บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ถึงเช้าให้ฝึกเช้า ถึงเย็นให้ฝึกเย็น

ถึงเช้าให้ฝึกเช้า ถึงเย็นให้ฝึกเย็น

———————————-

ถ้าพูดคำว่า “กองทัพเรือ” กับคำว่า “ทหารเรือ” คนจะรู้จัก “ทหารเรือ” ดีกว่า “กองทัพเรือ” 

คือถ้าพูดว่า “ทหารเรือ” คนจะรู้จักทะลุไปถึงกองทัพเรือด้วย แต่ถ้าพูดว่า “กองทัพเรือ” คนมักจะมองไม่เห็นทหารเรือ ชอบกลแท้ๆ

เป็นอันว่า “ทหารเรือ” กับ “กองทัพเรือ” คืออันเดียวกันนะครับ

กล่าวกันว่า ทหารเรือดีทุกอย่าง แต่ที่ดีเด่นมี ๓ อย่าง คือ 

………………………………

๑ อาหารพลาธิการ 

๒ ดนตรีสำราญกองดุริยางค์ 

๓ นักรบตัวอย่างนาวิกโยธิน

………………………………

ของหลักๆ เป็นตามนั้น แต่ถ้อยคำสำนวนผมประดิษฐ์ขึ้นเองให้คล้องจองกัน (เคยฟังเพื่อนทหารเรือพูดเป็นคำคล้องจอง แต่ผมนึกไม่ออก ขออนุญาตแต่งใหม่นะครับ)

“อาหารพลาธิการ” – นี่อร่อยลือชื่อนะครับ ขอยืนยัน รัฐบาลจัดงานเลี้ยงระดับชาติทีไร งานหนักตกที่กรมพลาธิการทหารเรือทุกที แค่มาดเสิร์ฟโต๊ะนี่ก็กินขาดแล้ว รสชาติอาหารอีกต่างหาก

“ดนตรีสำราญกองดุริยางค์” – เพลงของทหารเรือฟังแล้วสุขสำราญจริงๆ เพลงดังๆ ออกไปจากนักเพลงของกองดุริยางค์ทหารเรือเยอะมาก ครูสมยศ ทัศนพันธ์ ครูพยงค์ มุกดา ๒ ครูนี่ก็เหลือกินแล้วครับ

“นักรบตัวอย่างนาวิกโยธิน” – นี่ขอยืนยันด้วยประสบการณ์ตรง

ตอนผมเข้ารับราชการในกองทัพเรือ ผู้ใหญ่-ผู้บังคับบัญชามักพูดเนืองๆ ว่า “พวกคุณนี่ถ้ายังไม่ได้ไปอยู่ นย. ละก็ ยังไม่ได้เป็นทหารจริง”

นย. – ทหารเรือย่อแบบนี้นะครับ คำเต็มว่า “นาวิกโยธิน” เป็น ๑ ใน ๒ หน่วยของกองทัพเรือที่ไม่ต้องมีคำว่า “ทหารเรือ” ต่อท้าย เพราะมีหนึ่งเดียวในกองทัพเรือเท่านั้น กองทัพอื่นไม่มี นั่นคือ กรมอุทกศาสตร์ กับหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน 

“หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน” ชื่อเต็มของหน่วยสังกัดยาว ทหารเรือเรียกกันสั้นๆ ว่า นย. (นอ-ยอ)

ในหมู่ทหารเรือมีคำกล่าวกันว่า –

“โรงเรียนพลฝึกคนให้เป็นทหาร

นย. ฝึกทหารให้เป็นนักรบ”

“โรงเรียนพล” ชื่อเต็มว่า “โรงเรียนพลทหาร” ลูกหลานใคร “ถูกทหาร” เป็นทหารเรือ ต้องไปฝึกที่โรงเรียนพลทหารก่อนทุกคน ผ่านกระทะทองแดงที่นี่แล้วจึงแยกย้ายกันไปอยู่กรมกองต่างๆ ตอนผมเป็นพลเรือน ก่อนติดยศทหารก็ไปฝึกที่โรงเรียนพลทหารเหมือนกัน (เวลานี้ชื่อ “โรงเรียนพลทหาร” เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นแล้ว)

โรงเรียนพลทหารฝึกพลเรือนให้เป็นทหารเท่านั้น เมื่อแยกหน่วย ถ้าไปอยู่ นย. จะเป็นนักรบ นย.ต้องฝึกหนักขึ้นไปอีกระดับหนึ่งจึงจะรบได้ 

ฝึกหนัก ระเบียบวินัยเนี้ยบ – เป็นบุคลิกของ นย.ที่รู้กันดี

ผมโชคดีที่ระหว่างรับราชการได้ไปประจำการอยู่ที่ค่ายจุฬาภรณ์ จังหวัดนราธิวาส ๒ ปีเต็ม 

ค่ายจุฬาภรณ์เป็นค่ายทหารนาวิกโยธินครับ

…………………

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันยังทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ คราวหนึ่งทรงส่งข้าราชบริพารในพระองค์จำนวนหนึ่งไปฝึกที่ค่ายจุฬาภรณ์ จังหวัดนราธิวาส แบบว่า “ถึงเช้าให้ฝึกเช้า ถึงเย็นให้ฝึกเย็น” 

เมื่อข้าราชบริพารชุดนั้นเดินทางถึงค่าย เข้าประตูค่าย ลงจากรถ นายทหารนาวิกโยธินที่ได้รับมอบหมายให้เป็นครูฝึกก็ลงมือฝึกทันทีทั้งๆ ที่เหล่าข้าราชบริพารยังแต่งเครื่องแบบชุดกากีพลเรือน ประดับแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์อย่างงามสง่า และขณะนั้นฝนก็กำลังตกลงมาอย่างหนัก 

นายทหารฝึกพาวิ่งรอบค่าย แล้วมาหยุดแถวที่หน้ากองบังคับการกรมทหารราบที่ ๓ อันมีที่ตั้งอยู่ภายในค่าย ผมนั่งปฏิบัติราชการอยู่ภายในอาคารกองบังคับการ เห็นเหตุการณ์โดยตลอด 

นายทหารฝึกสั่งหยุดแถว สั่งแถวตรงหันหน้าเข้าหากองบังคับการแล้วบรรยายสรุปเสียงดังฟังชัดว่า .. ที่เห็นอยู่ข้างหน้านี้คือ … 

นายทหารฝึกบรรยายไปตามปกติที่สุดเหมือนกำลังบรรยายในห้องประชุม ไม่ได้รับรู้ถึงสายฝนที่กำลังกระหน่ำลงมาและทุกคนเปียกชุ่มโชกแต่อย่างใดทั้งสิ้น ในขณะที่ข้าราชบริพารบางคนเพื่อนต้องประคองปีกเพราะหมดแรง 

เมื่อบรรยายจบ นายทหารฝึกก็สั่งแถววิ่งต่อไป พร้อมกับร้องนำเพลงฝึกของ นย. เสียงดังแข่งกับเสียงฝน ค่อยๆ ห่างออกไปและหายไปกับสายฝน 

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕

๒๐:๐๘

……………………………………….

ถึงเช้าให้ฝึกเช้า ถึงเย็นให้ฝึกเย็น

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *