บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ใส่บาตรให้ถูกวิธี (จบ)

ใส่บาตรให้ถูกวิธี (จบ)

—————–

บัดนี้ เราก็รู้วิธีใส่บาตรให้ถูกวิธีกันพอสมควรถึงระดับที่สามารถจะใส่บาตรให้ถูกวิธีได้แล้ว 

สมมุติว่าตอนนี้ท่านใส่บาตรเรียบร้อยแล้ว เกิดอยากรู้ขึ้นมาว่า เราใส่บาตรไปนี่จะสำเร็จเป็นบุญมากน้อยแค่ไหนอย่างไร จะรู้ได้อย่างไร? 

เรื่องนี้มีหลักที่ท่านแสดงไว้ว่า บุญทานที่ทำจะมีผลมากมีอานิสงส์มากน้อยแค่ไหนเพียงไร ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอะไรบ้าง ดังนี้ –

องค์ประกอบหนึ่ง เรียกว่า “ทักขิณาวิสุทธิ” แปลว่า “ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณาคือของทำบุญ” มี ๔ ลักษณะ คือ – 

๑ ทักขิณาที่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก คือ ทายกมีศีลมีกัลยาณธรรม แต่ปฏิคาหกทุศีล มีบาปธรรม (คนใส่บาตรมีศีล แต่พระที่มารับบิณฑบาตทุศีล)

๒ ทักขิณาที่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก คือ ทายกทุศีล มีบาปธรรม แต่ปฏิคาหกมีศีล มีกัลยาณธรรม (พระที่มารับบิณฑบาตมีศีลบริสุทธิ์ แต่คนใส่บาตรไม่มีศีล)

๓ ทักขิณาที่ไม่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก ทั้งฝ่ายปฏิคาหก คือ ทั้งสองฝ่ายทุศีล มีบาปธรรม (คนใส่บาตรก็ไม่มีศีล พระที่มารับบิณฑบาตก็ทุศีล)

๔ ทักขิณาที่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก ทั้งฝ่ายปฏิคาหก คือ ทั้งสองฝ่ายมีศีล มีกัลยาณธรรม (คนใส่บาตรก็มีศีล พระที่มารับบิณฑบาตก็มีศีลบริสุทธิ์)

แบบที่ ๑ และ ๒ ได้ครึ่งเสียครึ่ง

แบบที่ ๓ เสียทั้งหมด

แบบที่ ๔ ดีทั้งหมด

องค์ประกอบอีกแบบหนึ่ง เรียกว่า “สัมปทา” หรือ “สัมปทาคุณ” หมายถึง ความถึงพร้อม, ความพรั่งพร้อมสมบูรณ์แห่งองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งทำให้ทานที่บริจาคแล้วเป็นทานอันยอดเยี่ยม มีผลมาก อาจเห็นผลทันตา มี ๔ ส่วนดังนี้ –

๑ วัตถุสัมปทา = ถึงพร้อมด้วยวัตถุ คือบุคคลที่รับทานเป็นเนื้อนาบุญอันเลิศ เช่นเป็นพระอรหันต์ หรือพระอนาคามีผู้เข้านิโรธสมาบัติได้ 

๒ ปัจจัยสัมปทา = ถึงพร้อมด้วยปัจจัย คือสิ่งที่จะให้เป็นของบริสุทธิ์ ได้มาโดยชอบธรรม 

๓ เจตนาสัมปทา = ถึงพร้อมด้วยเจตนา คือมีเจตนาในการให้สมบูรณ์ครบ ๓ กาล ทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ จิตโสมนัสประกอบด้วยปัญญา 

๔ คุณาติเรกสัมปทา = ถึงพร้อมด้วยคุณส่วนพิเศษ คือผู้รับทานมีคุณสมบัติพิเศษ เช่นท่านผู้ออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ 

นี่ก็คือที่พูดกันว่า ใส่บาตรให้พระที่ออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ ปรารถนาอะไรก็จะได้ในปัจจุบันทันตาเห็น

————

ก่อนจบชุด “ใส่บาตรให้ถูกวิธี” ขอเล่าเรื่องที่ผมได้เคยถกเถียงกับท่านผู้หนึ่งเกี่ยวกับเรื่องใส่บาตร 

เช้าวันหนึ่ง ผมเดินออกกำลังตามปกติ ผ่านไปทางหน้าสำนักงานเทศบาลเมืองราชบุรี ฟากตรงข้ามเยื้องมาทางชุมสายโทรศัพท์มีร้านขายอะไหล่รถยนต์ชื่อ “บางไผ่ราชบุรี” เจ้าของร้านใส่บาตรทุกวัน วันหนึ่งเป็นสิบชุด 

วันนั้นผมเกิดร้อนวิชา แวะเข้าไปทักทายถามไถ่ว่าเช้านี้ใส่บาตรหรือยัง เขาบอกว่า เรียบร้อยแล้ว 

ผมถามว่า คิดยังไงถึงใส่บาตร? 

ก่อนที่เขาจะต้อบ ผมสาธยายถึงความอุดมสมบูรณ์ของอาหารบิณฑบาตตามวัดต่างๆ ในสมัยนี้เทียบกับสมัยที่ผมเป็นเณรอยู่วัดมหาธาตุเมื่อเกือบ ๖๐ ปีที่ผ่านมา สมัยโน้นบิณฑบาตได้แต่ข้าว ส่วนกับนั้นต้องอาศัย “แกงเวร” จากสำนักประชุมนารี วันละ ๒ ปิ่นโต พอประทังชีวิตอยู่ได้ 

สมัยนี้ทั้งข้าวทั้งกับทั้งขนมอุดมสมบูรณ์บริบูรณ์ดีมาก กับข้าวบางถุงพระไม่ได้ฉัน ถุงยังไม่ได้แก้ เหลือทิ้งเบอะบะ อาหารพระเหลือเฟือแล้ว ใส่บาตรไปก็ทิ้งๆ ขว้างๆ คิดอย่างไรจึงใส่บาตร 

ทำบุญด้วยการใส่บาตรเป็นวิธีที่แย่ที่สุด – ผมสรุปแบบคนร้อนวิชา

ทำบุญด้วยการใส่บาตรเป็นวิธีที่ดีที่สุด – เฮียร้านบางไฝ่สวนกลับติดหมัด 

เราจ้องหน้ากันอยู่อึดใจหนึ่งแบบหยั่งเชิงนักเลง

“คุณลุงฟังผม” เฮียพูดยิ้มๆ “ทำบุญด้วยการใส่บาตรเป็นวิธีที่ดีที่สุด หนึ่ง พระได้ฉันของเรา อย่าเพิ่งขัดคอ ..”

ผมชะงักคำที่กำลังจะแย้ง 

“สอง เหลือจากพระฉัน เด็กวัด คนวัด คนทำงานในวัดอีกเยอะแยะ ได้กินของเรา” 

ผมถอยเข้ามุม 

“สาม เหลือจากคนกิน เทลงดิน หมาวัด แมววัด ไก่วัด นกหนูปูปีกที่อาศัยอยู่ในวัดอีกเป็นอเนกอนันต์ชีวิต ได้กินของเรา” 

ผมทำตาปริบๆ กำลังจนมุม

“สี่ น้ำแกงน้ำกับส่วนที่ซึมซับลงดิน ไส้เดือน กิ้งกือ สัตว์เล็กสัตว์น้อยที่อาศัยอยู่บนดินใต้ดิน ได้กินของเรา” 

“ของที่เราใส่บาตร ได้กินกันจนสิ้นซาก” เฮียปล่อยหมัดน็อก “เพราะฉะนั้น ทำบุญด้วยการใส่บาตรจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในโลก” 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๓

๑๕:๐๐

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *