เรียนบาลีควรมีแนะแนว
เรียนบาลีควรมีแนะแนว
————————
ผมเรียนบาลีเมื่ออายุ ๑๘
ถอยหลังไปก่อนหน้านั้น ผมบวชเณรเมื่ออายุ ๑๖
ถอยไปอีก ผมจบ ป.๔ เมื่ออายุ ๑๒ แล้วทำนาตามอาชีพบรรพบุรุษ
กำลังเลี้ยงวัวอยู่ดีๆ ตัดสินใจบวชเณร
ถ้าสมัยนั้นศาสตร์ที่เรียกว่า “แนะแนว” แพร่หลายเหมือนสมัยนี้ ผมอาจไม่บวช และตอนนี้อาจเป็นอะไรก็ได้-ที่ไม่ใช่ผมอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
เมื่อไม่มีใครแนะแนว ผมก็ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่าบุญกรรม ถ้าพูดตามคติพระพุทธศาสนาก็ต้องบอกว่า-ถึงเวลาบุญกรรมก็มาตักเตือน
“บุญกรรม” ที่ว่านี้ก็คือนิสัยอยากเรียนหนังสือ ตอนจบ ป.๔ อยากเรียนต่อชั้นมัธยม แต่อุปสรรคที่สำคัญที่สุดก็คือไม่มีเงิน
วันที่สอบไล่ชั้น ป.๔ แม้แต่เงินซื้อกระดาษฟุลสแก๊ปเขียนข้อสอบก็ยังไม่มีเลย-จนถึงกับแก้ปัญหาตามประสาเด็กด้วยการหนีสอบ
…………………………………………
เรื่องนี้ผมเคยเขียนเล่าให้ฟังแล้วในเรื่อง-ฝ่ามืออรหันต์
…………………………………………
ไม่ต้องพูดถึงเงินค่าเล่าเรียนชั้นมัธยม-อย่างที่ใจอยากจะเรียน
ตอนนั้นคิดได้อย่างเดียว-บวชแล้วมีโอกาสได้เรียน
บวชแล้วเรียนนักธรรม นี่ก็ไม่มีใครมาแนะแนว ระบบที่มีอยู่บังคับอยู่ในตัว
“ระบบที่มีอยู่” ก็คือ ระบบการศึกษาของคณะสงฆ์มีเรียนนักธรรมและเรียนบาลี
เป็นที่รู้กันเองว่า เรียนนักธรรมคือเรียนเรื่องนี้ๆ เรียนบาลีคือเรียนเรื่องนั้นๆ แต่ทั้งเรียนนักธรรมและเรียนบาลีไม่มีการแนะแนว
…………………………………….
แนะแนว : (คำกริยา) แนะนำแนวทางว่าควรจะปฏิบัติอย่างไร
…………………………………….
เรียนนักธรรมควรจะเรียนอย่างไร เรียนบาลีควรจะเรียนอย่างไร ไม่มีใครบอก บอกอย่างเดียวว่า-เรียนเข้าไปเถิด
และที่สำคัญที่สุด จบนักธรรมแล้วมีเส้นทางไปไหนได้บ้างและควรจะไปทางไหน จบบาลีแล้วมีเส้นทางไปไหนได้บ้างและควรจะไปทางไหน ไม่มีใครบอก นี่คือความหมายที่ผมบอกว่า-ไม่มีการแนะแนว
แต่จะว่าไม่มีการแนะแนวเสียเลยก็ไม่ถูกนัก มีเหมือนกัน แต่เป็นการแนะแนวที่แต่ละคนต้องมองเอาเองสังเกตเอาเอง นั่นก็คือ ความเป็นไปของรุ่นพี่ที่เดินไปข้างหน้า
จบนักธรรมเอกเป็นอะไรกันบ้าง จบประโยค ๖ ไปไหนกันบ้าง จบประโยค ๙ ทำอะไรกันบ้าง เป็นอะไรได้บ้าง ไปไหนกันบ้าง คนข้างหน้าทำให้เห็นเป็นให้ดู คนข้างหลังต้องสังเกตเอาเอง จะเรียกว่าแนะแนวด้วยของจริงก็น่าจะได้
เวลานี้การเรียนบาลีของเราก็ยังคงมีแต่การแนะแนวด้วยของจริง-แบบทำให้เห็นเป็นให้ดู แบบเดิมแบบเดียว
แนะแนวตามหลักวิชาแนะแนวเต็มๆ คือ-ให้ข้อมูล ให้ข้อคิด ให้คำแนะนำแนวทางว่าควรจะปฏิบัติอย่างไร-แบบนี้เรายังไม่ได้ทำ
เรายังคงใช้วิธี-ปล่อยให้แต่ละคนตัดสินใจเลือกทางเลือกทำกันตามอัธยาศัย โดยมีสิ่งแวดล้อมหรือค่านิยมในขณะนั้นๆ เป็นตัวช่วย
ที่ทำกันเพิ่มขึ้นก็เห็นมีแต่การกระตุ้นเตือนเพื่อให้เรียนและพยายามสอบให้ได้ โดยใช้เทคนิคหรือศิลปะในรูปแบบต่างๆ เป็นแรงจูงใจ เช่น ให้ทุนเล่าเรียน ยกสถานะ “นาคหลวง” ขึ้นมาจูงใจสามเณร และล่าสุดได้ยินว่า “ประโยค ๙ สองแสน” นี่ก็เป็นอีกแรงหนึ่ง
โปรดสังเกตว่า-นี่เป็นเพียง “กระตุ้นเตือนเพื่อให้เรียนและพยายามสอบให้ได้” เท่านั้น ไม่ใช่การแนะแนวว่าสอบได้แล้วควรจะไปทางไหน
สอบได้แล้วควรจะไปทางไหน แทบไม่มีใครพูดถึง
จะจูงใจกันแบบไหน ผมขออนุโมทนาด้วยทั้งนั้น แต่ผมเห็นว่าสิ่งที่ควรจะต้องทำควบคู่กันไปด้วยก็คือ การแนะแนว
การแนะแนวในความหมายของผมหมายถึง การให้ข้อมูลแก่นักเรียนบาลีว่า บาลีคืออะไร และควรจะเรียนบาลีเพื่ออะไร
๑ บาลีคืออะไร – คือแนะนำให้รู้จักบาลี และให้รู้ถึงความสำคัญที่แท้จริงของบาลี
บาลีไม่ใช่เป็นเพียงกระบวนวิชาที่ต้องเรียนเพื่อสอบได้เหมือนวิชาทั่วไป บาลีสำคัญมากกว่านั้นมากนัก แต่เรายังไม่เห็นความสำคัญที่จะต้องบอกให้นักเรียนบาลีรู้และตระหนัก
ผมจึงบอกว่า-ถึงเวลาแล้วที่ควรจะต้องบอกเรื่องนี้กันให้กระจ่างไปตั้งแต่ตัดสินใจเรียนบาลี-นี่คือบาลีคืออะไร
๒ ควรจะเรียนบาลีเพื่ออะไร – เป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่เราไม่เคยแนะแนวหรือแนะนำกันเลย เราปล่อยให้นักเรียนบาลีตั้งเป้าหมายกันเองตามบุญตามกรรมหรือที่เรียกให้ฟังดูดีว่า-ตามอัธยาศัย
เรียนบาลีเพื่อที่ว่า-ถ้าอยู่เป็นพระก็จะได้เป็นพระราชาคณะ หรือถ้าลาสิกขาก็สามารถสมัครเข้ารับราชการในสามเหล่าทัพ หรือเอาวุฒิประโยค ๙ ไปต่อปริญญาโท
นี่คือตัวอย่างการแนะแนว
อะไรอีก?
เรียนบาลีเพื่อที่ว่า-จะได้ใช้ความรู้บาลีช่วยกันบริหารกิจการพระศาสนา
เรียนบาลีเพื่อที่ว่า-คณะสงฆ์จะได้มีพระมหาเปรียญมากๆ ไว้ประดับพระศาสนา
เรียนบาลีเพื่อที่ว่า-จังหวัดเราจะได้มีพระจบประโยค ๙ กับเขาบ้าง หรือถ้ามีอยู่บ้างแล้วก็จะได้มีเยอะๆ ขึ้นไปอีก
เรียนบาลีเพื่อที่ว่า-จะได้ไปเปิดสำนักเรียนบาลีขึ้นในจังหวัดของเรา
ฯลฯ
นี่คือการแนะแนวตามความหมายที่ผมว่า นักเรียนบาลีจะได้ตัดสินใจไปตั้งแต่ต้นทางว่า-จะเรียนบาลีไปเพื่ออะไร
…………………
เป้าหมายหนึ่งที่สมควรอย่างยิ่งที่จะมีอยู่ในกระบวนการแนะแนวการเรียนบาลีก็คือ-
๑ เรียนบาลีเพื่อศึกษาพระธรรมวินัยพระไตรปิฎก
๒ ศึกษาพระธรรมวินัยพระไตรปิฎกเพื่อรู้เข้าใจหลักคำสอนที่ถูกต้อง
๓ รู้เข้าใจหลักคำสอนที่ถูกต้องเพื่อนำไปประพฤติปฏิบัติและเผยแผ่ให้แพร่หลายต่อไป
๔ เผยแผ่ให้แพร่หลายต่อไปเพื่อให้สังคมเข้าใจหลักคำสอนที่ถูกต้อง
๕ เข้าใจหลักคำสอนที่ถูกต้องแล้วจะได้ศรัทธาเลื่อมใสสนับสนุนผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามหลักคำสอนที่ถูกต้อง ไม่ไปศรัทธาเลื่อมใสการประพฤติปฏิบัติที่คลาดเคลื่อนเบี่ยงเบน
๖ ต่อจากนั้นชุมชนสังคมนั้นๆ ก็จะช่วยกันส่งเสริมรักษาสืบทอดพระศาสนาให้มั่นคงยั่งยืนเพื่ออำนวยประโยชน์สุขให้เกิดแก่สังคมนั้นๆ นั่นเองสืบต่อไป
…………………
ทั้งหมดนี้เริ่มต้นที่การเรียนบาลีโดยตั้งเป้าหมายไว้อย่างนี้
จะเรียนบาลีโดยตั้งเป้าหมายไว้อย่างนี้ได้ ก็ต้องมีการแนะแนว ชี้นำ ชักชวน และกระตุ้นเตือน
กระตุ้นเตือนด้วยวิธีที่เรากำลังทำกันอยู่นั่นเลยก็ได้ – ให้ทุนเล่าเรียน – ยกสถานะ “นาคหลวง” ขึ้นมาจูงใจ – หรือใช้กลยุทธ์ “ประโยค ๙ สองแสน” แบบไหนก็ได้ ไม่ได้ขัดแย้งอะไรกัน ใช้ไปเลย
เพียงแต่ขอให้แนะแนวต่อไปอีกว่า-พอถึงขั้นนั้นแล้วควรต่อยอดไปให้ถึง-เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยพระไตรปิฎกต่อไปอีก
ถ้าแนะแนวแบบนี้ไปตั้งแต่ต้นทาง เราก็จะได้นักเรียนบาลีจำนวนหนึ่งที่ตั้งเป้าหมาย-เรียนบาลีไปให้ถึงพระไตรปิฎกไปตั้งแต่ต้นทาง
นักเรียนบาลีที่รักพระศาสนา ห่วงพระศาสนา มีอุดมคติอุดมการณ์เพื่อพระศาสนา ต้องมีอยู่อย่างแน่นอน เราเพียงช่วยกันกระตุ้นเตือนเท่านั้น
และขอย้ำว่า กระตุ้นเตือนไม่ใช่บังคับเคี่ยวเข็ญข่มขู่คุกคามตำหนิติเตียนคนที่ไม่ทำตามที่เราแนะแนว
ใครไม่เอาด้วย ก็ไม่ว่าอะไรเลย จะเลือกทางไหน เชิญตามอัธยาศัย
เราเพียงใช้วิธีแนะแนวซึ่งเรายังไม่เคยใช้ไม่เคยทำกันอย่างเป็นระบบเลย
ที่ผ่านมา เราใช้วิธีเดียว คือรอให้บุญกรรมจัดสรร คือที่พูดว่า-ตามอัธยาศัย
ใครยังนึกว่าแนะแนวไม่จำเป็น ขอให้นึกถึงพระนาคเสนในเรื่องมิลินทปัญหา
เรื่องย่อๆ มีว่า-คราวครั้งนั้นเกิดภัยจากปรัปวาทขึ้นในพระศาสนา คณะสงฆ์พิจารณาเห็นว่า กุมารจากตระกูลหนึ่งจะสามารถปราบปรัปวาทได้ จึงมอบหมายให้พระเถระรูปหนึ่งดำเนินการชักนำกุมารนั้น-ซึ่งเกิดในตระกูลที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา-เข้ามาบวชในพระศาสนา พระเถระวางแผนดำเนินการตั้งแต่กุมารนั้นยังไม่เกิด ต้องพยายามและอดทนอย่างสูงสุด ใช้เวลาถึง ๗ ปีจึงทำสำเร็จ จึงมีพระนาคเสนมาปราบพระยามิลินท์ลงได้ ทำให้พระพุทธศาสนารอดพ้นจากการย่ำยีในครั้งนั้นมาได้ด้วยดี
ถ้าคณะสงฆ์ในเวลานั้นใช้นโยบาย “ตามอัธยาศัย” คือรอให้บุญกรรมจัดสรร-แบบที่คณะสงฆ์ในเวลานี้กำลังใช้อยู่ โฉมหน้าพระพุทธศาสนาอาจไม่เป็นอย่างที่กำลังเป็นอยู่ในบัดนี้
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕
๑๖:๕๕
…………………………………………
เรียนบาลีควรมีแนะแนว
…………………………….
…………………………….