บาลีวันละคำ

ประชาชน (บาลีวันละคำ 466)

ประชาชน

(บาลีแบบไทย)

ประชา” บาลีเป็น “ปชา” สันสกฤตเป็น “ปฺรชา” ไทยเขียนอิงสันสกฤต

ปชา” นักเรียนบาลีมักแปลกันว่า “หมู่สัตว์” (ทำให้ผู้ไม่คุ้นสำนวนบาลีเข้าใจไปว่าหมายถึงหมู่สัตว์เดรัจฉาน แต่ความจริงหมายถึง “หมู่คน” – ดูความหมายของคำว่า “สัตว์” ที่คำว่า สตฺต บาลีวันละคำ (212) 6-12-55)

ปชา” หมายถึง คน, ผู้คน, รุ่นของคน, ผู้สืบตระกูล, ลูกหลาน, สัตว์โลก, มนุษยชาติ

ปชา” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกิดมาต่างกันไป” ซึ่งเป็นคำแปลที่ตรงตามสัจธรรม เพราะท่านว่าผู้คนแม้จะมีจำนวนเป็นพันล้านก็ไม่เหมือนกันเลยแม้แต่คนเดียว

ชน” (บาลีอ่านว่า ชะ-นะ) หมายถึง คน, ประชาชน, สัตว์, ผู้เกิด บางทีก็ใช้ทับศัพท์ว่า ชน

ชน” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังกุศลหรืออกุศลให้เกิดได้” เป็นคำแปลที่ตรงตามสัจธรรมอีกเช่นกัน เพราะธรรมดาของคน ดีก็ทำได้ ชั่วก็ทำได้

ประชาชน” เป็นการเอาคำว่า “ประชา” กับ “ชน” มาพูดควบกันตามแบบคำซ้อนของภาษาไทย ทำนองเดียวกับ เสื่อสาดอาสนะ ถนนหนทางมารควิถี

ในบาลีมี “ปชา” และมี “ชน” แต่ไม่พบที่ใช้ควบกันเป็น “ปชาชน

พจน.42 บอกว่า –

ประชาชน : พลเมือง, สามัญชนทั่ว ๆ ไปที่ไม่ใช่ข้าราชการ พ่อค้า หรือนักบวช ในความว่า ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชน”

ภาษาไทยมีคำพูดว่า “ประชาชี” บางทีก็ว่า “ไพร่ฟ้าประชาชี” เป็นภาษาปาก หมายถึงประชาชนนั่นเอง

แต่ถ้าจะ “ลากเข้าวัด” ประชา = ชาวบ้าน, ชี = ชาววัด ดังสำนวนเก่าๆ ที่ว่า “…ครองราชสมบัติ ไพร่ฟ้าสมณะชีพราหมณ์อยู่เป็นปรกติสุขสืบมา

ประชาชน : คือผู้เกิดมาจากกรรมดีกรรมชั่วที่แตกต่างกัน

แต่มีสิทธิเท่าเทียมกันในการเลือกทำชั่วหรือทำดี

—————–

(สนองกุศลเจตนาพระคุณท่าน Sunant Sukantharam)

24-8-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย