บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

สตรีกับดอกไม้

สตรีกับดอกไม้ (๙) 

สตรีกับดอกไม้ (๙) 

—————————–

และคิดต่อไปถึงศีลกับธรรม

………………

ภาษาอาภรณ์

………………

นักคิดท่านบอกว่า การแต่งตัวของสตรีก็เป็นภาษาอย่างหนึ่ง 

พอจะเรียกว่า “ภาษาอาภรณ์” ได้กระมัง

เราเห็นคนนั้นคนนี้แต่งตัวแบบนั้นแบบนี้แล้วคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร 

ก็นั่นแหละครับคือภาษาหรือความหมายที่คนผู้แต่งตัวเช่นนั้นเขาพูดกับเรา

ตัวอย่างเช่น – 

ผู้หญิงที่แต่งตัวมิดชิดเรียบร้อย ไม่อวดส่วนเว้าส่วนโค้ง ไม่แต่งหน้าทาปาก 

ก็เท่ากับเธอบอกคนที่พบเห็น-โดยเฉพาะผู้ชาย-ด้วยภาษาอาภรณ์ว่า –

“กรุณาควบคุมกิริยาวาจาและสำรวมอารมณ์ให้สงบเรียบร้อยนะคะ” 

ผู้หญิงที่นุ่งนิดห่มน้อย หรือนุ่งสั้นจนเหมือนกับไม่ได้นุ่งอะไรเลย 

ก็เท่ากับเธอบอกแก่ผู้ชายทุกคนด้วยภาษาอาภรณ์ว่า –

“เชิญมากอดจูบลูบคลำระบายอารมณ์เพศกับฉันซีคะ” นั่นเอง

ถ้าเราไปสังเกตดูตามตลาด ตามห้างสรรพสินค้า ตามถนนหนทาง บนรถโดยสาร ตามสถานที่ต่างๆ ที่ไหนก็ได้ที่มีผู้คนไปมา เราก็จะได้ยิน “ภาษาอาภรณ์” ที่สตรีทั้งหลายพูดออกมาอีกมากมายหลายหลาก 

ทั้งที่สุภาพ

และที่หยาบคาย 

โดยที่ตัวผู้พูดอาจจะไม่รู้ตัวเลยว่าได้พูดภาษาอาภรณ์อะไรออกมาบ้าง

เพราะคนส่วนมากไม่ได้ทันนึกว่า การแต่งตัวก็เป็นภาษาชนิดหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม สำหรับสตรีทั่วไปที่ยังรักจะแต่งตัวให้สวยงาม โดยใช้อุปกรณ์และวิธีการตามนัยที่แสดงไว้ในศีลอุโบสถข้อ ๗ ละก็ ความหมายที่เป็นกลางๆ ของภาษาอาภรณ์ของสตรีที่แต่งตัวตามที่ว่ามานี้ ก็เท่ากับพูดบอกแก่คนที่พบเห็นว่า – 

“ข้าพเจ้ายังปรารถนาที่จะทำหน้าที่ของดอกไม้ คือทําให้เกิดผลและเมล็ดเพื่อสืบพันธุ์” นั่นเอง

คงจะมีสตรีเป็นอันมากที่ปฏิเสธว่า ท่านไม่ได้แต่งตัวด้วยความประสงค์เช่นนั้นเลย ทำไมจึงตีความเตลิดเปิดเปิงไปเช่นนั้นเล่า

โดยเฉพาะสตรีสูงอายุด้วยแล้วท่านคงเถียงได้เต็มปากเต็มคำว่า แก่จนป่านนี้แล้ว ใครคิดว่ายังอยากจะทำหน้าที่ของดอกไม้อะไรนั่นอยู่อีกละก็ คงบ้าเกินปกติไปแล้วละพ่อคุณแม่คุณ!!

แต่ถ้ายังรักที่จะแต่งตัวตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในศีลอุโบสถข้อ ๗ อยู่ตราบใด 

ไม่ว่าท่านจะอยู่ในวัยเด็กหรือวัยดึกขนาดไหน 

ตราบนั้นท่านก็ย่อมจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ท่านกำลังพูดภาษาอาภรณ์ออกมาว่าอย่างนั้นจริงๆ

ถ้าความประสงค์ของการแต่งตัวก็คือเพื่อให้สวยงามแล้วไซร้ 

ความประสงค์ของความสวยงามจะคืออะไรกันเล่า 

ถ้าไม่ประสงค์จะสื่อความหมายไปในทางนั้น ก็ควรจะทำเพียงขั้น “นุ่งห่ม” เหมือนที่พระภิกษุสามเณรหรือแม่ชีท่านทำกับร่างกายของท่าน ก็พอแล้ว 

แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะทำเลยไปถึงขั้น “แต่งตัว” ทั้งนั้น 

เมื่อเป็นการแต่งตัว จะปฏิเสธว่าไม่ต้องการให้สวยงามได้อย่างไร 

เพราะถ้าไม่ต้องการสวยงาม ก็ไม่จำเป็นต้องแต่ง

ทำเพียงขั้น “นุ่งห่ม” ให้เรียบร้อย

ไม่เลยไปถึงขั้น “แต่งตัว” ให้สวยงาม

ในเมื่อแต่งก็เพื่อให้สวยงามเช่นนี้แล้ว 

ก็จะต้องตอบละครับว่า จะเอาความสวยงามไปทำอะไร 

โปรดอย่าลืมว่า สตรีเหมือนดอกไม้ 

ธรรมชาติแต่งดอกไม้ให้สวยงามเพื่ออะไร 

สตรีก็แต่งตัวให้สวยงามเพื่อสิ่งเดียวกันนั่นเอง

(มีต่อ)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๓

๑๗:๓๖ 

………………………….

สตรีกับดอกไม้ (๑๐) 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………

สตรีกับดอกไม้ (๘) 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *