อิทธิพล แปลว่าอะไร (บาลีวันละคำ 3,174)
อิทธิพล แปลว่าอะไร
ถ้าให้คนรู้คำอังกฤษแปลคำว่า “อิทธิพล” เป็นภาษาอังกฤษ เขาจะแปลว่าอะไร?
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล “อิทธิพล” เป็นอังกฤษว่า –
influence, pull (with the great)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อิทธิพล : (คำนาม) กําลังที่ยังผลให้สําเร็จ, อํานาจซึ่งแฝงอยู่ในบุคคลหรือรัฐ ซึ่งสามารถบันดาลให้เป็นไปตามความประสงค์, อํานาจที่สามารถบันดาลให้ผู้อื่นต้องคล้อยตามหรือทําตาม, อํานาจที่สามารถบันดาลให้เป็นไปได้ต่าง ๆ เช่น อิทธิพลของดวงดาว, อํานาจนอกเหนือหน้าที่ เช่น ใช้อิทธิพลบังคับให้ยอม.”
โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกที่มาของคำเหมือนกับที่มักบอกในคำอื่นๆ ที่มาจากบาลีสันสกฤต เช่น คำว่า “อิทธิ” บอกไว้ว่า “(ป.; ส. ฤทฺธิ).” หมายความว่า “อิทธิ” มาจากคำบาลี ตรงกับสันสกฤตว่า “ฤทฺธิ”
แต่ที่คำว่า “อิทธิพล” พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกที่มาใดๆ ไว้ ดังจะให้เข้าใจว่าคำว่า “อิทธิพล” ไม่ใช่คำบาลีสันสกฤต
ดูตามรูปศัพท์ที่ตาเห็น คำว่า “อิทธิพล” เป็นคำบาลี ประกอบด้วยคำว่า อิทธิ + พล
(๑) “อิทธิ”
เขียนแบบบาลีเป็น “อิทฺธิ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า อิด-ทิ รากศัพท์มาจาก อิธฺ (ธาตุ = เจริญ) + อิ ปัจจัย, ซ้อน ทฺ หลัง อิ ต้นธาตุ
: อิธฺ > อิ + ทฺ + ธฺ = อิทฺธฺ + อิ = อิทฺธิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นเครื่องเจริญ”
“อิทฺธิ” ในภาษาบาลี โดยเฉพาะที่สรุปได้จากคัมภีร์ มีความหมายดังนี้ –
(1) ความสมบูรณ์พรั่งพร้อมสมกับตำแหน่งฐานะ
(2) ความสามารถทำสิ่งใดๆ ได้ตามที่ผู้อยู่ในฐานะนั้นๆ จะพึงทำได้
(3) ความสามารถเหนือวิสัยสามัญอันเกิดจากการอบรมจิตถึงระดับ เช่น หูทิพย์ ตาทิพย์ เหาะได้ (โดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยใดๆ)
(4) การฝึกฝนอบรมให้มีคุณธรรมอันจะสามารถทำสิ่งใดๆ ให้สำเร็จได้ตามปรารถนา
ความหมายในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อิทธิ : (คำนาม) ฤทธิ์, อํานาจศักดิ์สิทธิ์; ความเจริญ, ความสําเร็จ, ความงอกงาม. (ป.; ส. ฤทฺธิ).”
(๒) “พล”
บาลีอ่านว่า พะ-ละ รากศัพท์มาจาก พลฺ (ธาตุ = มีชีวิต, ระวัง, ครอบงำ) + อ (อะ) ปัจจัย
: พล + อ = พล แปลตามศัพท์ว่า “เหตุอันทำให้มีชีวิตอยู่ได้” “ผู้เฝ้าระวัง” “ผู้ครอบงำศัตรู”
“พล” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมาย 2 อย่างคือ –
(1) ความแข็งแรง, พลัง, อำนาจ (strength, power, force)
(2) กองทัพ, กองกำลังทหาร (an army, military force)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พล, พล– : (คำนาม) กําลัง, มักใช้ประกอบคําอื่น เช่น พระทศพล อันเป็นพระนามพระพุทธเจ้า หมายความว่า ทรงมีพระญาณอันเป็นกำลัง ๑๐ ประการ มี ฐานาฐานญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้ฐานะและสิ่งที่มิใช่ฐานะเป็นต้น; ทหาร เช่น กองพล ตรวจพล ยกพลขึ้นบก; สามัญ, ธรรมดา ๆ, พื้น ๆ, เช่น ของพล ๆ; ยศทหารและตํารวจสัญญาบัตร รองจากจอมพล (เดิมใช้ว่า นายพล). (ป., ส.).”
อิทฺธิ + พล = อิทฺธิพล แปลตามศัพท์ว่า “กำลังแห่งอำนาจ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อิทฺธิพล” ว่า the power of working wonders (อำนาจที่ทำความอัศจรรย์ให้เกิดขึ้น)
โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ซึ่งฝรั่งชาติอังกฤษเป็นผู้ทำ ไม่ได้แปล “อิทฺธิพล” ว่า influence อย่างที่ภาษาไทยแปลคำว่า “อิทธิพล” เป็นอังกฤษนิยมแปลกัน
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล influence เป็นบาลีดังนี้:
(1) ānubhāva อานุภาว (อา-นุ-พา-วะ) = “ภาวะที่ยังผู้พร้อมมูลด้วยสิ่งนั้นให้เจริญร่ำไป” คือ อํานาจ, ฤทธิ์เดช, ความยิ่งใหญ่ คือที่เราใช้ว่า “อานุภาพ”
(2) pabhāva ปภาว (ปะ-พา-วะ) = “สิ่งเป็นเหตุให้เป็นคนมีเดช” คือ อํานาจ, ฤทธิ์, เดช คือที่เราใช้ว่า “ประภาพ”
(3) vasavattāpana วสวตฺตาปน (วะ-สะ-วัด-ตา-ปะ-นะ) = “การยัง-ให้เป็นไปในอำนาจ” คือ การบังคับควบคุมได้ดังใจ
(4) vasīkaroti วสีกโรติ (วะ-สี-กะ-โร-ติ, คำกริยา) = ทำให้อยู่ในอำนาจ, ทำให้ช่ำชองเชี่ยวชาญ
(5) uyyojeti อุยฺโยเชติ (อุย-โย-เช-ติ, คำกริยา) = ส่งเสริม, หนุนส่ง, หนุนหลัง
และโปรดสังเกตด้วยว่า พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ก็ไม่ได้แปล influence เป็นบาลีว่า “อิทฺธิพล”
“อิทฺธิพล” ในบาลี และ “อิทธิพล” ในภาษาไทย มีความหมายไม่ตรงกันนัก แต่เมื่อว่าโดยนัยก็ไม่ต่างกันนัก
พึงตระหนักแต่เพียงว่า กำลังเขียนหรือพูดภาษาอะไร ก็พึงใช้ให้ตรงตามความหมายในภาษานั้นๆ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คนเมามักไม่มีอิทธิพล
: แต่คนมีอิทธิพลมักเมา
#บาลีวันละคำ (3,174)
19-2-64