บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

สตรีกับดอกไม้

สตรีกับดอกไม้ (๑๕) – จบ

สตรีกับดอกไม้ (๑๕) – จบ

—————————–

และคิดต่อไปถึงศีลกับธรรม

…………………….

มนุษย์รกชัฏ สัตว์ตื้น

…………………….

ก่อนจะจบเรื่องราวเค้าความ “สตรีกับดอกไม้ และคิดต่อไปถึงศีลกับธรรม” ตามที่ได้บรรยายมา ก็เป็นธรรมเนียมที่จะฝากข้อคิดปิดท้าย

พูดเทียบสำนวนชาวเรือ เมื่อมี “นำร่อง” ก็ต้องมี “เทียบท่า” 

ข้อคิดปิดท้ายก็คือ คน-พืช-สัตว์ ล้วนมีพื้นฐานเดียวกัน นั่นคืออยู่ในฐานะสิ่งมีชีวิตในโลกนี้

ถ้าตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรจึงจะอยู่รอด

ก็ให้ดูคำตอบที่พืช ที่สัตว์

พืชและสัตว์ทำอย่างไรจึงอยู่รอด คนก็ทำอย่างนั้น

เป็นธรรมชาติธรรมดา เป็นปกติ หรือเป็นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต 

แต่ท่านย่อมว่าคนมีความซับซ้อนกว่าสัตว์

ดังพระบาลีว่า –

…………………….

คหณเญฺหตํ  เปสฺส  ยทิทํ  มนุสฺสา  

อุตฺตานกเญฺหตํ  เปสฺส  ยทิทํ  ปสโว.

ดูก่อนเปสสะ สิ่งที่รกชัฏคือมนุษย์ สิ่งที่ตื้นคือสัตว์ 

ที่มา: กันทรสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

พระไตรปิฎกเล่ม ๑๓ ข้อ ๔

…………………….

เพราะฉะนั้น คนจึงต้องมีคำถามอีกข้อหนึ่งว่า จะอยู่รอดไปทำอะไร

ถ้าคนไม่ตั้งคำถามนี้ หรือไม่ตอบคำถามนี้

คนก็จะไม่มีอะไรดีไปกว่าพืชกว่าสัตว์

แต่เพราะมีความรกชัฏอยู่ในสันดาน คนจึงอาจทำอะไรที่แย่ไปกว่าสัตว์ได้ด้วย 

ตรงนี้แหละที่อันตราย

การตอบคำถามว่า-จะอยู่รอดไปทำอะไร จะดูคำตอบที่พืชที่สัตว์ไม่ได้ เพราะพืชและสัตว์มันไม่ต้องตอบคำถามนี้ 

เพราะฉะนั้นก็ต้องดูที่คนด้วยกัน

แหล่งที่จะให้คำตอบนี้ได้ก็คือศาสนา

เพราะศาสนาเกิดมีขึ้นก็เพื่อจะตอบคำถามว่า-คนควรจะอยู่ไปเพื่ออะไร

ใครพอใจจะหาคำตอบที่ศาสนาไหน หรือหวังว่าจะได้คำตอบจากศาสนาไหน ก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกเอา

ตรงกับที่นิยมพูดกันเหมือนกับเป็นทฤษฎีหรือลัทธิอะไรอย่างหนึ่งว่า-การนับถือศาสนาเป็นเสรีภาพส่วนบุคคล

แต่เพราะโลกนี้มีคน-มิใช่เพิ่งมีเมื่อร้อยปีกว่าๆ เท่าคนอายุมากที่สุดในโลกที่ยังมีชีวิตอยู่ในวันนี้-หากแต่มีมาเป็นพันปีหรือหลายพันปีมาแล้ว ดังนั้น คำถามที่ว่า-คนควรจะอยู่ไปเพื่ออะไร ก็จึงมีคำตอบมาแล้วดังที่อาจจะเรียกว่า “ค่านิยม” ต่างๆ นั่นเอง

ใครเห็นว่าอะไรมีค่าสำหรับตน ก็อยู่ไปเพื่อสิ่งนั้น

ปัญหาก็จะซับซ้อนเข้าไปอีกชั้นหนึ่งว่า-ก็แล้วอะไรเล่าควรจะเป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับคน?

คำตอบก็ควรมาจากพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตในโลก ๒ กลุ่มใหญ่ คือคนและสัตว์

อะไรที่สัตว์มันมีได้ทำได้ 

ถ้าคนมีได้ทำได้แค่นั้น

คนก็ไม่ดีไปกว่าสัตว์ 

สิ่งที่มีค่าสำหรับคนจึงต้องเป็นมากกว่าที่สัตว์จะมีได้ทำได้

อะไรที่คนทำได้มีได้ 

แต่สัตว์ทำไม่ได้มีไม่ได้

นั่นแหละคือสิ่งที่มีค่าสำหรับคน

คนควรมีชีวิตอยู่รอดไปเพื่อสิ่งนั้น

“สิ่งนั้น” ที่ว่านี้ท่านสมมุติเรียกกันว่า “ธรรมะ”

และธรรมะที่ว่านี้ก็มีประณีตขึ้นไปเป็นชั้นๆ

ตั้งแต่ชั้นธรรมดา คือธรรมะที่ทำให้คนสูงกว่าสัตว์

จนกระทั่งธรรมะที่ทำให้คนสูงกว่าคนด้วยกัน

สิ่งที่มีค่า หรือ “ค่านิยม” หรือ “ธรรมะ” ดังกล่าวนี้มีผู้ประกาศบอกกล่าวสั่งสอนวางลงเป็นแบบแผนมาแล้วเพื่อให้คนดำเนินตาม ที่เราเรียกกันว่า “ศาสนา” ดังกล่าวข้างต้น

ธรรมะที่ว่านี้มี ๒ ระดับ คือ –

ระดับที่ทำให้คนอยู่กับโลกนี้ต่อไปด้วยดี 

และระดับที่ทำให้คนหลุดพ้นเป็นอิสระจากโลก

………………

แนวคิดอย่างหนึ่งที่กำลังเบ่งบานอยู่ในโลกสมัยนี้-โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ ก็คือ คนเราไม่จำเป็นต้องทำตามค่านิยมเก่าๆ

แน่นอน ธรรมะ ๒ ระดับดังกล่าวนั้นก็ถูกรวมอยู่ในคำว่า “ค่านิยมเก่าๆ” ด้วย

ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายที่สุดในชีวิตประจำวันก็อย่างเช่น หลักภาษา –

คำนี้ต้องสะกดอย่างนี้ 

คำนี้ต้องอ่านอย่างนี้

แต่คนรุ่นใหม่จะสะกดไปอีกอย่างหนึ่ง 

อ่านไปอีกอย่างหนึ่ง 

ด้วยเหตุผล-คนเราไม่จำเป็นต้องทำตามค่านิยมเก่าๆ

ภาษาประเภทนี้ปัจจุบันมีเกลื่อนไปหมด จนไม่จำเป็นต้องยกตัวอย่าง

แนวคิดที่กำลังขยายตัวออกไปก็มีอีก –

พ่อแม่ไม่มีบุญคุณ 

ครูไม่มีบุญคุณ 

ชาติไม่มีบุญคุณ

ศาสนาไม่มีบุญคุณ

พระมหากษัตริย์ไม่มีบุญคุณ

ธรรมชาติ-สิ่งแวดล้อมไม่มีบุญคุณ

ฯลฯ

แนวคิดเหล่านี้ล้วนเกิดมาจากลัทธิ-คนเราไม่จำเป็นต้องทำตามค่านิยมเก่าๆ

เสรีภาพจึงเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่กำลังเชิดชูบูชาอย่างชนิดไร้ขีดจำกัด กล่าวคือ คนต้องมีเสรีภาพที่จะทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ และไม่จำเป็นต้องทำอะไรที่ไม่อยากทำ

ตัวอย่างล่าสุด-นักเรียนต้องแต่ง private ไม่ต้องแต่งชุดนักเรียน

มีตัวอย่างเล็กๆ แต่ถ้าคิดไป จะยิ่งใหญ่มหึมา

นั่นคือ แนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องให้ทำแท้งได้อย่างเสรี

ทุกวันนี้บ้านเมืองเรามีกฎหมายควบคุมการทำแท้ง

การทำแท้งด้วยเหตุผลบางอย่าง เช่นเหตุผลทางด้านสุขภาพ กฎหมายเปิดช่องให้ทำได้

แต่คนรุ่นใหม่เรียกร้องให้ทำแท้งได้อย่างเสรี

การทำแท้งมีเหตุผลหลัก ๒ อย่าง คือ –

๑ เหตุผลทางวัฒนธรรม: กรณีสตรียังไม่ได้แต่งงานตั้งครรภ์ “ท้องไม่มีพ่อ” เป็นเรื่องน่าอับอาย

๒ เหตุผลทางเศรษฐกิจ: กรณีที่ไม่สามารถเลี้ยงดูลูกที่จะเกิดมาได้ “ไม่พร้อมที่จะมีลูก”

เหตุผลทางวัฒนธรรมนั้นมีแนวโน้มจะแผ่วลงไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลที่เนื่องมาจากแนวคิด- “คนเราไม่จำเป็นต้องทำตามค่านิยมเก่าๆ” 

นั่นก็คือ จากที่เคยถือว่าท้องไม่มีพ่อน่าอับอาย ต่อไปคนจะเลิกถือ (ทำนองเดียวกับสมัยก่อนแต่งแล้วหย่าถือว่าผิดปกติ สมัยนี้แต่งแล้วหย่าถือว่าปกติ แต่งแล้วไม่หย่าสิผิดปกติ!) 

เมื่อเลิกถือกันมากเข้า ท้องไม่มีพ่อก็จะเป็นเรื่องปกติ 

เมื่อเป็นเรื่องปกติ ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องทำแท้งเพราะอับอาย 

ถึงตอนนั้นการทำแท้งก็จะมีเหตุผลเดียว คือ-อยากสนุกกันอย่างเดียว แต่ไม่อยากมีลูก

จะเห็นได้ว่า แนวคิดทำแท้งเสรีก็คือแนวคิดที่จะได้ “สนุกกัน” อย่างเสรีนั่นเอง

แต่ถ้าคิดต่อไปอีกจะเห็นอะไรที่ลึกกว่านั้น

นั่นก็คือ ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตในโลกนี้ พืชและสัตว์มันจะไม่ฆ่าลูกของมันเอง เพราะลูกคือสิ่งที่ต้องการในการสืบพันธุ์ 

พืชและสัตว์บางชนิด “ลูกฆ่าแม่” คือพอมีลูก แม่ก็ตาย 

อันที่จริงจะเรียกว่าลูกฆ่าแม่ก็ไม่ถูกนัก เมื่อแม่ทำหน้าที่ของแม่เสร็จแล้ว ก็หมดหน้าที่ เมื่อไม่มีหน้าที่อะไรอีกก็ไม่จำเป็นจะต้องอยู่ต่อไป เป็นกฎธรรมดาอยู่แล้ว 

ตรงนี้ พืชและสัตว์สอนคนให้ตระหนักว่า เมื่อจะอยู่เป็นคนต่อไป ต้องมีหน้าที่ และต้องทำหน้าที่

เมื่อพืชและสัตว์มันไม่ฆ่าลูกของมันเอง 

การทำแท้งเสรีบอกอะไรเรา?

บอกว่าคนกับสัตว์พอๆ กัน

บอกว่าคนประเสริฐกว่าสัตว์

หรือบอกว่าสัตว์ประเสริฐกว่าคน-ตรงที่คนฆ่าลูกได้อยางเสรี แต่สัตว์มันไม่ฆ่าลูกของมัน

ตรงนี้แหละครับที่ผมบอกว่า-การทำแท้งเสรี ถ้าคิดไปจะยิ่งใหญ่มหึมา

เพราะเป็นการประกาศว่า นี่เป็นการกระทำที่แสดงว่าคนเรานี่เลวกว่าสัตว์เสียอีก

และตัวอย่างเล็กๆ นี้สามารถใช้เป็นแนวเทียบในกรณีอื่นๆ ได้ด้วย

ในโลกปัจจุบันที่ผู้คนเชิดชูบูชาเสรีภาพ พากันปลดแอกค่านิยมเก่าๆ โลดแล่นไปข้างหน้า แล้วภาคภูมิใจว่าเรามีอิสระ มีเสรี มีความเจริญรุ่งโรจน์โชตนาการยิ่งนักนั้น

เคยเฉลียวใจกันบ้างหรือไม่ว่า เรากำลังโลดแล่นไปข้างหน้า หรือว่าที่จริงแล้วเรากำลังถอยหลังกลับไปอยู่ในระดับเดียวกับพืชกับสัตว์ หรือบางทีอาจต่ำทรามยิ่งไปกว่า-ด้วยซ้ำไป

………….

ผมนำร่องมาส่งท่านเทียบท่าแล้ว

ต่อไปนี้ก็เป็นหน้าที่ของท่านที่จะเดินทางต่อไปตามที่ท่านปรารถนา

ขอให้โชคดี และได้พบสิ่งที่มีค่าสำหรับท่าน-ทุกคนนะครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๓

๑๕:๓๙ 

…………………………

สตรีกับดอกไม้ (๑) 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………….

สตรีกับดอกไม้ (๑๔) 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *