นะ ปะติ ปรุ สุทันตา (บาลีวันละคำ 3,677 )
นะ ปะติ ปรุ สุทันตา
ภาษาบาลีที่เหลือกำลังลาก
คำที่ยกมาเป็นบาลีวันละคำวันนี้ รูปร่างหน้าตาเป็นคำบาลี แต่รูปศัพท์และวิธีเขียนพูดได้ว่า “ไม่เป็นประสา” คือจะให้เป็นภาษาบาลีก็ไม่ใช่ จะเป็นภาษาไทยก็ไม่เป็น
ข้อความเต็มๆ จากภาพอ่านได้ดังนี้
…………..
นะ ปะติ ปรุ สุทันตา
พุท ธะ รู ปา
เอหิ ปัสสิ โถ
…………..
แปลเท่าที่ตาเห็นได้ดังนี้ –
“นะ” เขียนแบบบาลีเป็น “น” อ่านว่า นะ แปลว่า ไม่, ไม่ใช่
“ปะติ” เขียนแบบบาลีเป็น “ปติ” อ่านว่า ปะ-ติ แปลว่า เจ้านาย, ผัว
“ปรุ” อ่านแบบบาลีว่า ปะ-รุ แต่บาลีไม่มีคำเช่นนี้ ไม่ทราบว่าคนเขียนไปเอามาจากไหน
“สุทันตา” เขียนแบบบาลีเป็น “สุทนฺตา” อ่านว่า สุ-ทัน-ตา แปลว่า ฝึกดีแล้ว
“พุท ธะ รู ปา” เข้าใจว่าเอามาจากคำว่า “พุทธะรูปา” แต่บาลีไม่ได้เขียนแยกคำอย่างนี้ เขียนแบบบาลีเป็น “พุทฺธรูปา” แปลทับศัพท์ว่า “พระพุทธรูป”
“เอหิ ปัสสิ โถ” เข้าใจว่าเอามาจากคำว่า “เอหิปัสสิโก” เขียนแบบบาลีเป็น “เอหิปสฺสิโก” อ่านว่า เอ-หิ-ปัด-สิ-โก เป็นบทหนึ่งในพระธรรมคุณ แปลว่า “พระธรรมเป็นสิ่งที่ควรเรียกผู้อื่นว่าจงมาดูเถิด” แต่คนเขียนเอามาแยกคำเอาเอง ซ้ำเขียน -โก (ก ไก่) เป็น -โถ (ถ ถุง) อีกต่างหาก
ทั้งหมดนี้แปลไม่ได้ความว่าต้องการจะพูดว่ากระไร
ทั้งหมดนี้บอกอะไรเราบ้าง?
๑ บอกให้รู้ว่า คนที่ไม่รู้ภาษาบาลี มีทั่วไป
๒ บอกให้รู้ว่า คนที่ไม่รู้ภาษาบาลี แต่ทำงานเกี่ยวกับภาษาบาลี มีทั่วไป
๓ บอกให้รู้ว่า คนที่ไม่รู้ภาษาบาลีไปทำงานเกี่ยวกับภาษาบาลี แล้วทำไปโดยไม่รับรู้ว่างานที่ทำนั้นผิด มีทั่วไป
๔ บอกให้รู้ว่า คนที่ไม่รู้ภาษาบาลี ทำงานเกี่ยวกับภาษาบาลี แต่ไม่ชอบศึกษาหาความรู้ในงานที่ตนทำ เช่นเมื่อไม่รู้ก็ต้องถามคนที่รู้-อย่างนี้เป็นต้น คนชนิดนี้มีทั่วไป
๕ บอกให้รู้ว่า นักเรียนบาลีในบ้านเรา ที่เรียนบาลีเพื่อสอบได้เป็นที่ตั้ง แต่ไม่คิดจะใช้ความรู้บาลีช่วยกันแก้ปัญหาเกี่ยวกับภาษาบาลีที่มีอยู่มากมายนั้น ก็มีอยู่ทั่วไปด้วยเช่นกัน
…………..
หน่วยราชการหรือหน่วยงานเอกชนแห่งใด เมื่อจะเผยแพร่ภาษาบาลีออกสู่สาธารณะ โปรดขอความร่วมมือไปยังคณะสงฆ์ให้ช่วยตรวจสอบความถูกต้องก่อน จะเป็นการทำคุณแก่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: บุราณว่าถ้าเหลือกำลังลาก
: ให้ออกปากบอกแขกช่วยแบกหาม
(พระอภัยมณี)
#บาลีวันละคำ (3,677)
7-7-65
…………………………….
…………………………….