บาลีวันละคำ

เวรกรรม (บาลีวันละคำ 1,922)

เวรกรรม

ทำไว้อย่างไรก็ได้อย่างนั้น

อ่านว่า เวน-กำ

แยกศัพท์เป็น เวร + กรรม

(๑) “เวร

บาลีอ่านว่า เว-ระ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + อรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ วิ เป็น เอ (วิ > เว)

: วิ + อร = วิร + = วิร > เวร แปลตามศัพท์ว่า “กรรมที่เป็นไปโดยอาการผิดรูป” (คือเจตนาปองร้ายอันน่ารังเกียจ)

อีกนัยหนึ่ง “เวร” มีรากศัพท์มาจาก วีร (ผู้กล้า) + ปัจจัย

(ก) “วีร” (วี-ระ) มีรากศัพท์มาจาก –

(1) วี (ธาตุ = ก้าวไป) + ปัจจัย : วี + = วีร แปลว่า “ผู้ก้าวไปสู่ความสูงสุด

(2) วีรฺ (ธาตุ = กล้าหาญ) + ปัจจัย : วีร + = วีร แปลว่า “ผู้กล้าหาญ

(3) วิ (คำอุปสรรค = ไม่มี, ปราศจาก) + อีร (ความหวั่นไหว) : วิ + อีร = วีร แปลว่า “ผู้ปราศจากความหวั่นไหว

วีร” (ปุงลิงค์) หมายถึง เป็นชาติชาย, ทรงอำนาจ, เก่งกล้า, ผู้กล้าหาญ (manly, mighty, heroic; a hero)

(ข) วีร + ปัจจัย, ลบ , แผลง อี ที่ วี-(ร) เป็น เอ (วีร > เวร)

: วีร + = วีรณ > วีร > เวร แปลตามศัพท์ว่า “อารมณ์ที่มีอยู่ในผู้กล้าโดยมาก” (ผู้จองเวรคือผู้กล้าที่จะเสีย)

เวร” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ความเกลียด, ความพยาบาท, การเป็นปรปักษ์, ความโกรธ, ความปองร้าย, ความยินร้าย, ความแค้นเคือง, ความคิดร้ายตอบแก่ผู้ทำร้าย, บาป, อกุศล (hatred, revenge, hostile action, sin)

บาลี “เวร” สันสกฤตเป็น “ไวร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ไวร : (คำนาม) ศัตรุตา, ความเปนศัตรู (ต่อกัน); hostility, prowess.”

ภาษาไทยใช้ว่า “เวร” ตามบาลี อ่านว่า เวน (พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกคำอ่านไว้)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เวร ๑ : (คำนาม) ความพยาบาท, ความปองร้าย, บาป, เช่นเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร; คําแสดงความรู้สึกเดือดร้อนเพราะกรรมหรือชะตากรรมของตนในอดีต เช่นเวรของฉันแท้ ๆ ทำเงินเดือนหายไปทั้งเดือน, กรรมเวร หรือ เวรกรรม ก็ว่า. (ป.; ส. ไวร).”

(๒) “กรรม

บาลีเป็น “กมฺม” (กำ-มะ) รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (กรฺ > ) และ ที่ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: กรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = กมฺม

กมฺม” แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work)

กมฺม” สันสกฤตเป็น “กรฺมฺมนฺ” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม” นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม” จนแทบจะไม่ต้องนึกถึงคำแปล

ขยายความ :

กรรม” ในแง่ความหมาย –

1- การกระทำทั้งปวง เรียกว่า กรรม

2- การถูกทำ, สิ่งที่ถูกทำ, ผลของการกระทำ ก็เรียกว่า กรรม

3- การทำกิจการงาน, การประกอบอาชีพ ก็เรียกว่า กรรม

4- พิธีกรรม, พิธีการต่างๆ ก็เรียกว่า กรรม

กรรม” ในแง่ความเข้าใจ –

1- กฎแห่งกรรม คือ “ทำดี-ดี ทำชั่ว-ชั่ว ดุจปลูกพืชชนิดใด ต้องเกิดผลดอกใบของพืชชนิดนั้น

2- กรรมมี 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นผล คือสภาพทั้งปวงที่เรากำลังเผชิญหรือประสบอยู่ และส่วนที่เป็นเหตุ คือสิ่งที่เรากำลังกระทำอยู่ในบัดนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดส่วนที่เป็นผลในลำดับต่อไป (ผู้ที่ไม่เข้าใจ เมื่อมอง “กรรม” มักเห็นแต่ส่วนที่เป็นผล แต่ไม่เห็นส่วนที่เป็นเหตุ)

3- กรรม เป็นสัจธรรม ไม่ขึ้นกับความเชื่อหรือความเข้าใจของใคร ไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไรหรือไม่เชื่ออย่างไร กรรมก็เป็นจริงอย่างที่กรรมเป็น

เวร + กมฺม = เวรกมฺม แปลว่า “กรรมคือเวร” หรือ “กรรมอันเป็นเวร

เวรกมฺม” บาลีอ่านว่า เว-ระ-กำ-มะ ภาษาไทยใช้ว่า “เวรกรรม” อ่านว่า เวน-กำ (ตามพจนานุกรมฯ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เวรกรรม : (คำนาม) การกระทำที่สนองผลร้ายซึ่งทำไว้แต่ปางก่อน; คำแสดงความรู้สึกเดือดร้อนเพราะกรรมหรือชะตากรรมของตนในอดีต เช่น ไม่รู้ว่าเวรกรรมอะไรต้องมาตกระกำลำบากเมื่อแก่, กรรมเวร หรือ เวร ก็ว่า.”

ที่คำว่า “กรรมเวร” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –

กรรมเวร : (คำนาม) การกระทําที่สนองผลร้ายซึ่งทําไว้แต่ปางก่อน; คำแสดงความรู้สึกเดือดร้อนเพราะกรรมหรือชะตากรรมในอดีต เช่น อายุตั้ง ๗๐ ปีแล้วยังต้องมาหาบขนมขายอีก กรรมเวรแท้ ๆ, เวร หรือ เวรกรรม ก็ว่า.”

…………..

อภิปราย :

ในคัมภีร์มีคำว่า “เวรกมฺม” แต่ไม่พบคำว่า “กมฺมเวร

แสดงว่า “กรรมเวร” หรือ “เวรกรรม” เป็นคำที่เราเอามาประสมกันแบบไทย และเล็งความหมายตามความเข้าใจของคนไทย

คือ เรามักเข้าใจกันว่า “กรรม” หรือ “เวร” เป็นอะไรอย่างหนึ่งที่ไม่ดี คือให้ผลในทางที่ไม่พึงปรารถนา บางทีก็เข้าใจเตลิดไปว่าอะไรอย่างหนึ่งที่ไม่ดีนั้นไม่ได้มีต้นเหตุมาจากการกระทำของเรา แต่เกิดมาจากอำนาจดลบันดาลของอะไรอย่างหนึ่ง เวลานี้นิยมเรียกกันว่า “เจ้ากรรมนายเวร”

ถ้าทำอะไรสักอย่างให้เจ้ากรรมนายเวรพอใจ เช่นอุทิศส่วนบุญให้ ก็จะช่วยบรรเทาผลที่ไม่พึงปรารถนาให้เบาบางลงหรือเหือดหายไปได้

ฟังดูเป็นว่า ทำชั่วอะไรมาไม่สำคัญ พยายามติดสินบนเจ้ากรรมนายเวรเข้าไว้ก็สามารถช่วยได้

อย่างไรก็ตาม คนจำนวนมากที่เห็นประจักษ์ถึงผลกรรม เมื่อเห็นใครได้รับผลร้าย หรือใครทำกรรมชั่วแม้ว่ากรรมชั่วนั้นจะยังไม่ได้ให้ผล ก็มักจะพูดว่า “เวรกรรมมีจริง”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนกับคนมีอคติกันอยู่เป็นประจำ

: แต่เวรกรรมไม่เคยมีอคติกับใคร

13-9-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย