บาลีวันละคำ

นานาพันธุ์ หรือ นานาพรรณ (บาลีวันละคำ 3,674)

นานาพันธุ์ หรือ นานาพรรณ

เพราะภาษานั้นเป็นสิ่งสมมุติ

อ่านว่า นา-นา-พัน

มีคำที่ควรศึกษาเรียนรู้ 3 คำ คือ “นานา” “พันธุ์” และ “พรรณ” 

(๑) “นานา

นานา” อ่านตรงตัวเหมือนภาษาไทยว่า นา-นา เป็นคำจำพวก “นิบาต” ลักษณะเฉพาะของนิบาตคือ คงรูป ไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย แปลตามศัพท์ว่า “อย่างนั้นอย่างนี้” (so and so) หมายถึง ต่างๆ, หลายอย่าง, ปนกันหลายอย่าง, ทุกชนิด (different, divers, various, motley; variously, differently, all kinds of)

คัมภีร์มหานิทเทส พระไตรปิฎกเล่ม 29 ข้อ 521 ไขความไว้ว่า “นานา” มีความหมายเท่ากับ วิวิธํ, อญฺโญญฺญํ, ปุถุ, น เอกํ 

(1) วิวิธํ (วิ-วิ-ทัง) = หลายอย่าง, ต่างประการ, ปนกัน (divers, manifold, mixed) 

(2) อญฺโญญฺญํ (อัน-โยน-ยัง) = แปลตามตัวว่า “อื่นและอื่น” หมายถึง ซึ่งกันและกัน, ต่อกันและกัน, เกี่ยวทั้งสองฝ่าย, ตอบแทนซึ่งกันและกัน (one another, each other, mutually, reciprocally) 

(3) ปุถุ (ปุ-ถุ) = มากมาย, หลายอย่าง, ต่างๆ (numerous, various, several, more, many, most) 

(4) น เอกํ (นะ เอ-กัง) = แปลตามตัวว่า “ไม่ใช่หนึ่ง” หมายถึง มาก, ต่างๆ กัน; นับไม่ได้, คำนวณไม่ได้ (“not one”, many, various; countless, numberless) 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

นานา : (คำวิเศษณ์) ต่าง ๆ. (ป.).”

อภิปรายแถม :

ทำไมจึงมักมีผู้เขียนคำนี้เป็น “นา ๆ” คือ นา + ไม้ยมก?

ตอบได้ว่า เพราะใช้แนวเทียบผิด กล่าวคือ ในภาษาไทยมีคำจำพวกหนึ่งที่เราพูดซ้ำกัน 2 ครั้ง เช่น “ค่ำค่ำ” “เช้าเช้า” “เบาเบา” “แรงแรง” “เร็วเร็ว” “ช้าช้า” “เบื่อเบื่ออยากอยาก”

คำจำพวกนี้เวลาเขียน เราใช้ไม้ยมกแทนคำที่ 2 คือเขียนคำแรกแล้วใช้ไม้ยมกตามหลัง เป็น “ค่ำ ๆ” “เช้า ๆ” “เบา ๆ” “แรง ๆ” “เร็ว ๆ” “ช้า ๆ” “เบื่อ ๆ อยาก ๆ” 

ไม้ยมกนั้นเดิมก็คือเลข ๒ ไทย ทำหน้าที่บังคับให้อ่านคำแรก 2 ครั้ง เช่นเขียนว่า “ค่ำ ๒” เราไม่อ่านว่า “ค่ำ-สอง” แต่อ่านว่า “ค่ำ-ค่ำ” 

เราเข้าใจอย่างนี้กันทั่วไปจนเป็นหลักการอย่างหนึ่ง ดังนั้น พอมาได้ยินคำว่า “นานา” เราก็ใช้หลักการเดิมเป็นแนวเทียบ เขียนเป็น “นา ๆ” เพราะไม่เข้าใจว่าคำนี้ไม่ใช่คำไทย แต่เป็นคำบาลี และคำเดิมในบาลีไม่มีไม้ยมก แต่เขียนเป็น นา + นา = นานา ดังนั้น คำนี้จึงเขียนเป็น “นา ๆ” ไม่ได้ แต่ต้องเขียนเป็น “นานา

เราส่วนมากมักอ้างว่าเป็นเพราะความเคยชินกับวิธีเขียนคำไทย จึงทำให้เขียนคำนี้ผิด 

วิธีแก้ไขก็คือ เปิดใจรับหลักการใหม่ของภาษาบาลี และยอมรับหลักการนั้นจนเป็นความเคยเชิน

ขอให้ลองเทียบกับคำว่า “ฟอร์ด” ซึ่งเรานิยมอ่านออกเสียงว่า ฝอด

เราเขียนคำไทยว่า กอด ขอด จอด …

พอมาถึง “ฟอร์ด” ทำไมเราไม่เขียนเป็น “ฝอด” เหมือนคำไทยที่เราเคยชิน?

ก็เพราะใจเราเปิดรับข้อมูลว่า คำนี้เป็นภาษาอังกฤษ สะกดว่า Ford และถอดเป็นอักษรไทยว่า “ฟอร์ด” แต่นิยมอ่านออกเสียงว่า ฝอด 

เมื่อเปิดใจรับเช่นนี้ เราก็จึงไม่เขียนเป็น “ฝอด” ตามเสียงอ่าน แต่เขียนตามหลักการว่า “ฟอร์ด”

ที่ว่ามานี้มีอุปมาฉันใด 

การเขียนคำว่า “นานา” ก็มีอุปไมยฉันนั้น

อย่าเทียบกับคำไทย 

แต่เปิดใจยอมรับหลักการของบาลี

เราก็จะเขียนไม่ผิด

และไม่ต้องอ้างอีกต่อไปว่า-เขียนผิดเพราะความเคยชิน

(๒) “พันธุ์

บาลีเป็น “พนฺธุ” อ่านว่า พัน-ทุ รากศัพท์มาจาก พนฺธฺ (ธาตุ = ผูก, มัด, พัน) + อุ ปัจจัย

: พนฺธฺ + อุ = พนฺธุ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกี่ยวข้องกัน” “ผู้อันความรักผูกพัน” “ผู้ผูกพันคนอื่นไว้ในตน” 

พนฺธุ” ในบาลีหมายถึง –

(1) พวกพ้อง, ญาติ, เหล่ากอ (a relation, relative, kinsman)

(2) เกี่ยวข้อง, เกี่ยวพัน, ผูกพัน (connected with, related to, dealing with)

บาลี “พนฺธุ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “พันธุ-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “พันธุ์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พันธุ-, พันธุ์  : (คำนาม) พวกพ้อง, เชื้อสาย, วงศ์วาน; เทือกเถา, เหล่ากอ; เชื้อ เช่น ข้าวเก็บไว้ทำพันธุ์ พันธุ์ข้าว. (ป., ส.).”

(๓) “พรรณ

บาลีเป็น “วณฺณ” อ่านว่า วัน-นะ รากศัพท์มาจาก วณฺณ (ธาตุ = ประกาศ, แสดง) + (อะ) ปัจจัย

: วณฺณ + = วณฺณ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องประกาศเนื้อความ

วณฺณ” ในภาษาบาลีมีความหมายหลายอย่าง ขอนำมาแสดงไว้ในที่นี้เป็นเครื่องประดับความรู้ ดังต่อไปนี้ :

(ภาษาอังกฤษจากพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ)

(1) สี (colour)

(2) รูปร่าง (appearance)

(3) ความรุ่งโรจน์โชติช่วง, ความแพรวพราว (lustre, splendor)

(4) ความงาม (beauty)

(5) สีหน้า, ท่าทาง (expression, look)

(6) สีของผิวเนื้อ, รูปร่าง, ผิวพรรณ (colour of skin, appearance of body, complexion)

(7) ชนิด, ประเภท (kind, sort เช่น นานาวณฺณ = ต่างๆ ชนิดกัน)

(8 ) “ลักษณะของเสียง” (timbre of voice) = อักษร (the alphabet)

(9) องค์ประกอบ, ความเหมือนกัน, สมบัติ; เหมือน (constitution, likeness, property; like เช่น อคฺคิวณฺณํ = เหมือนไฟ = like fire)

(10) ความประทับใจที่ดี, การสรรเสริญ (good impression, praise)

(11) เหตุผล (reason, ความหมายนี้ ฝรั่งแปลตามศัพท์ว่า “outward appearance” = ท่าทางภายนอก)

บาลี “วณฺณ” สันสกฤตเป็น “วรฺณ” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ดังนี้ – 

(สะกดตามต้นฉบับ) 

วรฺณ : (คำนาม) ‘วรรณ,’ ชาติ, วรรค, จำพวก, พวก; สี; เครื่องตกแต่งช้าง; ลักษณะ, คุณสมบัติ; เกียรติ, ประสิทธิ; สดุดี; สุวรรณ; พรต; การจัดเพลงหรือกาพย์; ราคินีหรือคีตวิธา; โศภา, ความงาม; เครื่องแต่งตัวลคร; สุคนธ์; อักษร; รูป, ทรง; เภท, ประเภท; a trible, a class, caste, an order; colour, tint; an elephant’s housings, quality, property; fame, celebrity; praise; gold; religious observance; the arrangement of a song or poem; a musical mode; beauty, luster; theatrical dress or embellishment; perfume; a letter of the alphabet; form; figure; sort, kind.”

ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “วรรณ” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วรรณ-, วรรณะ : (คำนาม) สี เช่น เบญจวรรณ แปลว่า ๕ สี, มักใช้เข้าคู่กับคำ สีสัน เป็น สีสันวรรณะ; ผิว เช่น ขอให้เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ, มักใช้เข้าคู่กับคำ ผิวพรรณ เป็น ผิวพรรณวรรณะ; ชั้นชน, ในสังคมฮินดูแบ่งคนออกเป็น ๔ วรรณะ คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร; หนังสือ เช่น วรรณกรรม วรรณคดี. (ส. วรฺณ; ป. วณฺณ).”

และแผลง เป็น ตามหลักนิยมในภาษาไทยเป็น “พรรณ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พรรณ : (คำนาม) สีของผิว; ชนิด เช่น พรรณพืช พรรณไม้ พรรณสัตว์. (ส. วรฺณ; ป. วณฺณ).”

…………..

สรุปตามมติของราชบัณฑิตยสภาก็คือ –

พันธุ์” ใช้ในที่ซึ่งเป็นเชื้อที่จะนำไปเพาะเลี้ยงได้ 

พรรณ” ใช้ในที่ซึ่งเป็นชนิดของพืชของสัตว์

เมื่อเข้าใจความหมายของแต่ละคำแล้ว ก็จะสามารถแยกความหมายได้ไม่ยากว่า –

เขียน “นานาพันธุ์” หมายถึงอะไร

เขียน “นานาพรรณ” หมายถึงอะไร

ขยายความ :

ถ้ามุ่งถึงส่วนของพืชหรือสัตว์ที่จะนำไปเพาะปลูกหรือเพาะเลี้ยงต่อไปอีก คือที่คำอังกฤษเรียกว่า seed ใช้ว่า “นานาพันธุ์

ถ้ามุ่งถึงชนิดของพืชหรือสัตว์ เช่นจะบอกว่า ไม้หลายชนิด สัตว์หลายประเภท ใช้ว่า “นานาพรรณ

อ่านรายะเอียดเพิ่มเติมจากลิงก์ข้างล่างนี้

……………………………………

แถม :

สำหรับท่านที่ถือคติ “ภาษาเป็นสิ่งสมมุติ” เขียนอย่างไรก็ได้ ไม่มีผิดไม่มีถูก อาจจะยุ่งยากอยู่บ้าง กล่าวคือ ในภาษาไทยมีคำชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “คำพ้องเสียง” คือคำที่อ่านเหมือนกัน แต่ความหมายต่างกัน ความหมายที่ต่างกันนั้นต้องตัดสินด้วยวิธีสะกด ที่เรียกว่า-เขียนอย่างไร จึงเกิดเป็นหลักการว่า –

เขียนอย่างนี้ ความหมายจะเป็นอย่างนี้

ต้องการความหมายอย่างนี้ ต้องเขียนอย่างนี้

นานาพรรณ

นานาพันธุ์

นานาภัณฑ์

นานาพัน

เขียนอย่างไรก็อ่านเหมือนกันทุกคำ 

แต่ทุกคำมีความหมายไม่เหมือนกัน

หน้าที่ของนักเรียนภาษาก็คือศึกษาความหมายของคำ

ในที่สุดก็จะเห็นได้ว่า ถ้าจะสื่อสารให้เข้าใจตรงกันได้ ก็ต้อง “สมมุติ” ให้ตรงกันก่อนว่า เขียนอย่างไร อ่านอย่างไร มีความหมายอย่างไร 

ไม่ใช่-เขียนอย่างไรก็ได้ ไม่มีผิดไม่มีถูก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: หน้าที่ของมนุษย์

: คือเข้าใจสมมุติให้ตรงกับความเป็นจริง

#บาลีวันละคำ (3,674)

4-7-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *