บาลีวันละคำ

สันนิปติตา (บาลีวันละคำ 2,566)

สันนิปติตา

มารดาและบิดาทำอะไรกัน

สันนิปติตา” เขียนแบบบาลีเป็น “สนฺนิปติตา” อ่านว่า สัน-นิ-ปะ-ติ-ตา เป็นองค์ประกอบ 1 ใน 3 ประการที่ทำให้มีการตั้งครรภ์

ข้อความเต็มๆ ว่า “มาตาปิตโร  สนฺนิปติตา  โหนฺติ.” (มาตาปิตะโร  สันนิปะติตา  โหนติ) แปลว่า “มารดาและบิดา สันนิปติตา’ กัน

สนฺนิปติตา” เป็นรูปคำกิริยากิตก์ (โปรดทราบว่า คำว่า “กิริยา” นี้ใช้ตามไวยากรณ์บาลี ในไวยากรณ์ไทยนิยมใช้ “กริยา”) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + ปตฺ (ธาตุ = ตก) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น นฺ (สํ > สนฺ), ลง อิ อาคม หลังธาตุ/หน้าปัจจัย (ปตฺ + อิ + )

: สํ + นิ + ปตฺ = สํนิปตฺ > สนฺนิปตฺ + อิ + = สนฺนิปติต แปลตามศัพท์ว่า “ตกลงร่วมกัน” หมายถึง มาร่วมกัน (come together)

สนฺนิปติต” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) พหูพจน์ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “สนฺนิปติตา

สนฺนิปติต” นี้ รูปคำกิริยาอาขยาตเป็น “สนฺนิปตติ” (สัน-นิ-ปะ-ตะ-ติ) แปลว่า ประชุม, มาร่วมกัน, สันนิบาต (to assemble, come together)

คำนามที่เราคุ้นกันดีในภาษาไทยคือ “สันนิบาต” บาลีเป็น “สนฺนิปาต” (สัน-นิ-ปา-ตะ) ก็มีรากศัพท์เดียวกัน

สนฺนิปาต” มีความหมายหลายอย่าง พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลไว้ดังนี้ –

(1) union, coincidence (การรวมกัน, การมาบรรจบกัน)

(2) assemblage, assembly, congregation (การประชุม, การสันนิบาต, การชุมนุมกัน)

(3) union of the humours of the body (การประชุมของปัจจัยที่เป็นปฏิปักษ์ต่อร่างกาย = อาการเจ็บป่วยที่เกิดจากสาเหตุหลายอย่างประกอบกัน)

(4) collocation (การจัดวางลงด้วยกัน)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “สนฺนิปาต” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สนฺนิปาต : (คำนาม) ‘สันนิบาต,’ คณะ, สมุหะ; สมาคม, สังโยค; ส่วนระคน; ความพิการของธาตุทั้งสาม; การลง; การมาถึง; collection, multitude; union, junction; mixture;  morbid state of the three humours; descending or alighting; arrival.”

ได้ยกความหมายของคำที่มีรากศัพท์เดียวกันกับ “สนฺนิปติต” จากที่ต่างๆ มาให้ดูเพื่อประกอบการพิจารณาว่า “สนฺนิปติต” หรือ “สันนิปติตา” ในข้อความว่า “มารดาและบิดา สันนิปติตา’ กัน” ควรจะมีความหมายว่าอย่างไร

ขยายความ :

คัมภีร์สารัตถทีปนี อันเป็นคัมภีร์ชั้นฎีกา อธิบายความในพระวินัยปิฎก ขยายความคำว่า “สนฺนิปติตา  โหนฺติ” (ดูข้อความเต็มข้างต้น) ไว้ว่า

“อสทฺธมฺมวเสน  เอกสฺมึ  ฐาเน  สหคตา  สงฺคตา  โหนฺติ.”

แปลว่า คำว่า “สนฺนิปติตา  โหนฺติ” หมายความว่า “มาร่วมอยู่พร้อมกันในที่แห่งเดียวกันด้วยเหตุเกี่ยวกับอสัทธรรม

ที่มา: คัมภีร์สารัตถทีปนี ภาค 2 หน้า 20

คำว่า “อสัทธรรม” (อสทฺธมฺม) พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลไว้ว่า evil condition, sin, esp. sexual intercourse (ภาวการณ์ที่เลวร้าย, บาป, ธรรมฝ่ายต่ำ, โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการร่วมประเวณี)

เป็นอันว่า คำว่า “สันนิปติตา” แปลตามศัพท์ว่า “ตกลงร่วมกัน” หมายถึงมาอยู่ในที่เดียวกัน แปลตรงๆ ว่าชายหญิงร่วมเสพสังวาสกัน

ความหมายตามหลักวิชาก็คือ เชื้อฝ่ายชายกับไข่ฝ่ายหญิงผสมกัน ไม่ว่าจะด้วยวิธีธรรมชาติคือร่วมเพศกัน หรือด้วยวิธีผสมเทียมตามวิชาวิทยาศาสตร์ก็ตามที รวมอยู่ในคำว่า “สันนิปติตา” ทั้งสิ้น

…………..

ดูคำที่เกี่ยวข้อง :

กำเนิดมนุษย์” บาลีวันละคำ (2,561) 17-6-62

คนธรรพ์คันธัพพะ” บาลีวันละคำ (2,564) 20-6-62

อุตุนี มีระดู” บาลีวันละคำ (2,565) 21-6-62

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความรัก ต้องรอคู่ร่วมชีวี

: ความดี ไม่ต้องรอทำร่วมกับใคร

#บาลีวันละคำ (2,566)

22-6-62

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *