ผ้าอาบน้ำฝน (บาลีวันละคำ 1,854)
ผ้าอาบน้ำฝน
บาลีว่าอย่างไร
“ผ้าอาบน้ำฝน” คำบาลีใช้ว่า “วสฺสิกสาฏิก” (วัด-สิ-กะ-สา-ติ-กะ) ทั้งนี้ตามพระพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกเล่ม 5 ข้อ 155 (คัมภีร์มหาวรรค ภาค 2 วินัยปิฎก หมวดจีวรขันธกะ) ว่า
อนุชานามิ ภิกฺขเว วสฺสิกสาฏิกํ …
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าอาบน้ำฝน …
“วสฺสิกสาฏิก” แยกศัพท์เป็น วสฺสิก + สาฏิกา
(๑) “วสฺสิก” (วัด-สิ-กะ) มาจาก วสฺส + อิก ปัจจัย
(ก) “วสฺส” รากศัพท์มาจาก วสฺสฺ (ธาตุ = ราด, รด) + อ ปัจจัย
: วสฺสฺ + อ = วสฺส แปลตามศัพท์ว่า (1) “น้ำที่หลั่งรดลงมา” (2) “ฤดูเป็นที่ตกแห่งฝน” (3) “กาลอันกำหนดด้วยฤดูฝน”
“วสฺส” (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ฝน, ห่าฝน (rain, shower)
(2) ปี (a year)
(3) ความเป็นลูกผู้ชาย, ความแข็งแรง (semen virile, virility)
(ข) วสฺส + อิก = วสฺสิก แปลตามศัพท์ว่า “ประกอบด้วยกาลฝน” ใช้ในความหมายว่า สำหรับฤดูฝน (for the rainy season), ของปี (of years)
(๒) “สาฏิกา” (สา-ติ-กา) ศัพท์เดิมมาจาก สาฏก + อิ อาคม + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
(ก) “สาฏก” (สา-ตะ-กะ) รากศัพท์มาจาก สฏฺ (ธาตุ = เสียดแทง) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” คือ อะ ที่ ส-(ฏฺ) เป็น อา (สฏฺ > สาฏ)
: สฏฺ + ณฺวุ > อก = สฏก > สาฏก (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เสียดแทงร่างกาย” (คือเสียดสีอยู่กับผิวกาย) หมายถึง ผ้าสาฎก, เสื้อผ้าชั้นนอก, ผ้าคลุม; เสื้อผ้า (an outer garment, cloak; cloth)
(ข) สาฏก + อิ + อา = สาฏิกา มีความหมายเช่นเดียวกับ “สาฏก”
วสฺสิก + สาฏิกา = วสฺสิกสาฏิกา แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าอันเขาใช้สอยเนื่องด้วยฤดูฝน” ในภาษาไทยแปลกันมาแต่เก่าก่อนว่า “ผ้าอาบน้ำฝน” คือผ้าที่ภิกษุใช้นุ่งเมื่ออาบน้ำฝน ชาววัดมักเรียกสั้นๆ ว่า “ผ้าอาบ”
“ผ้าอาบน้ำฝน” ไม่ใช่บริขารที่มีมาแต่เดิม แต่เกิดจากครั้งหนึ่งสาวใช้ของนางวิสาขามหาอุบาสิกาเห็นภิกษุเปลือยกายอาบน้ำฝน เมื่อนางวิสาขาทราบเรื่องจึงทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ภิกษุมีผ้า “วัสสิกสาฎก” (วัด-สิ-กะ-สา-ดก) ไว้สำหรับนุ่งเมื่ออาบน้ำ และเนื่องจากต้นเหตุเดิมเกิดจากการนุ่งอาบน้ำฝน จึงมีคำว่า “วสฺสิก” พ่วงติดไว้ด้วย เราจึงเรียกผ้าชนิดนี้ว่า “ผ้าอาบน้ำฝน”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“ผ้าอาบน้ำฝน : ผ้าสำหรับอธิษฐานไว้ใช้นุ่งอาบน้ำฝนตลอด ๔ เดือนแห่งฤดูฝน ซึ่งพระภิกษุจะแสวงหาได้ในระยะเวลา ๑ เดือน ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๗ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ และให้ทำนุ่งได้ในเวลากึ่งเดือน ตั้งแต่ขึ้น ๑ ถึง ๑๕ ค่ำเดือน ๘, เรียกเป็นคำศัพท์ว่า วัสสิกสาฏิกา หรือ วัสสิกสาฎก, มีขนาดที่กำหนดตามพุทธบัญญัติในสิกขาบทที่ ๙ แห่งรตนวรรค (ปาจิตตีย์ ข้อที่ ๙๑; วินย.๒/๗๗๒/๕๐๙) คือ ยาว ๖ คืบ กว้าง ๒ คืบครึ่ง โดยคืบพระสุคต; ปัจจุบันมีประเพณีทายกทายิกาทำบุญถวายผ้าอาบน้ำฝนตามวัดต่างๆ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘, คำถวายผ้าอาบน้ำฝนเหมือนคำถวายผ้าป่า เปลี่ยนแต่ ปํสุกูลจีวรานิ เป็น วสฺสิกสาฏิกานิ และ ‘ผ้าบังสุกุลจีวร’ เป็น ‘ผ้าอาบน้ำฝน’ ”
…………..
อภิปราย :
มีผู้เข้าใจผิดเรียกผ้าอาบน้ำฝนว่า “ผ้าจำนำพรรษา” เมื่อผ้าชนิดนี้ (คือ “ผ้าอาบน้ำฝน” ที่เรียกผิดเป็น “ผ้าจำนำพรรษา”) ถวายก่อนเข้าพรรษา จึงเลยทำให้มีผู้เรียกเทียนที่ถวายก่อนเข้าพรรษาว่า “เทียนจำนำพรรษา” ไปด้วย กลายเป็นผิดซ้อนผิดอยู่จนทุกวันนี้
“ผ้าจำนำพรรษา” คือผ้าที่ถวายพระหลังจากออกพรรษาแล้ว แบบเดียวกับผ้ากฐินนั่นเอง ไม่ใช่ผ้าอาบน้ำฝน เป็นคนละอย่างกัน (ดูเพิ่มเติมที่: “จำนำพรรษา” บาลีวันละคำ (435) 24-7-56)
เป็นเรื่องแปลกที่คำว่า “ผ้าอาบน้ำฝน” ไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ทั้งๆ ที่คำนี้มีใช้ในภาษาไทยมาเก่าแก่
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 มีคำว่า “ผ้าอาบ” บอกไว้ว่า –
“ผ้าอาบ : (คำนาม) ผ้าที่พระภิกษุสามเณรใช้ผลัดอาบนํ้า.”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เพิ่มคำว่า “ผ้าอาบน้ำ” ควบไว้กับค่ำว่า “ผ้าอาบ” บอกไว้ว่า –
“ผ้าอาบ, ผ้าอาบน้ำ : (คำนาม) ผ้าที่พระภิกษุสามเณรใช้ผลัดอาบนํ้า.”
ทำไมพจนานุกรมฯ จึงเพิ่มคำว่า “ผ้าอาบน้ำ” แต่ไม่เก็บคำว่า “ผ้าอาบน้ำฝน” ?
เดาเอาว่า กรรมการผู้ชำระพจนานุกรมฯ คงจะเข้าใจว่า ผ้าชนิดนี้ไม่ได้ใช้เฉพาะเมื่ออาบน้ำฝน แต่เป็นผ้าใช้ผลัดอาบน้ำตามปกติ ถ้าจะมีคำว่า “ผ้าอาบน้ำฝน” ก็จะผิดความจริง แต่อาจจะลืมคิดถึงต้นกำเนิดของผ้าชนิดนี้
คำบางคำที่เรียกกันมาจนติด แม้ปัจจุบันความเป็นจริงจะไม่ตรงกับชื่อที่เรียก แต่เราก็ยังคงเรียกตามคำเดิม เช่นคำว่า “น้ำตาล” แต่เดิมทำมาจากต้นตาล จึงเรียก “น้ำตาล” ปัจจุบันแม้ทำมาจากอ้อย แต่เราก็ยังเรียกว่า “น้ำตาล” อยู่นั่นเอง
อาหารที่เรียกว่า “ห่อหมก” เดิมทำเป็นห่อ จึงเรียกเช่นนั้น ปัจจุบันแม้จะไม่ได้ห่อ แต่ใส่กระทง เราก็คงเรียกว่า “ห่อหมก” ไม่มีใครอุตริเรียก “กระทงหมก”
การที่พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “ผ้าอาบ” “ผ้าอาบน้ำ” แต่ไม่เก็บคำว่า “ผ้าอาบน้ำฝน” จึงเป็นการลบประวัติความเป็นมาของผ้าชนิดนี้ไปโดยปริยาย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ผ้าอาบน้ำฝน หาซื้อได้
: แต่บุญ ซื้อไม่ได้
7-7-60