พรรษา จำพรรษา จำนำพรรษา
พรรษา จำพรรษา จำนำพรรษา
——————————–
………………………………
พรรษา
………………………………
“พรรษา” แปลว่า “ฤดูฝน” และ “ปี” ใช้ในความหมายเฉพาะว่า (๑) “ช่วงระยะเวลา ๓ เดือนในฤดูฝน” (๒) “เกี่ยวกับช่วงระยะเวลา ๓ เดือนในฤดูฝน”
คำที่มีคำว่า “-พรรษา” ต่อท้าย ซึ่งมีความหมายว่า “เกี่ยวกับช่วงระยะเวลา ๓ เดือนในฤดูฝน” ที่ควรรู้ เช่น เข้าพรรษา ออกพรรษา ขาดพรรษา แหกพรรษา เทียนพรรษา
“เข้าพรรษา” หมายถึง วันที่พระสงฆ์เริ่มเข้าจำพรรษา คือ วันแรมค่ำ ๑ เดือน ๘ เรียกว่า วันเข้าพรรษา และหมายรวมถึงการที่พระสงฆ์เข้าอยู่ประจำที่ ๓ เดือนในฤดูฝน เรียกว่าช่วงเวลาเข้าพรรษา คำเรียกอีกคำหนึ่งคือ “ในพรรษา” คู่กับ “นอกพรรษา” ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาตั้งแต่ออกพรรษาแล้วเป็นต้นไป
“ออกพรรษา” หมายถึง วันที่พระสงฆ์สิ้นสุดการจำพรรษา คือ วันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๑๑ เรียกว่า วันออกพรรษา แต่ออกพรรษาจริงๆ เริ่มตั้งแต่วันรุ่งขึ้น หมายความว่า พระสงฆ์จะต้องอยู่จำพรรษาในวันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๑๑ อีกวันหนึ่ง รุ่งขึ้นจึงจะพ้นเขตจำพรรษา
“ขาดพรรษา” หมายถึง ในช่วงเวลาเข้าพรรษา ๓ เดือน พระสงฆ์จะต้องอยู่ภายในวัดที่จำพรรษาจนถึงอรุณขึ้น คือจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้นทุกวัน ถ้าไปอยู่นอกวัดที่จำพรรษากลับเข้ามาไม่ทันอรุณขึ้น นั่นคือขาดพรรษา หรือเรียกว่าพรรษาขาด ผลที่เกิดขึ้นก็คือหมดสิทธิ์ที่จะได้รับอานิสงส์จากการจำพรรษา เช่นไม่ได้รับอานิสงส์กฐินเป็นต้น
“แหกพรรษา” หมายถึง พระที่ลาสิกขากลางพรรษา
คำนี้เกี่ยวเนื่องกับคติการบวชของชายไทย แต่เดิมบวชแล้วอยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือน ออกพรรษารับกฐินแล้วจึงลาสิกขา เป็นเช่นนี้เป็นปกติทั่วไป การสึกกลางพรรษาจึงเป็นเรื่องผิดปกติ เรียกกันว่า แหกพรรษา
ทุกวันนี้ชายไทยบวชเอาพรรษามีน้อยลง พฤติกรรม “แหกพรรษา” จึงไม่มีใครรู้จัก
“เทียนพรรษา” หมายถึง เทียนขนาดใหญ่และยาวเป็นพิเศษกว่าเทียนชนิดอื่น สำหรับจุดบูชาพระตั้งแต่วันเข้าพรรษาจนถึงวันออกพรรษา
คำนี้เกี่ยวเนื่องกับธรรมเนียมการไหว้พระสวดมนต์ของพระสงฆ์ในวัดต่างๆ ซึ่งตามปกติจะทำวันละ ๒ เวลา คือเช้ากับเย็น แต่ในช่วงเวลาเข้าพรรษาจะเพิ่มการไหว้พระสวดมนต์ในเวลาประมาณตีสี่เป็นพิเศษขึ้นอีกเวลาหนึ่ง รวมเป็น ๓ เวลา คือ เช้า-เย็น-เช้ามืด เวลาเช้ากับเย็นยังไม่มืดพอมีแสงสว่าง แต่เช้ามืดไม่มีแสงสว่าง เทียนพรรษานอกจากจุดบูชาพระแล้วยังให้แสงสว่างในเวลาไหว้พระสวดมนต์ตอนเช้ามืดด้วย สันนิษฐานว่าที่ต้องมีเทียนพรรษาก็เพราะเหตุนี้
แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาเข้าพรรษาถือกันว่าเป็นช่วงเวลาบำเพ็ญบุญพิเศษกว่าเวลาปกติ จึงนิยมจัดเทียนพิเศษจุดบูชาพระตลอดพรรษา ทั้งนี้โดยไม่ต้องอ้างอิงถึงการไหว้พระสวดมนต์ตอนเช้ามืด เท่านี้ ก็นับว่าเป็นเหตุผลเพียงพอที่มีเทียนพรรษาเกิดขึ้น
อนึ่ง โปรดทราบว่า เทียนชนิดนี้เรียก “เทียนพรรษา” ไม่ใช่ เทียนจำพรรษา เทียนเข้าพรรษา หรือเทียนจำนำพรรษา ดังที่มักจะเรียกกันเปรอะไป
………………………………
จำพรรษา
………………………………
คำนี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกความหมายว่า “อยู่ประจำที่วัด ๓ เดือนในฤดูฝน (ใช้แก่พระสงฆ์)”
ที่บอกจำเพาะลงไปว่า “๓ เดือนในฤดูฝน” นั้น ควรเข้าใจถึงธรรมเนียมการเที่ยวจาริกของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา
ชั้นเดิม สมัยพุทธกาลพระสงฆ์ไม่ได้อยู่ประจำที่ แต่จาริกไปตามที่ต่างๆ เพื่อแสวงหาสถานที่บำเพ็ญเพียรบ้าง เพื่อแสวงหาสถานที่สงบวิเวกบ้าง เพื่อประกาศพระศาสนาบ้าง ครั้นต่อมามีพุทธบัญญัติให้พระสงฆ์พักอยู่กับที่เป็นเวลา ๓ เดือนในฤดูฝน ที่เรียกกันว่า “จำพรรษา” พ้น ๓ เดือนแล้วพระสงฆ์ก็เที่ยวจาริกตามปกติ นี่คือที่มาของคำว่า “อยู่ประจำที่วัด ๓ เดือนในฤดูฝน” – ดังที่พจนานุกรมฯ บอกไว้
ปัจจุบัน พระสงฆ์ไม่ได้เที่ยวจาริกเหมือนสมัยพุทธกาล แต่อยู่ประจำที่ ในเมืองไทยมีข้อกำหนดให้พระสงฆ์ต้องสังกัดวัด คือบวชแล้วต้องอยู่ประจำที่วัดใดวัดหนึ่ง จะไม่มีสังกัดไม่ได้ ดังนั้น การอยู่ประจำที่วัดในปัจจุบันจึงไม่ใช่อยู่เฉพาะ “๓ เดือนในฤดูฝน” หากแต่เป็นการอยู่ตลอดเวลา คำว่า “จำพรรษา” จึงมีความหมายเคลื่อนที่ไปจากเดิม คือหมายถึง พำนักอยู่ที่วัดใดวัดหนึ่งโดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็น “๓ เดือนในฤดูฝน”
เดี๋ยวนี้มีคนอุตริเรียกการที่พระสงฆ์พำนักอยู่ที่วัดใดวัดหนึ่งว่า “จำวัด” เป็นการเรียกโดยไม่ได้ศึกษาเรียนรู้ หรือจะพูดว่าดื้อด้านไม่ยอมรับรู้ก็ว่าได้
“จำวัด” ภาษาไทยหมายถึง พระนอนหลับ
พระพำนักอยู่ที่วัดใดวัดหนึ่ง เรียกว่า “จำพรรษา”
“จำวัด” คือ sleep
“จำพรรษา” คือ stay
………………………………
จำนำพรรษา
………………………………
คำนี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกความหมายว่า “เรียกผ้าที่ถวายแก่พระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาในวัดนั้น ๆ ว่า ผ้าจำนำพรรษา”
“ผ้าจำนำพรรษา” เป็นผ้าที่น่ารู้จัก แต่น่าเสียดายที่คนไทยทุกวันนี้ไม่รู้จักผ้าจำนำพรรษากันแล้ว
บอกไว้เสียเลยว่า “ผ้าจำนำพรรษา” มีคติอย่างเดียวกับผ้ากฐิน ถ้ารู้จักผ้ากฐิน ต้องรู้จักผ้าจำนำพรรษาด้วยจึงจะสมบูรณ์
ถอยไปตั้งหลักกันที่ว่า เครื่องนุ่งห่มของภิกษุนั้นพุทธบัญญัติกำหนดให้มีใช้ได้ชุดเดียวเพื่อความเรียบง่ายไม่มักมาก ชุดเดียวอายุการใช้งานก็ประมาณปีเดียว จึงมีธรรมเนียมเปลี่ยนเครื่องนุ่งห่มประจำปี นั่นคือที่เรารู้จักกันว่า ทอดกฐิน
แต่ทอดกฐินมีพุทธประสงค์จะให้ภิกษุที่จำพรรษาอยู่ด้วยกันมาตลอด ๓ เดือนมีความสมัครสมานสามัคคียกผ้าที่มีผู้ถวายแก่สงฆ์ให้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง
พูดสั้นๆ ว่า กฐินคือภิกษุรูปเดียวได้เปลี่ยนเครื่องนุ่งห่ม
แล้วภิกษุรูปอื่นๆ เล่าจะทำอย่างไร จะเอาผ้าที่ไหนมาเปลี่ยน?
ผู้มีศรัทธาประสงค์จะสงเคราะห์ภิกษุทั่วไปให้ได้เปลี่ยนเครื่องนุ่งห่มชุดใหม่ จึงถวายผ้าที่เรียกว่า “ผ้าจำนำพรรษา”
“ผ้าจำนำพรรษา” คำบาลีว่า “วัสสาวาสิกสาฎก” (วัด-สา-วา-สิ-กะ-สา-ดก) แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าเพื่อภิกษุผู้อยู่ตลอดพรรษา” หมายความว่าภิกษุอยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้วจึงมีสิทธิ์รับถวายผ้าชนิดนี้เพื่อเปลี่ยนเครื่องนุ่งห่ม
นี่คือที่ว่า-ผ้าจำนำพรรษามีคติอย่างเดียวกับผ้ากฐิน
เราทอด “กฐิน” ก็เพื่อให้ภิกษุได้เปลี่ยนเครื่องนุ่งห่มเพียงรูปเดียว
เราจึงควรถวาย “ผ้าจำนำพรรษา” เพื่อให้ภิกษุรูปอื่นได้เปลี่ยนเครื่องนุ่งห่มโดยทั่วถึงกัน-ใช่หรือไม่
ถ้าทำให้ภิกษุได้เปลี่ยนเครื่องนุ่งห่มเพียงรูปเดียวมีอานิสงส์มหาศาล
การทำให้ภิกษุได้เปลี่ยนเครื่องนุ่งห่มโดยทั่วถึงกันก็ย่อมมีอานิสงส์อภิมหาศาล-ใช่หรือไม่
แต่อนิจจา น่าเสียดาย คนไทยไม่เคยคิดจะถวาย “ผ้าจำนำพรรษา” ทั้งนี้เพราะไม่รู้จักผ้าจำนำพรรษา
อ่านมาถึงตรงนี้ ตอนนี้ก็คงพอจะรู้จักบ้างแล้ว ผมจึงขอเชิญชวนญาติมิตรทั้งปวงช่วยกันสร้างธรรมเนียมถวายผ้าจำนำพรรษาให้เกิดขึ้นในสังคมไทย-แบบเดียวกับธรรมเนียมทอดกฐิน
และข้อสำคัญที่สุด เมื่อสร้างธรรมเนียมถวายผ้าจำนำพรรษาให้เกิดขึ้นได้แล้ว ขอให้ช่วยกันระวังรักษาให้เป็นการถวายผ้าเพื่อให้พระสงฆ์ได้เปลี่ยนเครื่องนุ่งห่มอย่างบริสุทธิ์สะอาดจริงๆ
อย่าให้กลายเป็นธรรมเนียมหาเงินประจำปี-เหมือนธรรมเนียมทอดกฐินที่เป็นอยู่ทุกวันนี้นั่นเลย
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕
๑๗:๕๙
……………………………………………….
พรรษา จำพรรษา จำนำพรรษา
…………………………….
…………………………….