บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

โลณผลสูตร-ว่าด้วยการละลายกรรม

โลณผลสูตร-ว่าด้วยการละลายกรรม (๔)

———————————-

คือการทำผลกรรมให้เจือจาง

………………….

คำแนะนำ:

บทความเรื่องนี้มี ๔ ตอน

ควรอ่านจากเครื่องคอมพิวเตอร์

หรืออุปกรณ์อย่างอื่นที่หน้าจอกว้างกว่าโทรศัพท์

………………….

เงื่อนไขของการละลายกรรมอยู่ในพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ ดังนี้ – 

………………….

อิธ ภิกฺขเว เอกจฺโจ ปุคฺคโล อภาวิตกาโย  โหติ  อภาวิตสีโล  อภาวิตจิตฺโต  อภาวิตปญฺโญ  ปริตฺโต  อปฺปตุโม  อปฺปทุกฺขวิหารี  เอวรูปสฺส  ภิกฺขเว  ปุคฺคลสฺส  อปฺปมตฺตกมฺปิ  ปาปกมฺมํ  กตํ  ตเมนํ  นิรยํ  อุปเนติ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา มีคุณน้อย มีอัตภาพเล็ก มีปรกติอยู่เป็นทุกข์เพราะวิบากเล็กน้อย บุคคลเห็นปานนี้ทำบาปกรรมแม้เล็กน้อย บาปกรรมนั้นก็นำเขาเข้านรก 

อิธ  ภิกฺขเว  เอกจฺโจ  ปุคฺคโล  ภาวิตกาโย  โหติ  ภาวิตสีโล  ภาวิตจิตฺโต  ภาวิตปญฺโญ  อปริตฺโต  มหตฺตา  อปฺปมาณวิหารี  เอวรูปสฺส  ภิกฺขเว  ปุคฺคลสฺส  ตาทิสํเยว  อปฺปมตฺตกํ  ปาปกมฺมํ  กตํ  ทิฏฺฐธมฺมเวทนียํ  โหติ  นานุปิ  ขายติ  พหุเทว.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้อบรมกาย อบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญา มีคุณไม่น้อย มีอัตภาพใหญ่ มีธรรมเป็นเครื่องอยู่หาประมาณมิได้ บุคคลเช่นนี้ทำบาปกรรมเล็กน้อยเช่นนั้นเหมือนกัน บาปกรรมนั้นให้ผลในชาติปัจจุบัน แต่ส่วนน้อยไม่ปรากฏ ปรากฏเฉพาะแต่ส่วนมาก 

………………….

สรุปก็คือ ต้องมีความดีมากพอ แม้บาปจะแสดงผลก็ไม่กระทบกระเทือนอะไร เรียกว่ามีภูมิคุ้มกันดี

ที่ว่ามีความดีมากพอ คือมีความดีแบบไหน ทำอย่างไร? 

มีพระพุทธดำรัสตรัสไว้ดังนี้ – 

ภาวิตกาโย แปลว่า “อบรมกาย” 

ไม่ใช่เพาะกาย หรือบริหารร่างกายให้แข็งแรง ให้มีสุขภาพดี อันนั้นเป็นเพียงส่วนประกอบ 

อบรมกาย” หมายถึงควบคุมพฤติกรรม-การกระทำของตัวให้อยู่ในกรอบแห่งคุณธรรมอันดีงาม

พูดสั้นๆ อย่าทำชั่วทุกชนิด 

ภาวิตสีโล แปลว่า “อบรมศีล” 

คือรักษาศีล ยังไม่รู้ว่าศีลคืออะไร ก็เรียนรู้เสีย หรือรู้แล้วแต่ไม่คิดจะรักษาเพราะไม่เห็นประโยชน์ ก็คิดเสีย 

ศีล ไม่ใช่ข้อห้าม หรือ “ห้ามทำ

แต่ศีลคือความสมัครใจ หรือเต็มใจที่จะ “ไม่ทำ” เรื่องนั้นๆ เพราะเห็นโทษของการกระทำนั้นๆ

ไม่มีใครมาห้ามเราไม่ให้ทำ

แต่เราสมัครใจเองที่จะไม่ทำ

ภาวิตจิตฺโต แปลว่า “อบรมจิต” 

คือประคองจิตให้ดิ่ง ให้นิ่ง ให้ผ่องใสเบิกบานอยู่กับอารมณ์อันเป็นกุศล

ภาวิตปญฺโญ แปลว่า “อบรมปัญญา” 

ปัญญา-ไม่ได้หมายถึงสมองดี เรียนเก่ง คิดเลขเร็ว พูดได้หลายภาษา ฯลฯ 

แต่ปัญญาหมายถึงไม่หลงผิด ไม่เข้าใจผิด รู้เข้าใจสภาพต่างๆ ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง ตามคำพระที่ว่า – ยถาภูตํ ปชานาติ รู้แจ้งตามความเป็นจริง 

เริ่มตั้งแต่คำจำกัดความไปเลย-ที่ว่า “ความเป็นจริง” นั้น คืออะไร จะได้ไม่ไปหลงยึดเอา “ความไม่เป็นจริง” มาคิดเอาเองว่านี่แหละคือความเป็นจริง

อปริตฺโต แปลว่า “มีคุณธรรมไม่น้อย” 

มหตฺตา แปลตามศัพท์ว่า “มีตนใหญ่” หมายถึง “มีคุณธรรมมาก” 

สองข้อนี้เป็นคำไขของกันและกัน บางคนมีคุณธรรมไม่น้อย แต่ก็ไม่มาก คล้ายๆ-ความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฏ แบบนั้นยังไม่พอ 

นอกจากความชั่วไม่มีแล้ว ความดีต้องมากด้วย 

คุณธรรมเหมือนน้ำในตุ่ม 

มีคุณธรรมไม่น้อย” คืออย่าให้น้ำในตุ่มเหลือน้อย

มีคุณธรรมมาก” คือตักเติมให้เต็มตุ่มเข้าไว้ 

ความดีใดๆ ที่ทำอยู่แล้ว ทำให้มากขึ้น

ความดีใดๆ ที่ยังไม่เคยทำ ขวนขวายทำเพิ่มขึ้น

อปฺปมาณวิหารี แปลว่า “ครองชีพอยู่ด้วยความดีอันไม่มีขอบเขต” 

ปฏิบัติตามหลักที่ว่า-“กุสเลสุ อสนฺตุฏฺฐี” = อย่าสันโดษในกุศล แปลเป็นภาษารถยนต์ว่า-ทำความดีอย่ามัวแต่ใส่เบรก

บางคนถือหลักว่า-แค่นี้พอแล้ว ทำตามกำลัง 

ความจริงยังมีกำลังพอที่จะทำให้มากขึ้นไปอีก แต่ไม่ทำ 

แบบนี้ก็ยังไม่เข้าเงื่อนไข 

อนาถบิณฑิกเศรษฐีล้มละลายแล้วยังไม่เลิกเลี้ยงพระ

ไม่ใช่ไม่รู้จักประมาณหรือไม่เจียมตัว แต่ทำเพราะรู้ตัวว่ายังสามารถทำได้ ไม่เดือดร้อน เพียงแต่ว่าอาจจะมีสุขน้อยลงกว่าเดิม เป็นลักษณะของคนจริง คนกล้า คนที่ตั้งใจอุทิศชีวิตให้แก่คุณธรรมความดีอย่างแท้จริง

ปฏิบัติได้ครบตามนี้ เท่ากับมีภูมิคุ้มกัน มีภูมิต้านทาน

หน้ากากกันฝุ่นคุณภาพดีป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้ดีจริงฉันใด

บำเพ็ญตนให้มีคุณธรรมทั้ง ๗ ประการครบถ้วนบริบูรณ์ ก็สามารถละลายกรรมและป้องกันทุกข์ได้จริงฉันนั้น

………….

แต่ต้องทำความเข้าใจให้ถูกอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ ในขณะที่ทำกรรมนั้นๆ ต้องบำเพ็ญคุณธรรมเหล่านี้มาสมบูรณ์พอแล้ว คุณธรรมเหล่านี้จึงจะละลายผลกรรมให้เจือจางบางเบาได้ 

ไม่ใช่ว่าตอนทำชั่วไม่ได้มีความดีใดๆ อยู่ในชีวิตเลย

ทำชั่วเสร็จแล้วมาทำความดีแก้

อย่างนี้ไม่สำเร็จแน่ 

ที่พูดกันเชื่อกันเรื่อง “แก้กรรม” นั้น ส่วนมากเป็นแบบนี้-คือทำชั่วเสร็จแล้วมาทำความดีแก้ 

โปรดทราบว่าไม่ถูกหลักนะครับ

อุปมาเหมือนรับฝุ่นพิษ ในขณะที่รับฝุ่นนั้นต้องมีภูมิต้านทานอยู่พร้อมแล้ว จึงจะไม่เกิดเป็นพิษหรือเกิดโรค

ไม่ใช่ว่ารับฝุ่นเข้าไปเต็มๆ แล้วจึงมาคิดสร้างภูมิต้านทานเอาทีหลัง

พระมหาโมคคัลลานเถระท่านเป็นพระอรหันต์บรรลุธรรมสูงสุดในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่พระอรหันต์ธรรมดา เป็นถึงพระทุติยอัครสาวก อันดับสองรองจากพระสารีบุตร และที่สำคัญเป็นเลิศในทางมีฤทธิ์ 

แต่ท่านก็ถูกผู้ร้ายทุบจนดับขันธ์ เพราะผลกรรมคือท่านเคยทุบพ่อแม่จนตายในอดีตชาติ

ในขณะที่ทำกรรมคือทุบพ่อแม่จนตาย ท่านไม่มีคุณธรรมความดีในตัวมากพอที่จะละลายผลกรรม ท่านก็จึงต้องรับผลกรรมไปเต็มๆ

ท่านเป็นเลิศทางฤทธิ์ ทำไมไม่ใช้ฤทธิ์แก้กรรม

ท่านปฏิบัติธรรมจนสิ้นกิเลส ทำไมจึงแก้กรรมไม่ได้ 

เราท่านเป็นคนธรรมดาไม่มีฤทธิ์เดช ซ้ำยังมีกิเลสท่วมหัว ยังเชื่อว่าจะแก้กรรมได้อยู่อีกหรือ

รับฝุ่นมาด้วยกัน พอๆ กัน

คนหนึ่งป่วย 

คนหนึ่งไม่ป่วย 

จะว่ายังไง

และที่ป่วย บางคนป่วยน้อย 

บางคนป่วยหนัก 

จะว่ายังไง

ส่วนที่ไม่ป่วย บางคนไม่ป่วยตลอดไป

บางคนเพิ่งมาออกอาการป่วยเอาทีหลัง

จะว่ายังไง

เพราะภูมิต้านทานของแต่ละคนไม่เท่ากัน

ภูมิต้านทานทางกายฉันใด

ภูมิต้านทานทางใจก็ฉันนั้น

กรรมที่ทำไปแล้ว แล้วกันไป หมายความว่าจงยอมรับผลแต่โดยดี ไม่ต้องคิดหลบ หลีก เลี่ยง หรือแก้กรรม 

จงเตรียมใจรับแรงกระแทก-รับผลกระทบ

ที่จะทำใหม่หรือที่จะทำต่อไปนี่ต่างหากที่สำคัญ

ก่อนจะทำความชั่ว จงตรวจดูว่าในตัวมีภูมิต้านทานเพียงพอแล้วหรือยัง

ยังไม่มีภูมิต้านทานในใจ แล้วไปทำชั่วเข้า โดนแน่ๆ

ยังไม่มีภูมิต้านทานในตัว แล้วไปสูดฝุ่นพิษเข้า ป่วยแน่ๆ

คุณธรรมความดีคือภูมิต้านทางใจ 

ยังไม่เคยทำ ทำซะ

ยังไม่เคยคิด คิดซะ

รีบคิดรีบลงมือทำ

อย่ารอให้เห็นผลกรรมแล้วจึงคิด

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๗ มกราคม ๒๕๖๓

๑๑:๔๐

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *