บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๑)

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๘)-จบ

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๘)-จบ

———————–

………………………….

เทียบท่า-บทสรุป

………………………….

ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมามีจุดเริ่มต้นที่ “กตัญญู” 

รากเหง้าของปัญหาเกิดจากแนวความคิดที่ว่า พ่อแม่ไม่มีบุญคุณ ครูไม่มีบุญคุณ แผ่นดินถิ่นเกิดไม่มีบุญคุณ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่จำเป็นต้องกตัญญูต่อบุคคลและสิ่งเหล่านี้

ประเด็นคำถามที่ควรสังเกตเป็นพิเศษก็คือ – ทำไมเราต้องเอาความกตัญญูมาเป็นพื้นฐานด้วยคะ (ข้อ ๒)

ที่ว่าควรสังเกตก็เพราะคำถามข้อนี้มีคำตอบอยู่ในพระไตรปิฎกพอดี

มีพระพุทธพจน์ตรัสไว้ดังนี้ –

……………………………..

อสปฺปุริโส  ภิกฺขเว  อกตญฺญู  โหติ  อกตเวที,  อสพฺภิเหตํ  ภิกฺขเว  อุปญฺญาตํ  ยทิทํ  อกตญฺญุตา  อกตเวทิตา. 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษย่อมเป็นคนอกตัญญูอกตเวที ความเป็นคนอกตัญญูอกตเวทีนี้อสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญ 

เกวลา  เอสา  ภิกฺขเว  อสปฺปุริสภูมิ  ยทิทํ  อกตญฺญุตา  อกตเวทิตา.  

ก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเป็นคนอกตัญญูอกตเวทีนี้เป็นภูมิอสัตบุรุษทั้งสิ้น 

สปฺปุริโส  จ  โข  ภิกฺขเว  กตญฺญู  โหติ  กตเวที,  สพฺภิเหตํ  ภิกฺขเว  อุปญฺญาตํ  ยทิทํ  กตญฺญุตา  กตเวทิตา. 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนสัตบุรุษย่อมเป็นคนกตัญญูกตเวที ความเป็นคนกตัญญูกตเวทีนี้สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญ 

เกวลา  เอสา  ภิกฺขเว  สปฺปุริสภูมิ  ยทิทํ  กตญฺญุตา  กตเวทิตา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเป็นคนกตัญญูกตเวทีนี้เป็นภูมิสัตบุรุษทั้งสิ้น

ที่มา: คัมภีร์อังคุตรนิกาย ทุกะนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๒๗๗

……………………………..

สรุปความในพระสูตรนี้ว่า –

อกตัญญูอกตเวทีเป็นภูมิอสัตบุรุษ 

กตัญญูกตเวทีเป็นภูมิสัตบุรุษ 

คำว่า “ภูมิ” แปลตรงตัวว่า “พื้นฐาน”

คำว่า “อสัตบุรุษ” (บาลีว่า “อสปฺปุริส” อะ-สับ-ปุ-ริ-สะ) แปลว่า “คนไม่ดี”

คำว่า “สัตบุรุษ” (บาลีว่า “สปฺปุริส” สับ-ปุ-ริ-สะ) แปลว่า “คนดี”

คำว่า “ปุริส” หรือ “บุรุษ” นั้น ไม่ได้หมายถึงเฉพาะผู้ชายอย่างที่เข้าใจกันในภาษาไทย แต่หมายถึง “คน” ทั้งชายทั้งหญิง

คนดี-คนไม่ดี ใช้อะไรเป็นเกณฑ์วัด

ใช้พื้นฐานเป็นเกณฑ์

แล้วอะไรคือพื้นฐาน

กตัญญูและอกตัญญูคือพื้นฐาน

กตัญญูเป็นพื้นฐานของคนดี

อกตัญญูเป็นพื้นฐานของคนไม่ดี

……………………………..

หมายเหตุ: พึงทราบว่า คำว่า “กตัญญู” ในบทความนี้ใช้ในความหมายของ “กตัญญุตา” ด้วย คำว่า “อกตัญญู” ก็เช่นกัน

……………………………..

หลักคิดเบื้องต้น ท่านให้เอาความเหมือนกันระหว่างคนกับสัตว์ตั้งเป็นมาตรฐาน 

สิ่งที่คนกับสัตว์ทำได้เหมือนกันท่านว่ามี ๔ อย่าง คือ กิน นอน กลัว สืบพันธุ์ 

สิ่งที่สัตว์ไม่มี แต่คนสามารถมีได้ คือ “ธรรม”

กตัญญูเป็น “ธรรม” อย่างหนึ่งที่สัตว์ไม่มี

ถ้าคนไม่มีกตัญญู คนก็จะไม่มีพื้นฐานของคนดี หมายความว่าจะทำดีอะไรๆ ต้องมีกตัญญูเป็นพื้นฐานไปก่อน 

ถ้าไม่มีกตัญญูเป็นพื้นฐาน ก็ทำดีอย่างอื่นไม่ได้หรือทำได้ยาก

นี่คือคำตอบที่ว่า – ทำไมเราต้องเอาความกตัญญูมาเป็นพื้นฐาน 

ถ้าเราไม่เอาความกตัญญูเป็นพื้นฐาน เราก็จะตกไปอยู่อีกฐานะหนึ่ง คือฐานะ “คนไม่ดี” 

“ไม่เอาความกตัญญู” ก็คือ อกตัญญู

และท่านบอกว่า อกตัญญูเป็นพื้นฐานของคนไม่ดี

———-

เรื่องที่ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องก็คือ พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนเรื่องกตัญญูเพื่อให้คนหนึ่งยอมสยบเป็นทาสรับใช้ของอีกคนหนึ่ง-อย่างที่มองกันอย่างผิดๆ

กตัญญู แปลว่า “รู้คุณ” เป็นการสอนคนให้รู้จักยอมรับในคุณความดีของคนและของสิ่งแวดล้อม

เมื่อยอมรับแล้วก็จะปฏิบัติต่อคนนั้นสิ่งนั้นอย่างถูกต้องเหมาะสมแก่คุณความดีที่คนนั้นสิ่งนั้นมีอยู่

เพราะการอยู่ร่วมกัน ถ้าอยู่แบบไม่รับรู้และไม่เคารพในคุณความดีของกันและกัน คนก็จะอยู่กันเหมือนสัตว์

สัตว์มันยอมรับกันที่ศักยภาพทางร่างกาย คือรูปร่างใหญ่โตกว่า แข็งแรงกว่า ดุกว่า กัดจิกทำร้ายกันได้เจ็บปวดรุนแรงกว่า 

แต่เมื่อศักยภาพทางร่างกายเสื่อมลง มันก็เลิกยอมรับกัน ตัวที่ตัวอื่นเคยกลัวกลับต้องกลัวตัวอื่น 

……………………………..

ในชาดกมีเรื่องเล่าถึงสัตว์ ๓ ชนิด คือ ช้าง ลิง และนกกระทา มาอยู่ด้วยกันที่ต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง

สัตว์ทั้งสามเห็นพ้องต้องกันว่า การอยู่ร่วมกันควรจะต้องเคารพนับถือกันโดยหลักเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่ง และตกลงกันว่าควรเคารพกันตามอาวุโส คือผู้เกิดทีหลังเคารพผู้เกิดก่อน 

สัตว์ทั้งสามจึงได้ซักถามกันขึ้นโดยให้แต่ละตัวบอกอายุต้นไทรเท่าที่ตนรู้

ช้างบอกว่า เมื่อตนเป็นช้างน้อย มาหากินแถวนี้ ตนสามารถเดินคร่อมต้นไทรนี้ได้ ไทรต้นนี้สูงเพียงแค่ท้องของตน

ลิงบอกว่า เมื่อตนเป็นลิงน้อย มาหากินแถวนี้ ตนนั่งกับพื้นไม่ต้องยื่นคอก็สามารถกัดกินยอดไทรต้นนี้ได้

นกกระทาบอกว่า เมื่อก่อนไทรต้นนี้ยังไม่มี ตนไปกินผลไทร ณ ที่แห่งหนึ่ง แล้วมาถ่ายมูลไว้ที่ตรงนี้ ไทรต้นนี้จึงเกิดเพราะมูลที่ตนถ่ายไว้

เป็นอันว่า เมื่อถือเอาความสัมพันธ์กับต้นไทรเป็นเกณฑ์ นกกระทาก็อาวุโสกว่า 

ตั้งแต่นั้นมา ช้างก็เคารพลิง ช้างและลิงเคารพนกกระทา สัตว์ทั้งสามก็อยู่ด้วยกันเป็นผาสุกตราบอายุขัย

ที่มา: ติตติรชาดก เอกนิบาต ชาตกัฏฐกถา ภาค ๑ หน้า ๓๘๑-๓๘๖

……………………………..

สำหรับท่านที่นิยมลัทธิเสมอภาค ใครจะเกิดก่อนหรือใครจะมีคุณธรรมใดๆ ไม่สำคัญทั้งสิ้น พ่อแม่-ลูก ครู-ศิษย์ ผู้ใหญ่-ผู้นอย ทุกคนเท่าเทียมกันหมด ไม่จำเป็นที่ใครจะต้องเคารพใคร 

ถ้าถือตามลัทธินี้ คนก็จะอยู่กันแบบเดียวกับสัตว์ ยอมรับกันที่ศักยภาพทางร่างกายอย่างเดียว

———-

พ่อแม่ไม่มีบุญคุณ

ครูบาอาจารย์ไม่มีบุญคุณ

แผ่นดินถิ่นเกิดก็ไม่มีบุญคุณ

ถ้าล้อสำนวนบาลีก็ต้องพูดว่า 

……………………………..

เกวลปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํ อหํการํ ปกาเสสิ.

ประกาศความอหังการครบถ้วนบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง

……………………………..

วันพ่อ วันแม่ วันครู วันครอบครัว วันบูรพาจารย์ พิธีไหว้ครู รดน้ำดำหัว สงกรานต์กลับไปเยี่ยมพ่อแม่ เช็งเม้ง ไหว้บรรพบุรุษ อนุสาวรีย์บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ โบสถ์ วิหาร พระเจดีย์ พระพุทธปฏิมา ฯลฯ ฯลฯ 

เก็บกวาดออกไปจากสังคมไทยให้เกลี้ยง

โดยเฉพาะวัดอาวารามและพระพุทธปฏิมาอันเป็นสื่อให้ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นน่าจะมีอยู่ในแผ่นดินไทยไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าเป็นต้นแบบต้นน้ำแหล่งคำสอนเรื่องกตัญญูกตเวที คำสอนให้รู้จักคุณของพ่อแม่ คุณของครูอุปัชฌาย์อาจารย์ คุณของแผ่นดิน คุณของต้นไม้ อันเป็นคำสอนที่ขัดแย้งโดยตรงกับทฤฤษฎีพ่อแม่ไม่มีบุญคุณ ครูไม่มีบุญคุณ ประเทศชาติบ้านเมืองไม่มีบุญคุณ

ก็ต้องเก็บกวาดออกไปจากสังคมไทยให้เกลี้ยงด้วย

หลังจากนั้นเราก็จะเป็นอิสระเสรีอย่างยิ่ง ไม่ต้องถูกกดหัวให้ยอมสยบเป็นทาสกตัญญูของมันผู้ใดทั้งสิ้น

———-

การได้เกิดมาเป็นคน ถือว่าเราดีกว่าสัตว์

แต่คนก็ยังมี ๒ พวก คือคนดีกับคนไม่ดี

ถ้าไม่มีความกตัญญู เราก็จะดีกว่าสัตว์เพียงแค่ได้เกิดเป็นคนเท่านั้น

แต่ไม่มีพื้นฐานของคนดี

พิจารณาให้ถึงที่สุด เราก็แทบจะไม่ต่างไปจากสัตว์ด้วยซ้ำไป

เห็นหรือไม่ว่า – ทำไมเราต้องเอาความกตัญญูมาเป็นพื้นฐาน 

ถ้าไม่เอาความกตัญญูเป็นพื้นฐาน เราก็จะเป็นอิสระเสรีอย่างที่ว่ามา 

แต่ก็จะเป็นอิสระเสรีแบบเดียวกับที่สัตว์ทั้งหลายมันก็เป็นเช่นนั้นอยู่ตลอดมาและจะตลอดไป นั่นคือ มองไม่รู้ ดูไม่เห็น คิดไม่เป็น ทำไม่ถูก ว่า —

อะไรดีอะไรชั่ว 

อะไรถูกอะไรผิด 

อะไรมีคุณอะไรไม่มีคุณ 

อะไรเป็นทางเจริญอะไรเป็นทางเสื่อม 

อะไรเป็นสาระของการที่ได้มีชีวิตเกิดมาและเป็นอยู่ และอะไรที่เป็นสิ่งไร้สาระ

จะเลือกอยู่ร่วมกันอย่างสัตว์

จะเลือกอยู่ร่วมกันอย่างคนไม่ดี

หรือจะเลือกอยู่ร่วมกันอย่างคนดี 

ขึ้นอยู่กับวิธีคิดของเราเอง 

ถ้าเราเลือกที่จะมีอิสระเสรี

เราก็มีอิสระเสรีที่จะเลือก

เลือกเอาสิ!

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๓

๑๘:๒๙

……………………………….

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๗)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………….

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๑)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *