บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๑)

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๒)

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๒)

———————–

………………………….

๑ กตัญญูแปลว่าอะไรคะ 

………………………….

ภาษาที่ใช้ในประเด็นนี้ ฟัง “หางเสียง” ก็เข้าใจได้ทันทีว่าไม่ใช่คำถามเพื่อหาความรู้ความเข้าใจ แต่เป็นการถามเพื่อหาเรื่องดูถูก คือดูถูกว่า “กตัญญู” นั้นเป็นเรื่องไร้สาระ 

เหมือนเรายื่นของสิ่งหนึ่งให้แก่ใครคนหนึ่ง แต่ใครคนนั้นเห็นว่าของสิ่งนั้นไม่มีประโยชน์หรือไร้ค่าสำหรับเขา ทั้งๆ ที่เขาก็รู้จักว่าของสิ่งนั้นคืออะไร แต่เขาก็จะพูดว่า “นี่อะไร เอามาทำไม” ซึ่งเป็นคำดูถูกสิ่งที่เรายื่นให้นั้น 

แต่เอาเถิด ผมจะทำเป็นรู้ไม่ทัน จะคิดว่าเป็นคำถามซื่อๆ ถามเพราะความอยากรู้อยากเข้าใจโดยซื่อ ผมก็จะอธิบายแบบซื่อๆ 

กตัญญู” เป็นคำบาลี อ่านว่า กะ-ตัน-ยู แยกศัพท์เป็น กต + ญู 

กต” อ่านว่า กะ-ตะ แปลว่า “สิ่งที่ถูกทำ” หมายถึงอะไรก็ตามที่มีคนทำขึ้น หรืออาจไม่ใช่คนทำ แต่เป็นอะไรสักอย่างที่เป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งนั้นขึ้นมา หรือจะว่าธรรมชาติเป็นผู้สร้างก็ได้ สิ่งที่ถูกทำขึ้นดังว่านี้แหละ คือ “กต” 

ในที่นี้ “กต” หมายถึง สิ่งที่ดี สิ่งที่มีคุณมีประโยชน์ ที่คนหนึ่งทำให้แก่อีกคนหนึ่ง หรือที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งทำให้หรือมีให้แก่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทั้งนี้ไม่ว่าการทำหรือการมีขึ้นนั้นจะเป็นความจงใจทำจงใจมีเพื่อประโยชน์แก่สิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือไม่ก็ตาม

เช่นพืชมีใบมีดอกมีผล

มนุษย์และสัตว์เก็บใบเก็บดอกเก็บผลของพืชนั้นมากิน

แม้ว่าพืชชนิดนั้นจะเกิดขึ้นมีขึ้นตามธรรมชาติของมันเอง มันมิได้จงใจเกิดขึ้นมีขึ้นเพื่อให้มนุษย์และสัตว์เก็บกิน แต่ก็ถือว่าพืชนั้นก็เป็น “กต” ได้ในความหมายนี้

สิ่งที่มีคุณประโยชน์ตรงกับความต้องการของเราดังกล่าวมานั้น มนุษย์และสัตว์มีความสามารถจะรู้จักได้เท่าๆ กัน 

การรู้หรือรู้จักดังกล่าวมานี้ เรียกว่า “ญู” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้” 

แต่ลักษณะ “รู้” ของมนุษย์กับของสัตว์แตกต่างกว้างแคบสูงต่ำไม่เท่ากัน

ยกตัวอย่าง อาจเข้าใจได้ชัดขึ้น 

อะไรกินได้ อะไรกินไม่ได้ 

มนุษย์รู้ สัตว์ก็รู้เท่ากัน

เวลาร้อน เวลาหนาว เวลาเหนื่อย เวลามีภัย หลบเข้าไปที่ตรงไหนแล้วสบาย ปลอดภัย 

มนุษย์รู้ สัตว์ก็รู้เท่ากัน

ที่ไหนถิ่นไหนบริเวณไหนอาศัยเลี้ยงชีวิตอยู่รอดได้ 

มนุษย์รู้ สัตว์ก็รู้เท่ากัน 

ทำอย่างไรเผ่าพันธุ์จึงจะสืบต่อและดำรงอยู่ได้ 

มนุษย์รู้วิธีสืบพันธุ์ สัตว์ก็รู้วิธีสืบพันธุ์เช่นกัน

นี่คือ “ญู” หรือผู้รู้ในส่วนที่มีเท่ากันทั้งมนุษย์ทั้งสัตว์

แต่-อาหารที่กินได้มีอยู่ได้อย่างไร มาจากไหน เกิดขึ้นมาได้อย่างไร อะไรหรือใครทำให้เกิดมีอาหารที่กินเข้าไป เรื่องนี้มนุษย์รู้ แต่สัตว์ทั่วไปไม่รู้ และไม่รับรู้ 

ทำอย่างไรจึงมีอาหารเช่นนั้นกินได้ตลอดไป เช่นถ้าเป็นพืชจะเพาะปลูกอย่างไร ถ้าเป็นสัตว์จะเพาะเลี้ยงอย่างไร เรื่องนี้มนุษย์รู้ แต่สัตว์ทั่วไปไม่รู้ และไม่รับรู้ 

บางกรณีดูเหมือนสัตว์ก็รู้ เช่น เคยไปอยู่ตรงนั้น ไปส่งเสียงแบบนั้น ไปทำกิริยาอาการแบบนั้นๆ แล้วจะได้กิน ครั้นพอถึงเวลาหรือถึงที่ มันก็ไปทำแบบนั้น การที่สัตว์ทำได้เช่นนั้นดูเหมือนมันจะเป็น “ญู” ตามความหมายนี้ แต่ที่จริงไม่ใช่ นั่นเป็นเพียงรู้วิธีหากิน จัดอยู่ในระดับเดียวกับ-นกจับแมลง เสือล่าเนื้อ ซึ่งสามารถทำได้ตามสัญชาตญาณ แต่ไม่ใช่ “ญู” ตามความหมายนี้

สูงขึ้นมาอีก เมื่อรู้แล้วว่า ใครหรืออะไรเป็นผู้สร้าง “กต” ขึ้นมา ก็รู้จักหรือยอมรับว่าใครหรืออะไรนั้นมีความดีมีประโยชน์มีค่าควรแก่การนับถือ 

ญู” ในระดับนี้สัตว์ไม่มี 

แต่มนุษย์ที่เจริญแล้วสามารถมีได้

กต = สิ่งที่ถูกทำถูกสร้างขึ้นหรือมีขึ้นตามนัยที่แสดงมา + ญู = ผู้รู้ ซ้อน ญฺ ระหว่างคำ 

: กต + ญฺ + ญู = กตญฺญู เขียนแบบไทยเป็น “กตัญญู” แปลความว่า “ผู้รู้จักคุณงามความดีของผู้ทำสิ่งที่มีคุณประโยชน์แก่ตน” 

หมายความว่า ผู้ใดทำสิ่งที่มีคุณประโยชน์แก่ตน หรือสิ่งใดมีขึ้นแล้วเกิดประโยชน์แก่ตน ก็ยอมรับว่าผู้นั้นสิ่งนั้นมีความดีควรแก่การเคารพนับถือ 

ที่ว่า “มีคุณประโยชน์แก่ตน” นั้น ก็ยังพูดเฉพาะในวงแคบ แต่ในวงกว้าง ย่อมรวมไปถึงมีคุณประโยชน์แก่ผู้อื่นแก่สิ่งอื่นด้วย พูดรวมๆ ว่ามีคุณประโยชน์แก่สังคมหรือแก่โลกนั่นเลยก็ได้

คำว่า “กตัญญู” ภาษาไทยมีคำเรียกสั้นๆ ว่า “รู้คุณ” 

อนึ่ง เมื่อพูดถึงกตัญญู ก็ต้องพ่วงเอากตเวทีเข้าไปด้วย เพราะเป็นคุณธรรมที่ควบคู่อยู่ด้วยกัน

กตเวที” ก็เป็นคำบาลี อ่านว่า กะ-ตะ-เว-ที แยกศัพท์เป็น กต + เวที 

กต” มีความหมายเช่นเดียวกับในคำว่า “กตัญญู” คือ สิ่งที่ถูกทำถูกสร้างขึ้นหรือมีขึ้น จะโดยใครหรือสิ่งใดก็ตาม และเรายอมรับว่าผู้นั้นสิ่งนั้นมีคุณมีประโยชน์

ส่วน “เวที” คำนี้เรามักจะนึกไปถึงยกพื้นสําหรับเล่นละครและอื่น ๆ เช่น เวทีละคร เวทีมวย เวทีปราศรัยหาเสียง

เวที” แม้จะหมายถึงอย่างนั้นได้ แต่ในที่นี้ไม่ใช่เวทีแบบนั้น เป็นคนละความหมายกัน 

ในที่นี้ “เวที” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประกาศ” หรือ “ผู้ทำให้ปรากฎ” หมายถึง ผู้ทำให้คนอื่นรับรู้เรื่องราวใดๆ ก็ตาม ด้วยวิธีการอย่างใดๆ ก็ตาม

เวที” จะแปลให้โลดโผนหวือหวาว่า “ผู้กู่ก้องร้องตะโกนให้โลกรู้” ก็ได้

ควรเข้าใจให้ชัดลงไปว่า – 

กตเวที เป็นขั้นตอนต่อจากกตัญญู คือ กตัญญูเป็นขั้นรู้ แต่กตเวทีเป็นขั้นประกาศหรือแสดงออกให้ปรากฏ ไม่ใช่เพียงแค่รู้อยู่ในใจตน

๒ การ “ประกาศ” หรือ “ทำให้ปรากฏ” อาจทำได้หลายวิธี เช่นเที่ยวบอกกล่าวแก่คนทั้งหลาย หรือเขียนหนังสือสรรเสริญคุณเป็นต้น แต่วิธีที่ชัดเจนและตรงตัวที่สุดคือลงมือกระทำการที่เป็นประโยชน์หรือเป็นผลดีแก่ผู้ที่ (หรือสิ่งที่-) เรารู้อยู่ว่ามีคุณ การลงมือทำนั้นแม้ไม่ต้องพูดอะไรเลยก็เป็นการประกาศที่ชัดแจ้งที่สุดอยู่ในตัวเอง

เรามักเข้าใจกันว่า กตัญญูคือรู้คุณ กตเวทีคือตอบแทนคุณ

แต่ว่ากันตามศัพท์แล้ว “กตเวที” ไม่ได้แปลว่า “ตอบแทนคุณ” แต่แปลว่า “ประกาศคุณ” ซึ่งทำได้หลายวิธีดังกล่าวแล้ว 

การตอบแทนคุณ-ในความหมายที่เข้าใจกันว่าหยิบยื่นสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ หรือช่วยเหลืออย่างหนึ่งอย่างใดเป็นการตอบแทน-นั่นเป็นเพียงวิธีหนึ่งเท่านั้นของการประกาศคุณ

เป็นอันว่า เมื่อพูดว่า “กตัญญู” ก็เป็นอันพ่วงเอา “กตเวที” เข้ามาด้วย แม้ไม่เอ่ยถึงก็เป็นอันรู้กัน อย่างที่ว่า-ละไว้ฐานเข้าใจ

นี่คือคำตอบต่อประเด็นคำถามที่ว่า “กตัญญูแปลว่าอะไรคะ”

………….

ตอนต่อไป

………………………….

๒ ทำไมเราต้องเอาความกตัญญูมาเป็นพื้นฐานด้วยคะ 

………………………….

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๔ ธันวาคม ๒๕๖๓

๑๒:๐๙

……………………………….

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๑) 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………….

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๓) 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *