สามเรื่องที่คิดเห็นในคืนเพ็ญวิสาขะ (๑)
สามเรื่องที่คิดเห็นในคืนเพ็ญวิสาขะ (๔)
สามเรื่องที่คิดเห็นในคืนเพ็ญวิสาขะ (๔)
——————————
ภิกษุเรียกภิกษุณีว่า “ภคินิ” มีนัยอย่างไร
…………………………………..
คำถามข้อที่ ๓ ถามว่า ภิกษุเรียกภิกษุณี ใช้อาลปนะว่า “ภคินิ” แปลว่า “ดูก่อนน้องหญิง” มีนัยอย่างไร
…………………………………..
ทำความเข้าใจกันก่อนว่า คำว่า “อาลปนะ” (อ่านว่า อา-ละ-ปะ-นะ) ในที่นี้เป็นคำที่ใช้ในหลักภาษา หมายถึงถ้อยคำที่ใช้เมื่อร้องทักทายกัน
เช่นนักการเมืองเรียกคนที่มาฟังคำปราศรัยหาเสียงว่า “พ่อแม่พี่น้องทั้งหลาย”
คำว่า “พ่อแม่พี่น้องทั้งหลาย” นี่คือ “อาลปนะ”
คนไทยใช้คำเรียกกันว่า คุณลุง คุณป้า คุณตา คุณยาย
ลุง-ป้า-ตา-ยาย นี่คือ “อาลปนะ”
เพื่อนสนิทเจอกัน ร้องทักกันว่า “เฮ่ย ไอ้…(สัตว์เลื้อยคลานสี่เท้า)”
“เฮ่ย ไอ้…(สัตว์เลื้อยคลานสี่เท้า)” นี่คือ “อาลปนะ”
………………
ประเด็นปัญหาก็คือ ในคัมภีร์ ปรากฏว่าภิกษุใช้คำอาลปนะเรียกภิกษุณีว่า “ภคินิ” ซึ่งนักเรียนบาลีในเมืองไทยแปลกันว่า “ดูก่อนน้องหญิง”
ภิกษุณีอายุแก่กว่าภิกษุ ภิกษุก็ยังใช้คำเรียกว่า “ภคินิ – ดูก่อนน้องหญิง”
ก็เลยเกิดข้อสงสัยว่า การใช้คำเรียกขานเช่นนี้มีนัย หรือมีเงื่อนแง่อะไรแฝงอยู่กระนั้นหรือ?
ในการสนทนาครั้งนั้น ตั้งสมมุติฐานไว้ว่า คำว่า “ภคินิ” แปลว่า “ดูก่อนน้องหญิง” เท่านั้น ไม่ได้แปลเป็นอย่างอื่น
เมื่อตั้งกรอบไว้อย่างนี้ ข้อสันนิษฐานที่นำมาสนทนากันก็จึงถูกโยงไปที่ครุธรรมของภิกษุณี
“ครุธรรม” แปลว่า “ธรรมอันหนัก” หมายถึง เงื่อนไขหรือหลักความประพฤติสำหรับนางภิกษุณีจะพึงถือเป็นเรื่องสำคัญอันต้องปฏิบัติด้วยความเคารพไม่ละเมิดตลอดชีวิต มี ๘ ประการ คือ
……………………………
๑. ภิกษุณีแม้บวชร้อยพรรษาแล้วก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้บวชวันเดียว
๒. ภิกษุณีจะอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้
๓. ภิกษุณีต้องไปถามวันอุโบสถและเข้าไปฟังโอวาทจากภิกษุทุกกึ่งเดือน
๔. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้วต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่ายโดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน โดยรังเกียจ (รังเกียจ หมายถึง ระแวงสงสัยหรือเห็นพฤติกรรมอะไรที่น่าเคลือบแคลง)
๕. ภิกษุณีต้องอาบัติหนัก ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์สองฝ่าย (คือ ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์) ๑๕ วัน
๖. ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์สองฝ่าย เพื่อนางสิกขมานา
๗. ภิกษุณีไม่พึงด่าไม่พึงบริภาษภิกษุไม่ว่าจะโดยปริยายใดๆ
๘. ไม่ให้ภิกษุณีว่ากล่าวภิกษุ แต่ภิกษุว่ากล่าวภิกษุณีได้
……………………………
ภาพรวมของครุธรรมก็คือ กำหนดให้ภิกษุณีต้องอยู่ใต้ภิกษุเสมอไป เริ่มต้นที่ต้องไหว้ภิกษุ และจบลงที่ต้องฟังภิกษุฝ่ายเดียวเท่านั้น จะสอนภิกษุไม่ได้
เรียกว่า ถ้ายังมีทิฐิมานะอยู่ในใจละก็ เป็นภิกษุณีไม่ได้
ครุธรรมจึงนับว่าเป็นเครื่องมือกำราบกิเลสไปตั้งแต่ด่านแรกเลยทีเดียว
การพูดจากันระหว่างภิกษุกับภิกษุณี เป็นสิ่งที่ย่อมต้องมีในชีวิตประจำวัน การกำหนดคำเรียกขานภิกษุณีเพื่อกำราบทิฐิมานะจึงเป็นวิธีการและเป็นโอกาสที่ดีมากๆ แบบว่า ขัดเกลากิเลสไปตั้งแต่คำร้องเรียกกันนั่นเลยทีเดียว
ลองนึกดู ภิกษุณีอายุคราวแม่ แต่ถูกภิกษุคราวลูกเรียกว่า “น้องหญิง” จะรู้สึกอย่างไร
ฟังคำเรียกขานจากภิกษุคราใด ก็เท่ากับได้กำราบกิเลสในใจตัวเองทุกครั้งไปว่า “อย่ามีทิฐิมานะ”
นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมภิกษุจึงใช้คำอาลปนะเรียกภิกษุณีว่า “ภคินิ ดูก่อนน้องหญิง”
ขอย้ำว่า ข้อสันนิษฐานและข้อสรุปดังที่สนทนากันนี้ ตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่า คำว่า “ภคินิ” แปลว่า “ดูก่อนน้องหญิง” เท่านั้น
แต่ถ้าศึกษาวัฒนธรรมการใช้คำเรียกขานระหว่างนักบวชกับสตรี หรือระหว่างนักบวชชายกับนักบวชสตรี ก็อาจจะได้ข้อมูลเป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่นั่นก็อยู่นอกกรอบขอบเขตของการสนทนากันในคราวนั้น
ถ้านักเรียนบาลีบ้านเราสนใจค้นคว้าเกี่ยวกับวัฒนธรรมการใช้คำเรียกขานของผู้คนในชมพูทวีป ก็จะได้หลักความรู้ที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาเพิ่มขึ้นอีกเป็นอันมาก
น่าเสียดายที่นักเรียนบาลีบ้านเราตั้งเป้าหมายไว้ที่การสอบได้เป็นส่วนมาก
ที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่การศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์มีน้อยอย่างยิ่ง
………………
วันนี้ (๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔) ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ เริ่มสอบบาลีสนามหลวงชั้นเปรียญธรรม ๖ และ ๗ สอบ ๒ วัน
ต่อด้วยวันที่ ๒๓-๒๔-๒๕ กุมภาพันธ์ สอบชั้นเปรียญธรรม ๘ และ ๙
ขอถวายกำลังใจ/ให้กำลังใจแก่ผู้เข้าสอบทุกท่าน
สอบให้ได้ แล้วเอาความรู้ไปต่อยอด-ใช้ค้นคว้าพระไตรปิฎกกันต่อไปนะขอรับ
อย่าปล่อยให้ลุงแก่ๆ ทำงานอยู่คนเดียว
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
๑๙:๔๘
…………………………
ย้อนไปอ่าน: ปรารภเหตุ
…………………………