อภิรมย์ (บาลีวันละคำ 2,907)
อภิรมย์
อ– ไม่ได้แปลว่า “ไม่” เสมอไป
อ่านว่า อะ-พิ-รม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อภิรมย์ : (คำกริยา) รื่นเริงยิ่ง, ดีใจยิ่ง, ยินดียิ่ง; พักผ่อน; ใช้ว่า ภิรมย์ ก็มี. (ส.; ป. อภิรมฺม).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “อภิรมย์” คำนี้บาลีเป็น “อภิรมฺม”
“อภิรมฺม” อ่านว่า อะ-พิ-รำ-มะ ประกอบด้วยคำว่า อภิ + รมฺม
(ก) “อภิ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า เหนือ, ทับ, ยิ่ง, ข้างบน (over, along over, out over, on top of) โดยอรรถรสของภาษาหมายถึง มากมาย, ใหญ่หลวง (very much, greatly)
(ข) “รมฺม” (รำ-มะ) รากศัพท์มาจาก รมฺ (ธาตุ = ยินดี, รื่นรมย์) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณ (ณฺย > ย), แปลง มย (คือ มฺ ที่สุดธาตุ และ ย ปัจจัยที่ลบ ณฺ ออกแล้ว) เป็น มฺม
: รมฺ + ณฺย = รมณฺย > รมฺย > รมฺม แปลตามศัพท์ว่า “อันเป็นที่ตั้งแห่งความยินดี” “อันเป็นที่ตั้งแห่งความรื่นรมย์” หมายถึง น่ายินดี, น่าพอใจ, น่ารื่นรมย์, น่าพึงใจ, สวยงาม (delightful, pleasing, charming, pleasant, beautiful)
บาลี “รมฺม” สันสกฤตเป็น “รมฺย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้
(สะกดตามต้นฉบับ)
“รมฺย : (คำวิเศษณ์) ต้องอารมณ์, ประโมทิน, มีความประโมท; งาม; pleasing, delightful; handsome or beautiful.”
โปรดสังเกตลำดับการแปลงรูปของบาลี เป็น “รมฺย” ก่อน แล้วจึงแปลงเป็น “รมฺม” ถ้าไม่แปลงก็จะเป็น “รมฺย” เหมือนสันสกฤต
อภิ + รมฺม = อภิรมฺม แปลว่า “ควรยินดีอย่างยิ่ง” หมายถึง ชวนให้สนุกสนานเพลิดเพลินอย่างยิ่ง (indulgent)
บาลี “อภิรมฺม” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “อภิรมย์”
อภิปราย :
เล่ากันมาว่า ครูสอนภาษาไทยท่านหนึ่งบอกนักเรียนว่า คำว่า “อ-” (อะ) ในภาษาบาลีแปลว่า “ไม่” เช่น –
“อมนุษย์” แปลว่า ไม่ใช่มนุษย์
“กตัญญู” แปลว่า รู้คุณ “อกตัญญู” แปลว่า ไม่รู้คุณ
“กรณียกิจ” แปลว่า กิจที่ควรทำ “อกรณียกิจ” แปลว่า กิจที่ไม่ควรทำ
“โคจร” แปลว่า สถานที่ควรไป “อโคจร” แปลว่า สถานที่ไม่ควรไป
ในภาษาไทยมีคำว่า “ภิรมย์” แปลว่า สนุกสนานเพลิดเพลิน
มีนักเรียนเป็นอันมากที่เข้าใจว่า “อภิรมย์” แปลว่า ไม่สนุกสนาน ไม่เพลิดเพลิน เพราะยึดหลักว่า ภาษาบาลี “อ-” แปลว่า “ไม่”
โปรดทราบว่า ในภาษาบาลี คำที่ขึ้นต้นด้วย “อ-” ไม่ได้แปลว่า “ไม่” เสมอไป
คำที่ขึ้นต้นด้วย “อ-” และแปลว่า “ไม่” นั้น คำเดิมก็ไม่ใช่ “อ-” แต่เป็น “น” (นะ) แปลง น เป็น อ ตามกฎเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด
คำว่า “อ-” ตรงตัวที่แปลว่า “ไม่” ไม่มีในภาษาบาลี
วิธีสังเกต “อ-” ที่ไม่ได้แปลว่า “ไม่” ก็คือ “อ-” ที่เป็น “อติ-” “อธิ-” “อภิ-” “อนุ-” “อว-” ซึ่งเป็นคำอุปสรรค “อ-” พวกนี้โดยปกติไม่ได้แปลว่า “ไม่”
เมื่อไปเจอคำที่ขึ้นต้นด้วย “อติ-” “อธิ-” “อภิ-” “อนุ-” “อว-” พึงสันนิษฐานไว้ก่อนว่า คำนั้นไม่ได้แปลว่า “ไม่”
อย่างในที่นี้ “อภิรมย์” ขึ้นต้นด้วย “อภิ-” จึงไม่ได้แปลว่า “ไม่รื่นรมย์” หากแต่กลับแปลว่า “รื่นรมย์อย่างยิ่ง” – อย่างนี้เป็นต้น
…………..
ดูก่อนภราดา!
หากรู้ไม่เท่าทัน –
: จะเห็นมากับตาหรือว่ามีคนบอก
: ก็ถูกหลอกได้เท่ากัน
#บาลีวันละคำ (2,907)