สตรีกับดอกไม้
สตรีกับดอกไม้ (๓)
สตรีกับดอกไม้ (๓)
—————————–
และคิดต่อไปถึงศีลกับธรรม
……………………
สตรีเหมือนดอกไม้
……………………
ขอพักปัญหาเรื่องทำอย่างไรนางในดวงใจที่เป็นสาวสวยบริสุทธิ์จึงจะมีสรรพคุณเหมือนกระดังงาลนไฟไว้เพียงแค่นี้
ท่านผู้ใดจะคิดต่อไปหรือไม่คิด ก็เชิญตามอัธยาศัย
ที่ผมยกเรื่องนี้มาปรารภก็เพื่อเป็นบทนำเข้าสู่ประเด็นที่ตั้งไว้ว่า “สตรีกับดอกไม้” เท่านั้นเอง เพียงแต่อาจจะนำนานไปหรือนำยาวไปหน่อย
…………
ดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับกันไปทั่วโลกมนุษย์ว่า สตรีกับดอกไม้เป็นของคู่กันในหลายๆ แง่มุม
ในที่นี้ผมจะขอชวนท่านคิดใน ๒ แง่มุม คือ –
สตรีเหมือนดอกไม้
และ สตรีมักชอบดอกไม้
ค่านิยมการตั้งชื่อคนตามวัฒนธรรมไทย เป็นพยานยืนยันได้อย่างหนึ่งว่า คนไทยยอมรับว่าสตรีเหมือนดอกไม้
เรานิยมเอาชื่อดอกไม้ไปตั้งเป็นชื่อสตรี หรือจะพูดใหม่ว่า นิยมตั้งชื่อสตรีตามชื่อดอกไม้ ก็คงได้ความเท่ากัน
กาหลง ชงโค
โยทะกา ราตรี
บุหงา มาลี
จำปี จำปา สารภี
ถ้าบอกว่านี่เป็นชื่อคน เราก็รู้ได้เลยว่าเจ้าของชื่อเป็นผู้หญิง
ดอกไม้เป็นตัวแทนหรือเป็นสัญลักษณ์ของความสวยงามฉันใด
สตรีก็เป็นฉันนั้น
ธรรมชาติสร้างสตรีเพศขึ้นมาก็เพื่อให้เป็นความสวยงามของมนุษยชาตินั่นเอง
ถ้าโลกนี้ไม่มีสตรี เราก็คงไม่รู้ว่าจะไปมองหาความสวยงามในหมู่มนุษย์กันที่ไหน
นี่เป็นสัจธรรม คือความเป็นจริงอย่างหนึ่งของโลก
อีกประการหนึ่ง เมื่อความเป็นจริงสตรีเป็นความสวยงามของมนุษยชาติเช่นนั้น ธรรมชาติของสตรีจึงเป็นเพศที่มักจะรักดอกไม้
และดอกไม้ก็เป็นสัญลักษณ์แห่งความสวยงาม
ก็จึงเท่ากับบอกว่า สตรีเป็นเพศที่รักสวยรักงามนั่นเอง
เพราะฉะนั้น จะว่าไปแล้วทั้ง ๒ แง่มุมนี้ (สตรีเหมือนดอกไม้ และสตรีมักชอบดอกไม้) ก็เป็นแง่มุมเดียวกันนั่นเอง คือธรรมชาติของสตรีต้องงามเหมือนดอกไม้ คือสีสวย และกลิ่นหอม
พิจารณาในแง่สวยและหอม ดอกไม้ในโลกนี้ก็มีอยู่ ๔ ชนิด คือ –
สวยแต่ไม่หอม
หอมแต่ไม่สวย
ทั้งสวยทั้งหอม
ไม่สวยไม่หอม
สตรีในโลกนี้ก็มี ๔ ประเภทเช่นเดียวกัน ท่านคงสามารถจำแนกประเภทโดยเปรียบเทียบกับดอกไม้ได้เอง จึงขอผ่านประเด็นนี้ไป
เราคงประจักษ์สัจธรรมที่ว่า “สตรีเป็นเพศที่รักสวยรักงาม” กันอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน
ผมเชื่อว่าไม่มีสตรีคนไหนที่ไม่รักสวยรักงาม
ความรักสวยรักงามนั้นแสดงออกชัดเจนที่การแต่งตัว
เพราะสัจธรรมเป็นเช่นนี้ คำที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนหน้าที่ของสามีที่จะพึงปฏิบัติต่อภรรยา จึงมีอยู่ประการหนึ่งว่า “ให้เครื่องแต่งตัว” (อลงฺการานุปฺปทาเนน)
ปัญหาน่าคิดมีอยู่ว่า สตรีแต่งตัวให้สวยงามเพื่ออะไร?
โปรดอย่าลืมว่า ธรรมชาติที่รักสวยรักงามเป็น “เหตุ” ให้สตรีชอบแต่งตัวให้สวยงาม
ปัญหาน่าคิดก็คือ แล้ว “ผล” ที่ต้องการในการแต่งตัวให้สวยงามนั้นคืออะไร?
เพราะเหตุจะไม่มีผลไม่ได้
และผลจะไม่มาจากเหตุก็ไม่ได้
จะตอบปัญหานี้ให้ถูกต้องตรงตามสัจธรรมได้ ก็ต้องไม่ลืมคิดถึงธรรมชาติของดอกไม้ เพราะเรายอมรับกันแล้วว่า สตรีกับดอกไม้เป็นของคู่กัน
(มีต่อ)
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๓
๑๓:๓๙
………………………….
สตรีกับดอกไม้ (๔)
…………………………
สตรีกับดอกไม้ (๒)