บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

สามเรื่องที่คิดเห็นในคืนเพ็ญวิสาขะ (๑)

สามเรื่องที่คิดเห็นในคืนเพ็ญวิสาขะ (๒)

สามเรื่องที่คิดเห็นในคืนเพ็ญวิสาขะ (๒)

——————————

สิกขมานา หมายถึงใคร 

…………………………………..

คำถามข้อที่ ๑ ถามว่า สิกขมานา หมายถึงใคร 

…………………………………..

เราเข้าใจกันว่า สตรีที่จะบวชเป็นภิกษุณี ต้องรักษาศีลแปดตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๖ อย่างเคร่งครัดเป็นเวลา ๒ ปี ครบแล้วจึงบวชได้ ในระหว่างนี้ถ้าละเมิดข้อใดข้อหนึ่ง จะต้องเริ่มนับเวลาใหม่ 

ช่วงเวลาที่รักษาศีล ๖ ข้อ เป็นเวลา ๒ ปีนี้แหละ มีชื่อเรียกว่า “สิกขมานา” 

แต่มีข้อสงสัย เนื่องจากกรณีมารดาของพระกุมารกัสสปเถระซึ่งคลอดบุตรในขณะที่เป็นภิกษุณี คณะกรรมการสอบสวนอันมีพระอุบาลีเถระเป็นประธานลงความเห็นว่า ภิกษุณีตั้งครรภ์มาตั้งแต่ยังเป็นฆราวาส

ข้อสงสัยคือ ถ้าก่อนจะบวชเป็นภิกษุณีได้ สตรีต้องเป็นสิกขมานาอยู่ ๒ ปี และต้องรักษาศีล ๖ ข้ออย่างเคร่งครัด ภิกษุณีมารดาของพระกุมารกัสสปเถระจะตั้งครรภ์ “ตั้งแต่ยังเป็นฆราวาส” ได้อย่างไร? 

สมมุติว่าตั้งครรภ์วันแรกก็เข้าเป็น “สิกขมานา” ทันที ก็ควรจะคลอดบุตรตั้งแต่ตอนที่เป็นสิกขมานา ใช่หรือไม่?

ถ้าตั้งครรภ์นานถึง ๒ ปีก็ต้องผิดปกติ และตามประวัติพระกุมารกัสสปเถระท่านบวชเป็นภิกษุอายุยังไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ต้องนับเวลาที่อยู่ในครรภ์ด้วยจึงจะครบ (ท่านเป็นต้นบัญญัติเรื่องทดเวลาในครรภ์) ก็แปลว่าท่านคลอดตามเวลาปกติ

ถ้าสิกขมานาตั้งครรภ์ในระหว่างเป็นสิกขมานา กรณีก็คงจะไม่เรียบร้อยจนถึงกับให้บวชเป็นภิกษุณีได้ตามปกติ กรณีมารดาของพระกุมารกัสสปเถระ ถ้าตั้งครรภ์ในระหว่างเป็นสิกขมานา ก็คงไม่ได้บวชเป็นภิกษุณี 

คัมภีร์ที่เล่าเรื่องภิกษุณีมารดาของพระกุมารกัสสปเถระคลอดบุตร ก็ใช้คำว่า “ภิกษุณี” ตรงๆ ไม่ได้ใช้คำว่า “สิกขมานา”

ประเด็นทั้งหลายเหล่านี้ ทำให้เกิดความสงสัยว่า “สิกขมานา” มาจากไหน และเป็นใครกันแน่

……………..

จากการสนทนาวิสาขะ ได้ข้อสรุปว่า สิกขมานาหมายเอาเฉพาะสามเณรีที่มีอายุครบจะบวชเป็นภิกษุณี จะต้องเป็นสิกขมานาก่อนเป็นเวลา ๒ ปี 

สมมุติว่า เด็กหญิงคนหนึ่งบวชเป็นสามเณรีและตั้งใจจะบวชเป็นภิกษุณีต่อไปเมื่ออายุครบ ๒๐ 

สามเณรีนี้จะต้องเริ่มถือสิกขาบท ๖ เป็นสิกขมานาตั้งแต่อายุ ๑๘ จึงจะมีสิทธิ์บวชเป็นภิกษุณีเมื่ออายุครบ ๒๐ 

แต่ถ้าในระหว่าง ๒ ปีนี้ ไปละเมิดศีลข้อใดข้อหนึ่งเข้า ก็ต้องเริ่มนับเวลาใหม่ เช่นเหลืออีก ๑ วัน จะครบ ๒ ปี แต่ไปละเมิดศีลเข้า ก็ต้องตั้งต้นนับ ๑ ใหม่ แทนที่จะได้บวชเมื่ออายุครบ ๒๐ ก็ต้องเลื่อนไปอีก ๒ ปี อย่างนี้เป็นต้น

ส่วนสตรีทั่วไปที่มีอายุครบ ๒๐ หรือเกิน ๒๐ แล้ว และต้องการจะบวชเป็นภิกษุณี สามารถบวชเป็นภิกษุณีได้ทันที ไม่ต้องเป็นสิกขมานา ๒ ปี เหมือนสามเณรี

เพราะเช่นนี้ กรณีมารดาของพระกุมารกัสสปเถระจึงเป็นกรณีที่อาจเกิดขึ้นได้ คือตั้งครรภ์แล้วไปบวชเป็นภิกษุณีทันที (ไม่ต้องเป็นสิกขมานาก่อน) จึงคลอดบุตรในขณะเป็นภิกษุณีได้ ตามเรื่องที่ปรากฏ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “สิกขมานา” มีข้อความว่า –

…………………………………..

สิกขมานา: นางผู้กำลังศึกษา, สามเณรีผู้มีอายุถึง ๑๘ ปีแล้ว อีก ๒ มีจะครบบวชเป็นภิกษุณี ภิกษุณีสงฆ์สวดให้สิกขาสมมติ คือ ตกลงให้สมาทานสิกขาบท ๖ ประการ ตั้งแต่ ปาณาติปาตา เวรมณี จนถึง วิกาลโภชนา เวรมณี ให้รักษาอย่างเคร่งครัดไม่ขาดเลย ตลอดเวลา ๒ ปีเต็ม (ถ้าล่วงข้อใดข้อหนึ่ง ต้องสมาทานตั้งต้นไปใหม่อีก ๒ ปี) ครบ ๒ ปี ภิกษุณีสงฆ์จึงทำพิธีอุปสมบทให้ ขณะที่สมาทานสิกขาบท ๖ ประการอย่างเคร่งครัดนี้เรียกว่า นางสิกขมานา

…………………………………..

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔

๑๙:๐๖

…………………………

ตอนต่อไป: ข้อ ๒ ธงชัยของพระอรหันต์ มีความหมายอย่างไร

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ย้อนไปอ่าน: ปรารภเหตุ

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *