บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๑)

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๗) 

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๗) 

———————–

………………………….

๘ และถ้ากับแผ่นดิน คิดว่าไม่มีค่ะ

………………………….

ข้อความในประเด็นนี้สืบต่อมาจากประเด็นก่อนๆ ถ้าอ่านเฉพาะตัวหนังสือเท่าที่เห็นอาจไม่เข้าใจ 

ความหมายของข้อความนี้ก็คือ แผ่นดินหรือประเทศชาติบ้านเมืองที่เราเกิดมาหรืออยู่อาศัยทุกวันนี้ไม่มีบุญคุณอะไรกับเรา

ประเด็นนี้ต้องขึ้นอยู่กับวิธีคิด หรือจะเรียกว่า “ระดับจิต” ของแต่ละคนก็ได้ 

เรื่องจริงที่พอจะเป็นตัวอย่างชี้ให้เห็นถึงวิธีคิดหรือระดับจิตของมนุษย์ก็คือ ข้อปฏิบัติของคนจีนที่อพยพมาอยู่เมืองไทยในอดีต 

เป็นที่รู้กันว่า คนจีนแทบทั้งหมดที่มาอยู่เมืองไทยในอดีต มาอย่างที่เรียกกันเป็นสำนวนว่า “เสื่อผืนหมอนใบ” 

มาถึงก็ทำมาหากินอย่างชนิดปากกัดตีนถีบ หนักเอาเบาสู้ งานสุจริตสารพัดทำได้หมด ที่เรียกเป็นภาษาจีนว่า “จับกัง” ซึ่งแปลตามตัวว่า “งานสิบอย่าง” เรื่องหนักเรื่องเหนื่อยไม่ต้องพูด 

งานชนิดหนึ่งที่คนจีนเลือกทำกันมาก คือขายขวด คือเที่ยวซื้อขวดมาขาย อุปกรณ์ก็มีแค่หลัว (ภาชนะสานรูปคล้ายทรงกระบอก ก้นสอบปากผาย มีหูที่ขอบปาก ๒ ข้าง) คู่หนึ่ง กับไม้คานอันหนึ่ง วิธีการก็คือหาบหลัวตระเวนไปตามบ้านคน รับซื้อขวดทุกชนิด เมื่อได้จำนวนมากพอแล้วก็เอาไปขายส่งให้แหล่งรับซื้ออีกทีหนึ่ง 

สมัยผมเป็นเด็ก คำว่า “เจ๊กขายขวด” เป็นที่รู้จักกันดี เด็กเล็กๆ จะกลัวมาก กำลังร้องงอแง ผู้ใหญ่ขู่ว่า “เจ๊กขายขวดมา” จะหยุดร้องทันที 

จนถึงวันนี้ ผมก็ยังแว่วเสียงคำไทยสำเนียงจีน – “มีขวกมาขาย” ติดหูอยู่

เรื่องที่บอกเล่ากันมาไม่ขาดก็คือ คนจีนที่ทำอาชีพขายขวดตั้งเนื้อตั้งตัวได้จนเป็นเถ้าแก่ ก็จะเก็บรักษาไม้คานที่ใช้หาบหลัวไว้เป็นอย่างดี บางคนถึงกับปิดทองใส่ตู้แล้วกราบไหว้ไม้คานทุกวัน ด้วยคิดถึงบุญคุณของไม้คานที่ช่วยทำให้ตั้งตัวได้ 

แค่ไม้คานอันเดียว คนที่มีกตัญญูเขายังสำนึกถึงบุญคุณ

นี่แผ่นดินถิ่นเกิดที่ให้กำเนิดชีวิตแท้ๆ เป็นที่อยู่อาศัย มิใช่เฉพาะของตัวเองชีวิตเดียว หากแต่ของบรรพบุรุษทั้งตระกูล 

คนที่พูดว่า “และถ้ากับแผ่นดิน คิดว่าไม่มีค่ะ” ซึ่งแปลว่า แผ่นดินถิ่นเกิดไม่มีบุญคุณอะไรกับเรา – ช่างอหังการเสียนี่กระไร

………………………

ในพระไตรปิฎก คัมภีร์เปตวัตถุ มีภาษิตแสดงไว้ว่า – 

………………………

ยสฺเสกรตฺตึ หิ ฆเร วเสยฺย 

ยตฺถนฺนปานํ ปุริโส ลเภถ 

น ตสฺส ปาปํ มนสาปิ เจตเย 

กตญฺญุตา สปฺปุริเสหิ วณฺณิตา.

พักอยู่ในเรือนของผู้ใดแม้เพียงราตรีเดียว 

หรือได้ข้าวน้ำในเรือนใด 

ไม่ควรคิดชั่วต่อผู้นั้นเรือนนั้นแม้ชั่วขณะจิต

สัปบุรุษสรรเสริญความเป็นผู้กตัญญู 

และว่า —

ยสฺเสกรตฺตึปิ ฆเร วเสยฺย 

อนฺเนน ปาเนน อุปฏฺฐิโต สิยา 

น ตสฺส ปาปํ มนสาปิ เจตเย 

อทุพฺภปาณี ทหเต มิตฺตทุพฺภึ.

พักอยู่ในเรือนของผู้ใดแม้เพียงราตรีเดียว 

ได้รับการปรนนิบัติบำรุงด้วยข้าวน้ำในเรือนใด

ไม่ควรคิดชั่วต่อผู้นั้นเรือนนั้นแม้ชั่วขณะจิต

(ผลกรรมที่ทำกับ) คนไม่ทำร้ายใครย่อมแผดเผาคนคิดร้ายต่อผู้มีไมตรี

………………………

และอย่าว่าถึงได้อยู่ได้กินในบ้านเรือนเลย แม้เพียงไปพักใต้ร่มไม้ ท่านยังสอนว่า – 

………………………

ยสฺส รุกฺขสฺส ฉายาย

นิสีเทยฺย สเยยฺย วา

น ตสฺส สาขํ ภญฺเชยฺย

มิตฺตทุพฺโภ หิ ปาปโก. 

ร่มเงาของต้นไม้ใด

บุคคลอาศัยนั่งนอน

ไม่ควรหักก้านรานกิ่งของต้นไม้นั้น

ผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวแท้

ยสฺส รุกฺขสฺส ฉายาย

นิสีเทยฺย สเยยฺย วา

น ตสฺส ปตฺตํ ภินฺเทยฺย

มิตฺตทุพฺโภ หิ ปาปโก.

ร่มเงาของต้นไม้ใด

บุคคลอาศัยนั่งนอน

(อย่าว่าถึงหักก้านรานกิ่งเลย)

แม้แต่ใบของต้นไม้นั้นก็ไม่ควรเด็ด

ผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวแท้

ที่มา: เปตวัตถุ (เรื่องอังกุรเปต) พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๑๐๖

………………….

“มิตฺตทุพฺโภ” หรือ “มิตฺตทุพฺภี” นักเรียนบาลีแปลกันว่า “ผู้ประทุษร้ายมิตร” แต่ว่าโดยความหมายอย่างละเอียดลึกซึ้งแล้ว-ไม่ได้หมายความว่าจะต้องถึงกับลงมือทำร้ายทำอันตรายผู้มีไมตรี แม้เพียงการมองไม่เห็นไมตรีคือความดีงามของผู้คนและสิ่งแวดล้อม ก็อยู่ในความหมาย “ผู้ประทุษร้ายมิตร” เช่นกัน

บ้านเรือนที่เพียงแค่นอนพักคืนเดียว ท่านยังสอนให้ระลึกถึงบุญคุณ

แต่นี่แผ่นดินถิ่นเกิดที่อาศัยกินอยู่หลับนอนดำรงชีพมาชั่วชีวิต … บอกว่า-ไม่มีบุญคุณอะไร

ถ้าแนวคิดนี้ถูกต้องเหมาะสม ควรนิยมนำไปยึดถือปฏิบัติ แผ่นดินถิ่นเกิดก็มีความหมายเพียงเป็นที่อาศัยเสพสุขวันต่อวันเท่านั้น

คนต่างจังหวัดที่มาทำงานในกรุง บัดนี้ก็ไม่ต้องกลับบ้าน

บ้านไม่มีบุญคุณอะไร จะต้องกลับไปทำไม 

โรงเรียนที่เคยเรียนตอนเป็นเด็ก ก็ไม่มีบุญคุณอะไร

สถาบันการศึกษาที่เคยเป็นที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ในระดับชั้นต่างๆ ของบุคคลทุกสาขาอาชีพ ก็ไม่มีบุญคุณอะไร

ชมรม-สมาคมศิษย์เก่า-ที่ต่อท้ายด้วยนามสถาบันการศึกษาต่างๆ ก็ตั้งขึ้นมาอย่างไร้สาระ เพราะสถาบันการศึกษาไม่ได้มีบุญคุณอะไร

………..

มองไปทางด้านพระศาสนา 

วัดวาอาวาสที่เคยเป็นที่อาศัยบวชเรียนตั้งแต่สมัยเป็นสามเณร ก็ไม่มีบุญคุณอะไร ไม่ต้องหวนกลับไปหา ไม่จำเป็นต้องกลับไปเยี่ยมไปกราบพระอุปัชฌาย์อาจารย์ เพราะครูบาอาจารย์ก็ไม่ได้มีบุญคุณอะไรอยู่แล้ว

วัดต่างจังหวัดที่เคยอยู่ก่อนจะเข้ามาเรียนบาลี เรียน มจร เรียน มมร ในกรุงเทพฯ ก็ไม่จำเป็นต้องคิดถึง เพราะไม่มีบุญคุณอะไร 

และแม้แต่วัดที่พักอาศัยจำพรรษาอยู่ ณ ปัจจุบันวันนี้เองก็ไม่มีบุญคุณอะไร เพราะเป็นเพียงที่อาศัยเสพสุขไปวันต่อวันเท่านั้นเอง ได้ดีมีสุขแล้วจะถีบหัวจากไปเสียเมื่อไรก็ได้

แผ่นดินถิ่นเกิดที่อาศัยกินอยู่หลับนอนมาชั่วชีวิต … ยังบอกได้เต็มปากเต็มคำว่า-ไม่มีบุญคุณอะไร

ก็แล้วอีแค่โรงเรียน สถาบันการศึกษา วัดเดิม บ้านเดิม และแม้แต่วัดปัจจุบันบ้านปัจจุบันที่มามี มาอยู่ที่หลังเกิด จะมามีบุญคุณอะไรกันเล่า

ความหมายของคำว่า “บ้านเรา” หรือ “บ้านเกิด” กวาดลงถังขยะไปซะ!

“บ้านเคยอยู่ อู่เคยนอน หมอนเคยหนุน บุญคุณที่เคยมีคนทำให้” ก็กวาดลงถังขยะไปด้วย-พร้อมกับคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ของเราแต่ละคน!!

ตอนต่อไป

………………………….

เทียบท่า-จบ

………………………….

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๓

๑๖:๕๒

……………………………….

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๖)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………….

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๘)-จบ

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *