตั้งต้นนับ 1 ใหม่
อานุภาพแห่งพระคาถานี้ โบราณท่านว่าคนจนจะกลายเป็นคนชั้นกลาง หากเป็นคนชั้นกลางอยู่แล้วก็จะกลายเป็นเศรษฐีได้ หากตั้งใจจริงย่อมเป็นคนร่ำรวยได้ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า
ขอรบกวนช่วยเขียนคำอ่านที่ถูกต้องของพระคาถาด้วย จักเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
(จบข้อความ)
………..
ผมขออนุญาตตอบดังต่อไปนี้
ที่มาของพระคาถา
——————-
คำบาลีที่ยกมานั้นเรียกว่า “พระคาถา” ย่อมเหมาะแท้ เพราะเป็นคำตรัสของพระพุทธเจ้า
ไม่ได้ยกคำโบราณมาบอกเล่า
แต่เป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสเอง
พระคาถานี้อยู่ในคัมภีร์ธรรมบท
คัมภีร์ธรรมบทเป็นคัมภีร์ชั้นพระไตรปิฎก
คัมภีร์ในพระพุทธศาสนามีหลายชั้นตามอายุ
ชั้นต้นเดิมคือพระไตรปิฎก บางทีเรียกว่า “พระบาลี” รวบรวมมาจากคำตรัสสอนของพระพุทธเจ้า
ชั้นรองลงมาคือ อรรถกถา ที่สำนักท่านพระคึกฤทธิ์ปฏิเสธว่าไม่นับถือ ไม่เอา
อรรถกถาเป็นคัมภีร์ขยายความพระไตรปิฎก
รองลงมาคือ ฎีกา ขยายความอรรถกถา
รองลงมาคือ อนุฎีกา ขยายความฎีกา
คัมภีร์ทุกชั้นมีรายละเอียดปลีกย่อยอีก เอาหลักๆ แค่นี้พอ
คัมภีร์ธรรมบทเป็นคัมภีร์ที่มีคนรู้จักมาก ฝรั่งมังค่าก็รู้จักดี มีแปลเป็นภาษาฝรั่งหลายสำนวน
คัมภีร์ธรรมบทอยู่ในพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ เล่ม ๒๕ ข้อที่ ๑๑ ถึง ๓๖
ข้อความในคัมภีร์ธรรมบทเป็น “คาถา” ล้วนๆ
“คาถา” ในที่นี้หมายถึงบทกลอนในภาษาบาลี อันเป็นความหมายเดิม
ไม่ได้หมายถึงคำเสกเป่าเพื่อให้ขลังศักดิ์สิทธิ์ตามความเข้าใจในภาษาไทย
คัมภีร์ธรรมบทมีพระคาถาทั้งสิ้น ๔๒๓ บท แบ่งเรื่องเป็น “วรรค” ได้ทั้งหมด ๒๖ วรรค มีชื่อประจำวรรค เช่น ยมกวรรค (ยะ-มะ-กะ-วัก) อันเป็นวรรคที่ ๑ พระคาถาในวรรคนี้จัดเรื่องที่เข้าคู่กันมาไว้เป็นคู่ๆ อันเป็นความหมายของคำว่า “ยมก” เช่นเรื่องจิตคิดดีคู่กับเรื่องจิตคิดชั่ว อย่างนี้เป็นต้น
อรรถกถาที่อธิบายคัมภีรธรรมบท มีชื่อเฉพาะหรือชื่อจริงว่า “ปรมัตถโชติกา” แต่ไม่มีใครเรียก นิยมเรียกชื่อรองว่า “ธัมมปทัฏฐกถา” (ทำ-มะ-ปะ-ทัด-ถะ-กะ-ถา)
ธมฺมปท > ธรรมบท + อฏฺฐกถา > อรรถกถา = ธมฺมปทฏฺฐกถา > อรรถกถาธรรมบท
คัมภีร์ธมฺมปทฏฺฐกถา ที่พิมพ์เป็นอักษรไทยแบ่งเล่มได้ ๘ เล่ม เรียกว่า “ภาค” คือ ภาค ๑ ถึง ภาค ๘
ต้นฉบับคัมภีร์ธรรมบท (พระไตรปิฎก) ในพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ มีความยาว ๕๗ หน้า (หน้า ๑๕ ถึง ๗๑)
แต่คัมภีร์ธมฺมปทฏฺฐกถา (อรรถกถา) ที่แต่งอธิบายความ มีความยาวประมาณ ๑,๓๐๐ หน้า
แวะตรงนี้นิดหนึ่ง
โปรดทราบว่าคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาเถรวาทเป็นภาษาบาลีทั้งสิ้น
แต่เนื่องจากภาษาบาลีไม่มีอักษรประจำภาษา ชาติไหนเรียนบาลี ก็ใช้ตัวอักษรของชาตินั้น
เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงอักษรและภาษา จึงต้องระวัง อย่าสับสน
นโม ตสฺส – นี่คืออักษรไทย
NAMO TASSA – นี่คืออักษรโรมัน (ที่เรามักเรียกกันผิดๆว่า “ภาษาอังกฤษ”)
แต่ทั้ง นโม ตสฺส และ NAMO TASSA ไม่ใช่ภาษาไทย ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ
แต่เป็นภาษาบาลี!
ขออนุญาตไปกันต่อ
การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ชั้นประโยค ๑-๒ และชั้นเปรียญธรรม ๓ ประโยค (ที่-ถ้าภิกษุรูปใดสอบผ่านก็จะมีสิทธิ์เป็น “พระมหา”) คณะสงฆ์ไทยกำหนดให้ใช้คัมภีร์ธมฺมปทฏฺฐกถาเป็นหลักสูตรในวิชาแปลมคธเป็นไทย
หมายความว่ามหาเปรียญทุกท่านทุกคนในเมืองไทยจะต้องผ่านด่านคัมภีร์ธมฺมปทฏฺฐกถา หรืออรรถกถาธรรมบท มาแล้วทั้งสิ้น
ในหมู่นักเรียนบาลี เมื่อเอ่ยถึง “อรรถกถาธรรมบท” จึงเป็นที่รู้จักกันดีที่สุด จนถึงมักเรียกกันสั้นๆ ว่า “ธรรมบท” แต่ไม่ได้หมายถึงตัวพระธรรมบทชั้นพระไตรปิฎก หากแต่หมายถึงอรรถกถาธรรมบท
อรรถกถาธรรมบทเป็นคัมภีร์ที่มีเนื้อหาสาระครบเครื่อง ทั้งหลักทางโลกและทางธรรม มีเรื่องเล่าประกอบธรรมะทุกข้อ อ่านสนุก จึงมีผู้นิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “นิทานธรรมบท”
———–
คาถาที่ญาติมิตรถามไว้ข้างต้นโน้นอยู่ในคัมภีร์ธรรมบท (พระไตรปิฎก) ในตอนที่เรียกว่า “อัตตวรรค” แปลว่า วรรคที่ว่าด้วยเรื่องตน เป็นวรรคที่ ๑๒ ในจำนวน ๒๖ วรรค
อยู่ในคัมภีร์ธมฺมปทฏฺฐกถา หรืออรรถกถาธรรมบท ภาค ๖ มีชื่อประจำเรื่องว่า อัตตทัตถเถรวัตถุ แปลว่า เรื่องของพระเถระชื่ออัตตทัตถะ (ผู้ยึดถือเอาประโยชน์ตนไว้ได้)
เรื่องย่อ
——-
เรื่องย่อๆ มีว่า เมื่อพระพุทธองค์ทรงปลงพระชนมายุสังขาร คือประกาศให้โลกรู้ว่าใกล้จะปรินิพพาน พระภิกษุที่เป็นปุถุชนต่างก็เกิดความสลดใจ พากันมาเฝ้าอยู่ไม่ขาด
ภิกษุรูปหนึ่งทราบว่าพระพุทธเจ้าใกล้จะปรินิพพานแล้ว ก็ตั้งใจว่าจะปฏิบัติธรรมให้บรรลุเป็นพระอรหันต์ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานให้จงได้ จึงไม่ได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเหมือนภิกษุอื่นๆ
ภิกษุทั้งหลายจึงพาตัวภิกษุรูปนั้นไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
ภิกษุรูปนั้นกราบทูลให้ทรงทราบถึงเหตุผลของตน
พระพุทธเจ้าทรงอนุโมทนาสาธุการ ตรัสว่าทำเช่นนั้นถูกต้องแล้ว
แล้วจึงตรัสพระคาถานี่
ตรัสพระคาถาจบ ภิกษุรูปนั้นก็ได้บรรลุธรรมสำเร็จเป็นพระอรหันต์
ตัวพระคาถา
————
พระคาถาเขียนตามอักขรวิธีบาลี (บาลีบาลี) ดังนี้:
อตฺตทตฺถํ ปรตฺเถน
พหุนาปิ น หาปเย
อตฺตทตฺถมภิญฺญาย
สทตฺถปฺปสุโต สิยา
เขียนตามอักขรวิธีไทย (บาลีไทย) ดังนี้:
อัตตะทัตถัง ปะรัตเถนะ
พะหุนาปิ นะ หาปะเย
อัตตะทัตถะมะภิญญายะ
สะทัตถัปปะสุโต สิยา.
เขียนเป็นคำอ่าน ดังนี้:
อตฺตทตฺถํ ปรตฺเถน
อัด ตะ ทัด ถัง ปะ รัด เถ นะ
พหุนาปิ น หาปเย
พะ หุ นา ปิ นะ หา ปะ เย
อตฺตทตฺถมภิญฺญาย
อัด ตะ ทัด ถะ มะ พิน ยา ยะ
สทตฺถปฺปสุโต สิยา
สะ ทัด ถับ ปะ สุ โต สิยา.
แปลเป็นศัพท์ๆ ดังนี้:
อตฺตทตฺถํ = ประโยชน์ของตน
ปรตฺเถน = ประโยชน์ของผู้อื่น
พหุนาปิ = แม้มาก
น หาปเย = ไม่พึงให้เสียไป
อตฺตทตฺถมภิญฺญาย = รู้จักประโยชน์ของตน
สทตฺถปฺปสุโต = ขวนขวาย/เอาใจใส่ในประโยชน์ของตน
สิยา = พึงเป็น
แปลเป็นความไทย ดังนี้:
ไม่พึงยังประโยชน์ของตนให้เสียไป
เพราะประโยชน์ของคนอื่นแม้มาก
รู้จักประโยชน์ของตนแล้ว
พึงเป็นผู้ขวนขวายในประโยชน์ของตน
คำเตือน
——–
พระคาถานี้ไม่ได้สอนให้เห็นแก่ตัว
แต่สอนให้ทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด
คือทำหน้าที่ของตนให้สำเร็จก่อนเป็นหลัก
แล้วจึงขยายวงออกไปทำหน้าที่เพื่อส่วนรวม
งานส่วนตัวกับงานส่วนรวมย่อมมีส่วนที่สัมพันธ์กันหรือกระทบถึงกันเสมอ
การทำหน้าที่ส่วนตนให้สำเร็จนั่นเองมีผลเท่ากับทำประโยชน์ของส่วนรวมด้วย
และการทำหน้าที่เพื่อส่วนรวมนั่นเองมีผลเท่ากับทำประโยชน์ของส่วนตัวด้วย
ทำประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวมให้สำเร็จได้
ก็เท่ากับสบายกันไปแล้วทั้งประเทศ
ความสุขสบายนั่นเองเป็นเครื่องวัดความเป็นมหาเศรษฐี
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๓๐ มกราคม ๒๕๕๙
๑๓:
…………………………….
…………………………….