กล-กลิน (บาลีวันละคำ 469)
กล-กลิน
“กล” ในภาษาไทยอ่านว่า กน ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า กน-ละ- เช่น กลยุทธ์ (กน-ละ-ยุด)
“กลิน” อ่านว่า กะ-ลิน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกความหมายของ “กล” ไว้ดังนี้ :
1. การลวงหรือล่อลวงให้หลงหรือให้เข้าใจผิดเพื่อให้ฉงนหรือเสียเปรียบ เช่น เล่ห์กล
2. เล่ห์เหลี่ยม เช่น กลโกง
3. เรียกการเล่นที่ลวงตาให้เห็นเป็นจริงว่า เล่นกล
4. เครื่องกลไก, เครื่องจักร, เครื่องยนต์ เช่น ช่างกล
5. เช่น, อย่าง, เหมือน เช่น เหตุผลกลใด
6. เคลือบแฝง เช่น ถ้าจําเลยให้การเป็นกลความ
เฉพาะความหมายข้อ 4 เครื่องกลไก, เครื่องจักร, เครื่องยนต์ บาลีใช้ศัพท์ว่า “ยนฺต” (ยัน-ตะ) ไม่ใช่ “กล”
อย่างไรก็ตาม บาลีมีศัพท์ว่า “กลา”(กะ-ลา) มีความหมาย 2 อย่างคือ
(1) เสี้ยวเล็กๆ ของส่วนที่เต็ม
(2) อุบาย (an art), การหลอกลวง (a trick)
จะเห็นได้ว่า อุบาย, การหลอกลวง ตรงกับความหมายข้อ 1, 2 และ 3
เป็นอันว่า “กลา” (กะ-ลา) ในบาลี เราเอามาใช้เป็น “กล” (กะ-ละ) และขยายความหมายออกไปเป็นเครื่องกลไก, เครื่องจักร, เครื่องยนต์ ซึ่งน่าจะอธิบายว่า “กล” คือวัตถุที่ประดิษฐ์ขึ้นเป็นอุบาย (an art) ให้ทำกิจได้สำเร็จโดยไม่ต้องใช้แรงคนโดยตรง (เป็นการอธิบายแบบลากเข้าความไว้ที)
ตามไวยากรณ์บาลี กล (= เครื่องกล) + อี (= ผู้ประกอบ, ผู้มีความรู้) = กลี ไทยเราใช้อิงสันสกฤตเป็น กลิน
ทำนองเดียวกับ –
โยธ + อี = โยธี = โยธิน
สิปฺป + อี = สิปฺปี = ศิลปิน
กลิน แปลว่า ผู้มีความรู้เกี่ยวกับเครื่องกล
พจน.42 ไม่ได้เก็บคำว่า “กลิน” แต่มีคำว่า “พรรคกลิน” (พัก-กะ-ลิน = พรรค + กลิน) บอกความหมายว่า “เหล่าทหารเรือที่เป็นช่างกลประจําท้องเรือ”
คำติง : มนุษย์เก่งจริงหรือที่คิดค้นเครื่องจักรกลทำงานรับใช้เยี่ยงทาส
คำเตือน : ระวังอย่าพลาด กลายเป็นทาสเครื่องจักรกล
——————
(ลัดคิวตามคำขอของท่านอาจารย์ Sompong Duangsawai)
27-8-56