สตรีกับดอกไม้
สตรีกับดอกไม้ (๑๓)
สตรีกับดอกไม้ (๑๓)
—————————–
และคิดต่อไปถึงศีลกับธรรม
…………………….
อาบน้ำ ประแป้ง
…………………….
ทีนี้ลองถามกันดูเล่นๆ ก็ได้ว่า –
ถ้ามะม่วงมิได้ออกดอกมาเพื่อจะทำหน้าที่ให้เกิดผลมะม่วงสืบพืชพันธุ์ของมันแล้วไซร้
มันจะมีดอกออกมาเพื่อประโยชน์อันใด
และถ้าผึ้งตัวผู้มิได้ผสมพันธุ์กับนางพญาผึ้งเพื่อให้ผึ้งนางพญาไปวางไข่ออกมาเป็นตัวอ่อนผึ้งสืบเผ่าพันธุ์ของมันต่อไปแล้วไซร้
มันจะผสมพันธุ์ให้เหนื่อยจนตัวตายเพื่อประโยชน์อันใดกัน
แล้วก็ลองย้อนถามตัวมนุษย์ว่า ถ้ามนุษย์มิได้ร่วมประเวณีเพื่อจะให้มีลูกสืบตระกูลเผ่าพันธุ์ของมนุษย์แล้วไซร้
มนุษย์จะประกอบกิจกรรมที่ว่านั่นให้เหน็ดเหนื่อยไปเพื่อประโยชน์อันใดกันเล่า
มนุษย์จะตอบว่าอย่างไร จึงจะไม่อายพืชอายสัตว์ และจึงจะสมกับที่มนุษย์ยกย่องตัวเองว่าเป็นสัตว์ที่มีวัฒนธรรมอารยธรรมสูงส่งกว่าสัตว์ทุกชนิด?
………………
ทฤษฎีที่อาจจะพูดให้น่าฟังขึ้นอีกหน่อยว่า –
“ร่วมรักเพื่อลูก
ถ้าไม่ต้องการลูก ก็ไม่ต้องร่วมรัก” นั้น
ถ้าว่ากันตามความจริงแล้วก็มิใช่ผิดธรรมชาติเลย
มีคนทำได้จริง เช่นพระอรหันต์ทั้งหลายในอดีตกาลเป็นต้น
พระอรหันต์หลายองค์บรรลุธรรมตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ ซึ่งแปลว่าท่านไม่ต้องกระทำกิจตามโลกียวิสัยนั่นเลย
ท่านเหล่านี้เป็นมนุษย์ที่มีตัวตนจริง ไม่ใช่แค่เรื่องเล่าในตำนาน
และแม้แต่ปุถุชนคนธรรมดาในทุกวันนี้ที่ปฏิบัติตามรอยพระอรหันต์เช่นนั้นได้ก็มีอยู่มากมาย
จะว่าผิดธรรมชาติได้อย่างไร
น่าคิดนะครับท่าน
หลักคิดในเรื่องนี้อยู่ตรงไหน
ก็อยู่ตรงที่ว่า ต้องแยกให้ออกบอกให้ถูกว่า —
อะไรคือสิ่งที่ท่านสอนว่าอย่าทำ
และอะไรคือสิ่งที่ท่านแนะนำว่าควรประพฤติ
หรือพูดภาษาคนข้างวัดก็คือ –
ควรจะรู้ว่าอะไรคือศีล
และอะไรคือธรรม – นั่นเอง
อะไรที่ทำแล้วเดือดร้อน
และโดยปกติของมนุษย์ก็ไม่จำเป็นต้องทำ
ทั้งเราเองก็ตั้งใจว่าจะไม่ทำ
นี่คือ ศีล
อะไรที่ทำแล้วดี
และคนดีเขาทำกัน
นั่นคือ ธรรม
ถ้าเราเห็นว่า เราเองก็พอทำได้ เราก็ทำ
ถ้าเราเห็นว่าดี แต่ยังทำไม่ได้ ก็ยังไม่ต้องทำ
ไม่มีใครว่าอะไร
จะลองคิดทีเล่นแต่เป็นความจริงก็ได้ ว่า –
ศีลเหมือนอาบน้ำ
ธรรมเหมือนประแป้ง
อาบน้ำ ก็เพื่อชำระเหงื่อไคลคราบสกปรก เหมือนศีล
ศีลคือเจตนางดเว้นความสกปรกความชั่วความไม่ดีในชีวิตประจำวัน
ชีวิตประจำวัน ควรจะหมายถึงทุกๆ วัน
ไม่ใช่บางวัน
อย่างน้อยๆ ก็งดเว้น ๕ ประการ ตามมาตรฐานสากลของมวลมนุษย์
และในรอบเจ็ดวันก็เพิ่มขึ้นเป็น ๘ ประการ อย่างน้อยอีกหนึ่งวันตามมาตรฐานสากลของชาวพุทธ
เปรียบเหมือนเจ็ดวันอาบน้ำใหญ่ ขัดสีฉวีวรรณเป็นพิเศษเสียทีหนึ่ง
ศีลนั้นถ้าไม่มีแล้วเสีย
เหมือนคนไม่อาบน้ำย่อมสกปรก
เข้าใกล้ใครเขาก็เหม็นสาบ
ตัวเองก็รู้สึกหมักหมม
ไม่สบายตัว
แต่เมื่ออาบน้ำแล้ว จะประแป้งเพื่อให้หอมเย็นสดชื่นขึ้นอีกหรือไม่ นั่นแล้วแต่เรา
พอใจจะประ ก็ประ
ไม่ชอบหรือไม่สะดวกที่จะประ ก็ไม่ต้องประ
เหมือนธรรมะ คือการบำเพ็ญคุณธรรมความดีเพิ่มขึ้น หลังจากที่งดความชั่วแล้ว
ใครพอใจ
ใครมีกุศลจิตที่จะทำ
ก็ทำไป
ใครไม่สะดวก
หรือคิดว่าตัวเองยังไม่พร้อมที่จะทำ
ก็ยังไม่ต้องทำ
ไม่มีใครจะมาว่าอะไรเราได้
หลักแห่งการรักษาศีลปฏิบัติธรรมควรเป็นดั่งนี้
(มีต่อ)
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๓
๑๗:๒๓
…………………………
สตรีกับดอกไม้ (๑๔)
………………………….
สตรีกับดอกไม้ (๑๒)
…………………………