ตัดมูลเกลศมาร (บาลีวันละคำ 1,056)
ตัดมูลเกลศมาร
เป็นวรรคหนึ่งในบทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ สำนวนของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
มีคำถามว่า เกลศมาร หรือ กิเลสมาร ?
ข้อมูลเบื้องต้น :
“เกลศ” (กะ-เหฺลด) เป็นรูปคำสันสกฤต
“กิเลส” (กิ-เหฺลด) เป็นรูปคำบาลี
(๑) “เกลศ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ, ความหมายที่ท่านให้ไว้ในภาษาไทยบางคำเข้าใจยาก ถ้าดูภาษาอังกฤษอาจช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น)
“เกฺลศ : (คำนาม) ทุกข์, ทุกขเวทนา; ความเจ็บปวด; โลกธรรม, ภวจริต, ภวบาศ; ห่วงใย, ความลำบาก; ความโกรธ; pain, affliction or distress; pain from disease, anguish; worldly occupation, worldly tie; care, trouble; wrath, anger.”
(๒) “กิเลส”
“กิเลส” (บาลีอ่านว่า กิ-เล-สะ) รากศัพท์มาจาก กิลิสฺ (ธาตุ = เดือดร้อน, เศร้าหมอง, เบียดเบียน) + อ ปัจจัย, แปลง อิ ที่ –ลิ-เป็น เอ
: กิลิส > กิเลส + อ = กิเลส แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะเป็นเหตุให้เดือดร้อน” “ภาวะเป็นเหตุให้เศร้าหมอง” “ภาวะเป็นเหตุให้เบียดเบียนกัน”
“กิเลส” หมายถึง เครื่องเศร้าหมอง, ความเศร้าหมอง, มลทินใจ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กิเลส” ว่า stain, soil, impurity, affliction, depravity, lust (เปรอะเปื้อน, เศร้าหมอง, ไม่บริสุทธิ์, ความทุกข์, ความเสื่อมเสีย, ราคะ)
ฝรั่งผู้ทำพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความเห็นว่า ความหมายของ “กิเลส” ในภาษาบาลีเทียบได้กับที่ภาษาอังกฤษพูดว่า lower or unregenerate nature, sinful desires, vices, passions (ธรรมชาติฝ่ายต่ำ, ความปรารถนาอันเป็นบาป, ความชั่ว, ความทุกข์ทรมาน)
“กิเลส” ท่านจัดเป็น “มาร” ประเภทหนึ่ง ในจำนวนมารทั้ง 5 คือ :
(1) กิเลสมาร -มารคือกิเลส
(2) ขันธมาร – มารคือเบญจขันธ์ คือร่างกาย
(3) อภิสังขารมาร – มารคือเจตนาที่เป็นตัวปรุงแต่งการกระทำให้เป็นต่างๆ
(4) เทวปุตตมาร – มารคือเทพบุตร คือเทวดาที่เป็นพาล
(5) มัจจุมาร – มารคือความตาย
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต กล่าวถึง “กิเลสมาร” ว่า –
“กิเลสมาร : มารคือกิเลส, กิเลสเป็นมารเพราะเป็นตัวกำจัดและขัดขวางความดี ทำให้สัตว์ประสบความพินาศทั้งในปัจจุบันและอนาคต — Kilesa-māra: the Māra of defilements”
ปกติบาลีใช้ว่า “กิเลส” แต่ในคัมภีร์บาลีก็พบรูปศัพท์ “เกฺลส” (อ่านว่า กฺเล-สะ) ด้วย ดังเช่นข้อความในปารสูตร คัมภีร์สังยุตนิกาย มหาวารวรรค (พระไตรปิฎกเล่ม ๑๙ ข้อ๙๘) ว่า –
ปริโยทเปยฺย อตฺตานํ
จิตฺตเกฺลเสหิ ปณฺฑิโต.
จิตฺตเกฺลเสหิ : จิตฺต + เกฺลส + หิ (วิภัตตินาม) = จิตฺตเกฺลเสหิ
สรุปว่า “เกลศมาร” และ “กิเลสมาร” สะกดอย่างนี้ได้ทั้งสองคำ
บทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณข้างต้น ควรเป็น “ตัดมูลเกลศมาร” หรือ “ตัดมูลกิเลสมาร” ย่อมขึ้นอยู่กับหลักฐานเดิมในต้นฉบับว่าท่านผู้ประพันธ์ใช้คำไหน
อย่างไรก็ตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เกลศ : (คำแบบ) (คำนาม) กิเลส เช่น ตัดมูลเกลศมาร. (ส.).”
พุทธภาษิต :
ปริโยทเปยฺย อตฺตานํ
จิตฺตเกฺลเสหิ ปณฺฑิโต.
บัณฑิตพึงยังตนให้ผ่องแผ้วจากเครื่องเศร้าหมองจิต
————-
(พิจารณาตามคำขอของพระคุณท่าน Sornchai Phosriwong)
9-4-58