บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ทำอย่างไรจึงจะรักษาพระพุทธศาสนาในแผ่นดินไทยไว้ได้ (๒)

ทำอย่างไรจึงจะรักษาพระพุทธศาสนาในแผ่นดินไทยไว้ได้ (๒)

———————————————————-

เมื่อชี้ปัญหาแล้วก็จะต้องเสนอแนะด้วย

ผมไม่มีข้อเสนอแนะ แต่มีแนวคิดในการแก้ปัญหา นั่นคือแก้ด้วยวิธีแสวงหาผู้นำหรือไม่ก็ต้องสร้างผู้นำขึ้นมา 

ในประวัติศาสตร์พุทธศาสนามีเรื่องพระเถระยุคโน้นที่ท่านใช้เวลารอคอยยาวนานเพื่อเอาคนมาเป็นกำลังให้พระศาสนา ตั้งแต่คนคนนั้นยังไม่เกิด และรอคอยอีกยาวนานจนกว่าเด็กคนนั้นจะโต ใช้ความอดทนอย่างยิ่งยวดและความสามารถอย่างยอดเยี่ยมในการชักจูงเด็กคนนั้นเข้าสู่พระศาสนา และในที่สุดก็ได้บุคลากรที่มีศักยภาพสูงสุดมาเป็นผู้จรรโลงพระพุทธศาสนาให้วิวัฒนาการได้สมปรารถนา

เราน่าจะต้องใช้วิธีเดียวกันนี้อีก 

ผมยังมีความหวังอยู่ว่า ในเมืองไทยหรือแม้แต่ในโลกนี้ ยังมีคนที่มีกำลังทรัพย์ มีกำลังบริวาร มีสถานภาพทางสังคม มีสติปัญญา และมีศักยภาพที่จะใช้ทรัพย์ ใช้คน ใช้อำนาจหน้าที่ และใช้สติปัญญาในการสนับสนุน ส่งเสริม อุปถัมภ์บำรุง และปกป้องพระพุทธศาสนาได้อย่างเยี่ยมยอด 

บุคคลเหล่านี้พร้อมอยู่แล้ว รอแต่เวลาที่จะเกิดศรัทธาและสัมมาทิฐิเท่านั้น 

หน้าที่ของพวกเราก็คือแสวงหาคนเหล่านี้ให้พบ แล้วชักนำเข้ามาสู่กระบวนการจรรโลงพระศาสนาให้จงได้

ปัญหาที่รุมเร้าและเผชิญหน้าพระพุทธศาสนาอยู่ในเวลานี้ก็คือ —

เมื่อมีเรื่อง มีสิ่ง หรือมีคนเน่าเสียเกิดขึ้นในวงการภายใน ไม่มีปัญญาที่จะขจัดกวาดล้างทำความสะอาด ได้แต่ปล่อยให้หมักหมมเรื้อรังอยู่อย่างนั้น

เมื่อคนของเราถูกเบียดเบียนรังแก ถูกทำร้าย ไม่มีปัญญาที่จะปกป้องคุ้มครอง จนถึงไล่ติดตามไป “ทำ” เอากับฝ่ายที่เบียดเบียนได้บ้าง ทำได้แค่นั่งประณามบ่นว่า

เมื่อผลประโยชน์ของพระศาสนาหรือสิ่งที่ดีงามในพระศาสนาถูกเบียดบัง เชือดเฉือน ลักลอบ ทำลาย หรือถูกยึดแย่งเอาออกไป ไม่มีปัญญาที่จะขัดขวางยื้อแย่งเอากลับมา ได้แต่นั่งเสียดาย

เมื่อมีทางที่จะได้ผลประโยชน์หรือสิ่งที่ดีงามเข้ามาไว้ในพระศาสนา ไม่มีปัญญาที่จะไปไขว่คว้า แบกขน หรือสาวได้สาวเอาเข้ามาไว้ ได้แต่นั่งมองคนอื่นฝ่ายอื่นเขากอบโกยตาปริบๆ

เมื่อมีความจำเป็นจะต้องใช้ของใช้คนเพื่อการใดๆ ไม่มีปัญญาที่จะคิดสร้างสรรค์ หรือแสวงหา ไม่มีแผนไม่มีนโยบายที่จะปลูกจะปั้นจะสร้างขึ้นมาใช้ ได้แต่กินบุญเก่า

เพราะฉะนั้น ก็จะต้องมีแผนระยะสั้นและระยะยาวในการสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพในการยอยกพระพุทธศาสนา ๒ แบบ คือ แบบปัญญาชน และ แบบคนที่พร้อมจะชนด้วยปัญญา ทั้งนี้ก็ดำเนินตามแนวแห่งพระอัครสาวกซ้ายขวานั่นเอง 

ปัญญาชน – สำหรับรับมือกับมนุษย์จำพวกที่พร้อมจะพูดกันด้วยเหตุด้วยผล พร้อมที่จะลงสนามปัญญามากกว่าสนามรบ และพร้อมที่สร้างสรรค์สิ่งดีงามให้แก่พระศาสนาและสังคม

คนที่พร้อมจะชนด้วยปัญญา – สำหรับรับมือกับมนุษย์จำพวกที่พูดกันดีๆ ไม่รู้เรื่อง จำพวกที่เข้ามาอย่างอันธพาล หรืออย่างสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งมนุษย์จำพวกนี้นับวันจะมีมากขึ้น

อย่านึกว่าในพระพุทธศาสนาไม่จำเป็นต้องมีคนประเภทนี้ ในปาฏิโมกขัฏฐปนขันธกะ คัมภีร์จุลวรรค พระวินัยปิฎก (พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๔๔๗) เล่าไว้ว่า 

คราวหนึ่งพระสงฆ์ประชุมกันเพื่อทำอุโบสถสังฆกรรม (สวดพระปาติโมกข์) ตั้งแต่ตอนหัวค่ำ พระอานนท์ไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า บัดนี้พระสงฆ์ประชุมกันพร้อมแล้ว ขออัญเชิญเสด็จไปทรงแสดงพระปาติโมกข์ แต่พระพุทธเจ้าไม่เสด็จ 

เที่ยงคืน พระอานนท์ไปกราบทูลอีก ก็ยังไม่เสด็จ จนจวนจะสว่าง พระอานนท์เข้าไปกราบทูลอีกครั้งหนึ่ง จึงตรัสว่าที่ไม่เสด็จเพราะบริษัทไม่บริสุทธิ์ หมายความว่ามีภิกษุทุศีลร่วมอยู่ในหมู่สงฆ์นั้นด้วย 

ท่านพระมหาโมคคัลลานะตรวจสอบดู เมื่อพบพระทุศีลรูปนั้นแล้วก็ขอร้องให้ออกไปเสีย พระทุศีลนั้นก็นั่งนิ่งเฉย ขอร้องกันดีๆ ถึง ๓ ครั้ง ก็ยังเฉยอยู่นั่นเอง ในที่สุดท่านพระมหาโมคคัลลานะจำต้องใช้กำลังลากตัวออกไปจากที่ประชุม

เรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กๆ ไม่ใช่ปัญหาร้ายแรงใหญ่โตอะไรเลย แต่เรื่องเล็กๆ นี่แหละที่เป็นปัญหาลึกๆ – ลึกอย่างไรก็ดูเอาเถิด ขนาดทำให้พระพุทธเจ้าไม่เสด็จไปทรงแสดงพระปาติโมกข์แก่ภิกษุสงฆ์ และตั้งแต่เกิดเหตุครั้งนี้แล้ว พระพุทธองค์ก็มิได้ทรงร่วมอุโบสถสังฆกรรมกับภิกษุสงฆ์อีกเลยตลอดพระชนมชีพ

ปัญหาที่เกิดจากบุคคลประเภทพูดกันดีๆ ไม่รู้เรื่องนี่แหละที่ต้องใช้ปัญญาชนที่พร้อมจะชนด้วยปัญญาแบบถึงลูกถึงคนเข้าไปจัดการ

ถามว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้ ถ้าไม่มีคนอย่างท่านพระมหาโมคคัลลานะเข้ามาจัดการ คณะสงฆ์จะทำอย่างไรกัน?

บุคลากรประเภทนี้จะทำหน้าที่เป็นเปลือก เป็นเกราะ หรือเป็นแนวหน้า พร้อมที่จะเสี่ยง พร้อมที่จะลุยได้ทุกเมื่อเพื่อปกป้องให้ชาวพุทธที่เป็นเนื้อในทั้งหลายได้มีโอกาสประพฤติธรรมปฏิบัติธรรม พัฒนาตนและพัฒนาสังคมได้อย่างสงบสุข

เรียกว่าพร้อมที่จะตกนรกเพื่อให้คนอื่นได้ขึ้นสวรรค์ 

คนประเภทนี้ต้องมี และจำเป็นจะต้องมีไว้ให้พร้อมด้วย 

คนประเภทนี้เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งก็จะพร้อมที่จะแปรสภาพมาเป็นผู้ประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมเพื่อพัฒนาตนและสังคมเยี่ยงชาวพุทธเนื้อในทั้งหลายต่อไป พร้อมกันนั้นก็จะมีคนที่พร้อมจะชนด้วยปัญญารุ่นใหม่เข้ามาทดแทน และหมุนเวียนเป็นวงจรเช่นนี้เรื่อยไป

เมื่อได้ฟังเช่นนี้แล้ว อาจจะมีใครบางคนหรือหลายคนที่มือไม่พาย แอบยิ้มเย้ยว่า พูดได้ แต่ทำไม่ได้หรอก

ผมคิดว่า พูดได้ ถึงจะยังทำไม่ได้ ก็น่าจะดีกว่าประเภทที่ทำไม่ได้ แล้วก็ไม่พูดหรือพูดก็ไม่ได้ด้วย

ผมไม่เถียงหรอกหากจะมีใครยิ้มเย้ยเช่นนั้น เพราะผมเองก็เคยสัมผัสเงาอะไรบางอย่างที่บ่งบอกว่ามันคงจะจริงอย่างที่ท่านว่านั่นแหละ 

(๑) ผมเคยได้ยินพระเถระรูปหนึ่งวิจารณ์โครงสร้างองค์กรบริหารพระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ไทย ท่านวิจารณ์ได้เด็ดขาดมาก ชี้ให้เห็นจุดอ่อนเป็นช่องเป็นฉาก ลงท้ายท่านก็สรุปว่า ไปไม่รอดหรอก

ผมก็รอฟังว่า ถ้าจะไปให้รอดท่านจะให้ทำอย่างไร รอจนปานนี้ก็ยังไม่ได้ยินว่าท่านจะให้ทำอย่างไรจึงจะไปรอด

(๒) ผมเคยปรารภกับพระเถระหลายรูป รวมทั้งพระเถระที่มีตำแหน่งบริหารการพระศาสนา ถึงปัญหาเรื่องจำนวนพระภิกษุสามเณรที่ลดลงอย่างน่าวิตก ว่าเราจะมีวิธีจัดตั้งหรือจัดหาพระภิกษุสามเณรกันอย่างไรดี แทนวิธีนั่งรอให้ท่านเข้ามาบวชเองตามศรัทธาตามฤดูกาล แล้วก็ยึดเอาพระที่ตกค้างจากการบวชเช่นนั้นให้เป็นผู้สืบทอดพระศาสนา ผมหวังด้วยว่าคำปรารภนี้คงจะดังไปถึงองค์กรบริหารสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย

แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ได้ยินว่าท่านผู้รับผิดชอบการพระศาสนาท่านจะมีแผนหรือนโยบายอะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้  แว่วๆ แต่ท่านเปรยๆ กันว่า มันก็เป็นไปตามสภาพของสังคม แล้วท่านก็นิ่งเงียบกันไป

นี่แหละครับ “เงา” ที่ผมว่า

พูดไว้อย่างนี้ไม่กลัวว่าจะเป็นการชี้โพรงให้กระรอกไปอีกหรือ?

ไม่ต้องกลัวหรอกครับ เพราะโพรงนี้กระรอกทั้งหลายรู้จักเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ผมเชื่อว่ากระรอกมันรู้จักดีกว่าเจ้าของโพรงเสียด้วยซ้ำ รออยู่แต่ว่าเมื่อไรมันจะมาเข้าโพรงเท่านั้น

ถ้าถามว่า เอาเรื่องนี้มาพูดทำไม ก็ตอบได้ว่า พูดเพื่อให้คนที่ยังไม่รู้ได้รับรู้ไว้ เพื่อให้คนที่เคยรู้แล้วจะได้ไม่ลืมเลือน และเพื่อเตือนสติผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งปวงให้ระลึกไว้ว่า บัดนี้เราต่างก็รู้กันว่าพระศาสนามีปัญหาอะไร ใครกำลังทำอะไรกับใคร เพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้ไม่ประมาท และจะได้ระมัดระวังในการคิดและในการกระทำของตน ตลอดจนจะได้มั่นคงในการทำหน้าที่ของตนต่อไป 

และถ้าเป็นไปได้ ก็จะได้หมั่นทบทวนความคิดและการกระทำของตนนั้นๆ ว่า ถูกต้องดีงามหรือเปล่า เป็นประโยชน์แก่ตนและเป็นประโยชน์แก่พระศาสนาแค่ไหนเพียงไร

ว่าตามหลักสัจธรรม ในที่สุดพระศาสนาก็ต้องเสื่อม และหลักสัจธรรมข้อนี้ท่านผู้รักษาพระศาสนาสืบทอดมาท่านก็รู้เหมือนกับที่เรารู้และชอบนำมาอ้างเมื่อไม่คิดจะทำอะไร 

แต่บรรพบุรุษของเราท่านรู้ด้วย และทำหน้าที่ของท่านด้วย ไม่ได้ปล่อยตามบุญตามกรรม จึงมีพระพุทธศาสนาที่บริสุทธิ์ตกทอดมาถึงเรา

คนรุ่นใหม่มักจะอ้างและทะนงตัวว่าฉลาดกว่าคนรุ่นเก่า

ถ้าคนรุ่นเราฉลาดจริง ก็ต้องรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะรักษาพระพุทธศาสนาในแผ่นดินไทยไว้ได้ และต้องสามารถทำได้จริงๆ ด้วย ไม่ใช่รู้อย่างเดียว แต่ไม่ทำ หรือทำไม่ได้

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๕

๑๓:๕๘

………………………………………………

ทำอย่างไรจึงจะรักษาพระพุทธศาสนาในแผ่นดินไทยไว้ได้ (๒)

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *