บาลีวันละคำ

บุพนิมิต – เหตุให้ฝันข้อ 1 (บาลีวันละคำ 3,678)

บุพนิมิต – เหตุให้ฝันข้อ 1

ท่านว่าเป็นความจริงโดยส่วนเดียวแล

…………..

ความเป็นมา :

อาบัติสังฆิเสสของภิกษุมี 13 สิกขาบท 

สิกขาบทที่ 1 มีข้อความดังนี้ –

…………………………………….

สญฺเจตนิกา  สุกฺกวิสฏฺฐิ  อญฺญตฺร  สุปินนฺตา  สงฺฆาทิเสโส  ฯ

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 302

…………………………………….

พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวงแปลไว้ว่า –

…………………………………….

ปล่อยสุกกะเป็นไปด้วยความจงใจ เว้นไว้แต่ฝัน เป็นสังฆาทิเสส

…………………………………….

หนังสือนวโกวาท หลักสูตรนักธรรมตรี พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แปลไว้ว่า –

…………………………………….

ภิกษุแกล้งทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน ต้องสังฆาทิเสส

…………………………………….

คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาวินัยปิฎก อธิบายคำว่า “อญฺญตฺร  สุปินนฺตา” (เว้นไว้แต่ฝัน) ไว้ว่า –

…………………………………….

ตญฺจ  ปน  สุปินํ  ปสฺสนฺโต  จตูหิ  การเณหิ  ปสฺสติ 

(1) ธาตุกฺโขภโต  วา 

(2) อนุภูตปุพฺพโต  วา 

(3) เทวโตปสํหารโต  วา 

(4) ปุพฺพนิมิตฺตโต  วาติ  ฯ 

ก็แลบุคคลเมื่อจะฝันนั้น ย่อมฝันเพราะเหตุ 4 ประการคือ 

เพราะธาตุกำเริบ 1

เพราะเคยรับรู้เรื่องนั้นมาก่อน 1

เพราะเทวดาสังหรณ์ 1

เพราะบุพนิมิต 1

ที่มา: คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาวินัยปิฎก ภาค 2 หน้า 5

…………………………………….

เคยได้ยินผู้เอาเหตุแห่งความฝันทั้ง 4 ข้อมาพูดเป็นคำคล้องจอง แต่สลับลำดับ ไม่ตรงกับที่อรรถกถาเรียงไว้ เป็นดังนี้ –

…………..

บุพนิมิต

จิตนิวรณ์ 

เทพสังหรณ์

ธาตุพิการ

…………..

ในที่นี้ขอนำมาเขียนเป็นบาลีวันละคำตามลำดับคำคล้องจองในภาษาไทย

…………..

บุพนิมิต” อ่านว่า บุบ-พะ-นิ-มิด ประกอบด้วยคำว่า บุพ + นิมิต

(๑) “บุพ” 

บาลีเป็น “ปุพฺพ” อ่านว่า ปุบ-พะ รากศัพท์มาจาก ปุพฺพฺ (ธาตุ = เต็ม) + (อะ) ปัจจัย

: ปุพฺพฺ + = ปุพฺพ (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่เต็ม” หมายถึง อดีต, แต่ก่อน, ก่อน (previous, former, before)

ปุพฺพ” สันสกฤตเป็น “ปูรฺว” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปูรฺวฺว, ปูรฺว : (คำวิเศษณ์) ประถม, แรก, ก่อน; ฝ่ายตวันออก; ทั้งสิ้น, สกล; first, former, prior, initial; eastern, entire; – (คำบุรพบท) ข้างน่า; before, in front of; – (คำนามพหูพจน์) บรรพบุรุษ; ทิศตวันออก; โบราณคดี; ancestors, fore-fathers; the east; an ancient tradition.”

ในภาษาไทย ใช้ตามบาลีเป็น “บุพ-” หรือ “บุพพ-” ก็มี ใช้อิงสันสกฤตเป็น “บุรพ-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) ก็มี และแผลงเป็น “บรรพ” เขียนเป็น “บรรพ์” (การันต์ที่ ) ก็มี

บุพ-” และ “บุรพ-” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

(1) บุพ-, บุพพ– : (คำวิเศษณ์) ก่อน, ทีแรก; เบื้องต้น, เบื้องหน้า. (ป. ปุพฺพ; ส. ปูรฺว).

(2) บุรพ– : (คำวิเศษณ์) บุพ. (ส. ปูรฺว; ป. ปุพฺพ).

(๒) “นิมิต” 

บาลีเป็น “นิมิตฺต” อ่านว่า นิ-มิด-ตะ รากศัพท์มาจาก – 

(1) นิ (คำอุปสรรค = เข้า,ลง) + มา (ธาตุ = กะ, กำหนด, นับ) + ปัจจัย, แปลง อา ที่ มา เป็น อิ (มา > มิ), ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (มา + ตฺ + )

: นิ + มา = นิมา + ตฺ + = นิมาตฺต > นิมิตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่กำหนดผลของตนไว้” (2) “สิ่งเป็นเครื่องอันเขากำหนด” (คือใช้เป็นเครื่องหมาย) 

(2) นิ (คำอุปสรรค = เข้า,ลง) + มิ (ธาตุ = ใส่) + ปัจจัย, ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (มิ + ตฺ + )

: นิ + มิ = นิมิ + ตฺ + = นิมิตฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นที่อันเขาใส่ผลไว้แล้ว” 

(3) นิ (คำอุปสรรค = ออก) + มิหฺ (ธาตุ = ไหล, หลั่ง) + ปัจจัย, แปลง เป็น (มิหฺ > มิตฺ

: นิ + มิหฺ = นิมิหฺ + = นิมิหฺต > นิมิตฺต แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่หลั่งน้ำออกมา” 

นิมิตฺต” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ – 

(1) เครื่องหมาย, นิมิต, สิ่งบอกเหตุ, การทำนาย (sign, omen, portent, prognostication) 

(2) รูปร่างภายนอก, ตำหนิ [ของร่างกาย], ลักษณะ, คุณสมบัติ, ปรากฏการณ์ (outward appearance, mark, characteristic, attribute, phenomenon) 

(3) เครื่องหมาย, จุดมุ่งหมาย (mark, aim) 

(4) องคชาต (sexual organ)

(5) หลักฐาน, เหตุผล, เงื่อนไข (ground, reason, condition) 

บาลี “นิมิตฺต” สันสกฤตก็เป็น “นิมิตฺต” เหมือนบาลี 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ – 

(สะกดตามต้นฉบับ)

นิมิตฺต : (คำนาม) ‘นิมิตต์,’ มูล, การณ์, นิมิตตการณ์, ต้นเหตุหรือตัวการหรือผู้บันดาน; ลักษณะ, จิห์น, องก์; เครื่องหมาย; ลาง; ลักษณะดีหรือร้าย; cause, motive, efficient or instrumental cause; mark, sign, trace; omen, a good omen or an ill one.”

นิมิตฺต” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “นิมิต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

นิมิต ๒ : (คำนาม) เครื่องหมาย, ลาง, เหตุ, เค้ามูล; (แบบ) น. อวัยวะสืบพันธุ์ เช่น อิตถีนิมิต ปุริสนิมิต. (ป., ส. นิมิตฺต).”

ปุพฺพ + นิมิตฺต = ปุพฺพนิมิตฺต (ปุบ-พะ-นิ-มิด-ตะ) แปลว่า “สิ่งบอกเหตุที่เกิดขึ้นก่อน” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปุพฺพนิมิตฺต” ว่า “previous sign,” a foregoing sign, prognostic, portent. Forecast (“ลางที่เกิดขึ้นก่อน”, บุพนิมิต”, ลาง, ลางสังหรณ์, การพยากรณ์ล่วงหน้า)

และขยายความว่า of prophetic dreams (เกี่ยวกับความฝันที่เป็นลาง หรือการบ่งว่าจะเกิดอะไรขึ้น)

บาลี “ปุพฺพนิมิตฺต” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่งทั้ง 2 คำ ใช้เป็น “บุพนิมิต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

บุพนิมิต : (คำนาม) ลางที่บอกเหตุขึ้นก่อน. (ป. ปุพฺพนิมิตฺต).”

ขยายความ :

คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาวินัยปิฎก ขยายความคำว่า “ปุพฺพนิมิตฺต” (บุพนิมิต) ไว้ดังนี้ –

…………..

ปุพฺพนิมิตฺตโต  ปสฺสนฺโต  ปุญฺญาปุญฺญวเสน  อุปฺปชฺชิตุกามสฺส  อตฺถสฺส  วา  อนตฺถสฺส  วา  ปุพฺพนิมิตฺตภูตํ  สุปินํ  ปสฺสติ  โพธิสตฺตมาตา  วิย  ปุตฺตปฏิลาภนิมิตฺตํ  โพธิสตฺโต  วิย  ปญฺจ  มหาสุปิเน  โกสลราชา  วิย  จ  โสฬส  สุปิเนติ  ฯ

เมื่อบุคคลฝันเพราะบุพนิมิต ชื่อว่าย่อมฝันที่เป็นบุพนิมิตแห่งความเจริญบ้าง แห่งความเสื่อมบ้าง ซึ่งจะเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งบุญและบาป เหมือนพระมารดาของพระโพธิสัตว์ทรงพระสุบินนิมิตในการที่จะได้พระโอรส, เหมือนพระโพธิสัตว์ทรงมหาสุบิน 5 ประการ และเหมือนพระเจ้าโกศลทรงพระสุบิน 16 ประการ ฉะนั้นแล

…………..

ยํ  ปน  ปุพฺพนิมิตฺตโต  ปสฺสติ

ตํ  เอกนฺตสจฺจเมว  โหติ  ฯ

ความฝันเพราะบุพนิมิต

เป็นความจริงโดยส่วนเดียวแล

ที่มา: คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาวินัยปิฎก ภาค 2 หน้า 6

…………..

พระมารดาของพระโพธิสัตว์ทรงพระสุบินนิมิตเป็นประการไร พระโพธิสัตว์ทรงมหาสุบิน 5 ประการเป็นประการไร และพระเจ้าโกศลทรงพระสุบิน 16 ประการเป็นประการไร ผู้ปรารถนาจะทราบพึงมีอุตสาหะศึกษาสืบค้นด้วยตนเองดูเถิด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เรารู้ตัวล่วงหน้ากันทุกคนว่าจะต้องตาย

: แต่มีบางคนเท่านั้นที่พร้อมทุกเวลาที่จะตาย

#บาลีวันละคำ (3,678)

8-7-65

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *