เทพปกรณัม (บาลีวันละคำ 3,675)
เทพปกรณัม
ระวังจะถูกครอบงำด้วยความเชื่อ
อ่านตามหลักภาษาว่า เทบ-พะ-ปะ-กะ-ระ-นำ
อ่านตามสะดวกปากว่า เทบ-ปะ-กะ-ระ-นำ
ประกอบด้วยคำว่า เทพ + ปกรณัม
(๑) “เทพ”
บาลีเป็น “เทว” อ่านว่า เท-วะ รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + อ (อะ) ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วฺ) เป็น เอ (ทิวฺ > เทว)
: ทิวฺ + อ = ทิว > เทว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ”
ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกัน คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา
แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังมีความหมายอีกหลายอย่าง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทว” ไว้ดังนี้ –
(1) good etc. (สิ่งที่ดี และอื่นๆ)
(2) a god, a deity, a divine being (เทวดา, เทพเจ้า, เทพ)
(3) the sky, rain-cloud, rainy sky, rain-god (ท้องฟ้า, เมฆฝน, ท้องฟ้ามีฝน, เทพแห่งฝน)
ในที่นี้ “เทว” ใช้ในความหมายตามข้อ (2) คือเทวดาหรือเทพเจ้า
“เทว” เมื่อใช้ในภาษาไทยแปลง ว เป็น พ ตามสูตรที่นิยมทั่วไป เช่น –
วร > พร
วิวิธ > พิพิธ
: เทว > เทพ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “เทพ” ไว้ 3 คำ บอกไว้ดังนี้ –
(1) เทพ ๑, เทพ– : (คำนาม) เทวดา. (ป., ส. เทว).
(2) เทพ ๒ : (คำนาม) คำนำหน้าชื่อเพลงไทย เช่น เทพทอง เทพชาตรี เทพบรรทม เทพนิมิต เทพรัญจวน.
(3) เทพ ๓ : (คำนาม) สมณศักดิ์พระราชาคณะสูงกว่าชั้นราช ตํ่ากว่าชั้นธรรม เรียกว่า ชั้นเทพ เช่น พระเทพโมลี.
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “เทพ” ไว้ดังนี้ –
…………..
เทพ : เทพเจ้า, ชาวสวรรค์, เทวดา; ในทางพระศาสนา ท่านจัดเป็น ๓ คือ
๑. สมมติเทพ เทวดาโดยสมมติ = พระราชา, พระเทวี พระราชกุมาร
๒. อุปปัตติเทพ เทวดาโดยกำเนิด = เทวดาในสวรรค์และพรหมทั้งหลาย
๓. วิสุทธิเทพ เทวดาโดยความบริสุทธิ์ = พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย
…………..
(๒) “ปกรณัม”
บาลีเป็น “ปกรณ” อ่านว่า ปะ-กะ-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ
: ป + กรฺ = ปกรฺ + ยุ > อน = ปกรน > ปกรณ แปลตามศัพท์ว่า “การทำทั่วไป”
“ปกรณ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การประกอบ, ข้อความในกฎหมายที่ยอมรับกัน (performance, undertaking paragraph of the law)
(2) โอกาส (occasion)
(3) คำอธิบาย, การจัด, งานประพันธ์, หนังสือ, ปกรณ์ (exposition, arrangement, literary work, composition, book)
บาลี “ปกรณ” สันสกฤตเป็น “ปฺรกรณ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปฺรกรณ : (คำนาม) ‘ประกรณ์,’ บทนำ, เรื่องนำ; บริจเฉท; การต้อนรับด้วยความเคารพ; ประพฤติมากหรือดี; เรื่องซึ่งกวีผูกขึ้นเปนบทกลอน; an introduction, a prologue or prelude; a chapter; treating with respect; doing much or well; a poetical fiction.”
บาลี “ปกรณ” ในภาษาไทยใช้เป็น “ปกรณ์” อ่านว่า ปะ-กอน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“ปกรณ์ : (คำนาม) คัมภีร์, ตํารา, หนังสือ. (ป. ปกรณ; ส. ปฺรกรณ).”
“ปกรณ” ในบาลีแจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ นปุงสกลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ปกรณํ” อ่านว่า ปะ-กะ-ระ-นัง แล้วเลียนรูปและเสียงสันสกฤตเป็น “ปกรณมฺ” เขียนแบบไทยเป็น “ปกรณัม” อ่านว่า ปะ-กะ-ระ-นำ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ปกรณัม” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –
“ปกรณัม : (คำนาม) ปกรณ์, เรื่อง, เช่น ปักษีปกรณัม. (ส. ปฺรกรณ; ป. ปกรณ).”
เป็นอันว่า “ปกรณัม” ก็คือ ปกรณ์
“ปกรณ์” คืออะไร ก็ดูจากที่แสดงไว้ข้างต้นนั้น
เทพ + ปกรณัม = เทพปกรณัม แปลว่า “คัมภีร์หรือเรื่องราวว่าด้วยเทวดา”
ขยายความ :
คำว่า “เทพปกรณัม” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แต่เมื่อว่าโดยรูปศัพท์แล้ว “เทพปกรณัม” ควรจะมีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า “เทพนิยาย”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “เทพนิยาย” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –
“เทพนิยาย : (คำนาม) เรื่องราวหรือตํานานเกี่ยวกับเทวดา.”
…………..
เวลาได้ยินใครพูดคำว่า “เทพปกรณัม” เรามักจะรู้สึกกันว่าเป็นคำที่ขลังและมีความหมายลึกลับ เทียบกับคำว่า “เทพนิยาย” แล้ว “เทพปกรณัม” ออกจะขลังกว่ามากทีเดียว
เวลาพูดหรือได้ยินคำนี้ ถ้ารู้ความหมายของศัพท์ไว้บ้างก็จะเป็นการดี จะได้ไม่ถูกความขลังและความลึกลับครอบงำสติปัญญาไปเสียหมด
…………..
: เรื่องจริงอาจไม่มีคนเชื่อ
: เรื่องที่มีคนเชื่ออาจไม่ใช่เรื่องจริง
ดูก่อนภราดา!
: ท่านจะเกณฑ์ความจริงให้ตรงกับความเชื่อ
: หรือท่านจะปรับความเชื่อให้ตรงกับความจริง
#บาลีวันละคำ (3,675)
5-7-65
…………………………….
…………………………….