บาลีวันละคำ

ชาตินิยม (บาลีวันละคำ 4,007)

ชาตินิยม

รักบ้านเมือง

อ่านว่า ชาด-นิ-ยม

(ตามพจนานุกรมฯ)

ประกอบด้วยคำว่า ชาติ + นิยม

(๑) “ชาติ” 

บาลีอ่านว่า ชา-ติ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ติ ปัจจัย

กระบวนการทางไวยากรณ์ :

แบบที่ 1 แปลง ชนฺ เป็น ชา : ชน > ชา + ติ = ชาติ

แบบที่ 2 แปลง “” ที่ (ช-)นฺ เป็น อา : (ช) > อา (> + อา) = ชา + ติ = ชาติ

ชาติ” (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การเกิด” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังต่อไปนี้ –

(1) การเกิด, การเกิดใหม่, กำเนิด (birth, rebirth, possibility of rebirth)

(2) ชาติกำเนิด, เชื้อชาติ, ชั้น, วงศ์วาน (descent, race, rank, genealogy)

(3) จำพวก, ชนิด (a sort of, kind of)

(4) ตามธรรมชาติ (ตรงข้ามกับของที่ตกแต่งขึ้น); แท้จริง, บริสุทธิ์, วิเศษ (ตรงกันขามกับปนเจือ เลว) (by birth or nature, natural [opp. artificial]; genuine, pure, excellent [opp. adulterated, inferior])

ในภาษาไทย “ชาติ” อ่านว่า ชาด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(1) การเกิด, กำเนิด, มักใช้ว่า ชาติเกิด หรือ ชาติกำเนิด เช่น ถ้าทำไม่ดีก็เสียชาติเกิด,

(2) ความมีชีวิตอยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น สบายทั้งชาติ.

(3) เหล่ากอ, เทือกเถา, เผ่าพันธุ์, เช่น ชาตินักรบ ชาติไพร่.

(4) ประเทศ เช่น รู้คุณชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์.

(5) ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ; ประชาชาติ ก็ว่า.

(6) กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน หรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน.

(7) ชนิด, จําพวก, ชั้น, หมู่.

(8 ) คำเพิ่มข้างหลังของคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้วความหมายคงเดิม เช่น รสชาติ หรือหมายถึงพวกหรือหมู่ เช่น คชาชาติ มนุษยชาติ.

ชาติ” ในภาษาไทยในที่นี้ใช้ในความหมายตามข้อ (4) (5) (6)

(๒) “นิยม” 

บาลีอ่านว่า นิ-ยะ-มะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + ยมุ (ธาตุ = สงบ, ระงับ) + (อะ) ปัจจัย

: นิ + ยมฺ = นิยมฺ + = นิยม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ข้อที่ต้องกำหนดด้วยเวลาเป็นต้น” (คือ เหตุผลที่จะนำมาใช้เป็นข้อกำหนดมีหลายอย่าง หนึ่งในหลายอย่างนั้นคือกาลเวลา)

นิยม” ในบาลีใช้ในความหมายดังต่อไปนี้ –

(1) การสำรวม, การบังคับยับยั้ง, การฝึกฝน, การควบคุมตนเอง (restraint, constraint, training, self-control)

(2) การกำหนดแน่, ความแน่นอน, การจำกัด (definiteness, certainty, limitation)

(3) กฎธรรมชาติ, กฎของจักรวาล (natural law, cosmic order)

ความหมายของ “นิยม” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นิยม : (คำแบบ) (คำนาม) การกำหนด. (ป., ส.). (คำกริยา) ชมชอบ, ยอมรับนับถือ, ชื่นชมยินดี, ใช้ประกอบท้ายคำสมาสบางคำใช้เป็นชื่อลัทธิ เช่น ลัทธิชาตินิยม ลัทธิสังคมนิยม.”

ชาติ + นิยม = ชาตินิยม แปลแบบง่ายๆ ว่า “ความนิยมชาติ”  

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ชาตินิยม : (คำนาม) ลัทธิที่ถือชาติเป็นใหญ่, ความรักชาติ.”

ขยายความ :

ชาตินิยม” เป็นศัพท์บัญญัติจากคำอังกฤษว่า nationalism

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล nationalism ว่า

1. ความเป็นชาติ, ความสามัคคีภายในชาติ, การทำนุบำรุงเอกราชของชาติ 

2. ลัทธิชาตินิยม, ความรู้สึกนิยมชาติ

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล nationalism เป็นบาลี ดังนี้: 

(1) desabhatti เทสภตฺติ (เท-สะ-พัด-ติ) = ความภักดีต่อถิ่นฐาน, ความรักบ้านเมือง

(2) desānurāga เทสานุราค (เท-สา-นุ-รา-คะ) = ความรักผูกพันต่อถิ่นฐาน, ความรักบ้านเมือง

ข้อสังเกต :

ภาษาอังกฤษ nation หรือ national เราใช้คำบาลีเป็นภาษาไทยว่า “ชาติ” ดังคำว่า nationalism เราบัญญัติคำไทยว่า “ชาตินิยม

แต่พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ไม่ได้ใช้คำว่า “ชาติ” ในคำแปล nationalism แต่ใช้คำว่า “เทส” (เท-สะ) ซึ่งตรงกับคำอังกฤษว่า place, region, spot, country (สถานที่, ภาค, ถิ่น, ประเทศ) ซึ่งมีความหมายสอดคล้องกับคำว่า nation หรือ national

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า บาลีในคำไทยอาจจะไม่ใช่บาลีในบาลี

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนหลายคนเห็นคุณค่าของการรักบ้านรักเมือง

: ในวันที่ไม่มีบ้านเมืองจะให้รัก

#บาลีวันละคำ (4,007)

2-6-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *