บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๑)

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๓)

———————–

………………………….

๒ ทำไมเราต้องเอาความกตัญญูมาเป็นพื้นฐานด้วยคะ 

………………………….

ถ้าจะตอบคำถามข้อนี้ให้เข้าใจได้ง่ายที่สุด ก็ควรจะต้องเปลี่ยนคำถามใหม่ 

คือถามว่า ถ้าไม่มีความกตัญญูอยู่ในหัวใจ มนุษย์จะมีสภาพเป็นเช่นไร

ดังได้กล่าวแล้วว่า การรู้จักว่าใครหรือสิ่งใดมีคุณจนถึงระดับยอมรับว่าผู้นั้นสิ่งนั้นมีคุณค่าควรแก่การเคารพนับถือ หรือการรู้คุณ ซึ่งคำพระเรียกว่า “กตัญญุตา” ความกตัญญูนั้น สัตว์ไม่มีความสามารถจะรู้ได้ 

แต่มนุษย์มี 

ดังนั้น ถ้าไม่มีความกตัญญูอยู่ในหัวใจ หรือไม่เอาความกตัญญูมาเป็นพื้นฐาน มนุษย์จะมีสภาพไม่ต่างไปจากสัตว์ 

……………….

ถึงตรงนี้ ขออนุญาตแวะข้างทางสักครู่ เนื่องจากมีคนส่วนหนึ่งพอพูดว่า “สัตว์” หรือพูดเต็มๆ ว่า “มนุษย์จะมีสภาพไม่ต่างไปจากสัตว์” ก็มักเข้าใจเตลิดไปว่า เป็นการดูถูกมนุษย์ว่าต่ำช้าเหมือนสัตว์

คำว่า “สัตว์” ในภาษาไทยที่พูดกันนั้น เราเข้าใจกันในวงแคบว่าหมายถึงสัตว์เดรัจฉาน เช่นหมูหมากาไก่ แต่ในภาษาบาลี คำว่า “สตฺต” มีความหมายกว้าง คือรวมเอาสรรพชีพไว้ทั้งหมด 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สตฺต” ว่า a living being, creature, a sentient & rational being, a person (สัตว์โลก, สัตว์, สิ่งที่มีความรู้สึกและมีเหตุผล, คน) ซึ่งเป็นคำแปลที่ครอบคลุมหมด 

ในคำแผ่เมตตาที่เราพูดกันติดปากว่า “สัพเพ สัตตา” ก็หมายถึง “สัตว์” ในความหมายที่ครอบคลุมนี้ ไม่ใช่หมายถึงเฉพาะ animal หรือสัตว์เดรัจฉานอย่างที่เข้าใจกันในภาษาไทย 

ครั้นมาถึงการเทียบระหว่างมนุษย์กับสัตว์เดรัจฉานอย่างในเรื่องที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ คนที่เอาความรู้สึกว่าสัตว์เดรัจฉานเป็นภาวะที่ต่ำทรามมาคิดคำนึง ก็จึงคิดไปว่าเป็นการพูดอย่างดูถูก 

คือเข้าใจไปว่า มนุษย์ = ดี 

สัตว์เดรัจฉาน = เลว 

แล้วสรุปเอาเองว่า เป็นการเทียบที่บอกว่าคนเลวเหมือนสัตว์ 

ความจริงแล้ว การที่ท่านเทียบเช่นนั้น (โปรดทราบด้วยว่าผู้รู้แต่ปางก่อนท่านเทียบไว้ ไม่ใช่ทองย้อย แสงสินชัย เทียบเอาเอง) ไม่ได้หมายความว่าท่านดูถูกมนุษย์ว่าเลว 

คือต้องเข้าใจว่า สัตว์เดรัจฉานก็มีความดีเลวไปตามสภาพของสัตว์ ไม่ใช่ว่าถ้าเป็นสัตว์เดรัจฉานแล้วจะต้องมีแต่ความเลวทรามต่ำช้าทั้งหมด

ขอให้ดูง่ายๆ ใกล้ตัวเรานี่เอง เช่นหมาแมวนั่นก็สัตว์เดรัจฉาน นกสวยๆ ก็สัตว์เดรัจฉาน แต่เราก็เลี้ยงหมา เลี้ยงแมว เลี้ยงนก เลี้ยงสัตว์เดรัจฉานอีกตั้งมากมายหลายชนิด เลี้ยงด้วยความรักความเอ็นดู เลี้ยงอย่างเมตตา บางทีเลี้ยงดีกว่าเลี้ยงคนด้วยกันเสียด้วยซ้ำไป 

ก็ถ้าสัตว์เดรัจฉานเลวทรามต่ำช้าอย่างที่คิด เราจะเลี้ยงมันทำไม รักมันทำไม เมตตามันทำไม 

ท่านเพียงแต่เทียบให้เห็นถึงศักยภาพที่ต่างระดับกันระหว่างมนุษย์กับสัตว์เดรัจฉานเท่านั้น เช่น สัตว์เดรัจฉานแม้จะดีเลิศขนาดไหนก็บรรลุมรรคผลไม่ได้ แต่มนุษย์แม้จะเคยเลวทรามขนาดไหนก็สามารถปรับปรุงพัฒนาตนเองให้บรรลุมรรคผลได้-อย่างนี้เป็นต้น 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เน้นที่คุณธรรม มนุษย์สามารถมีคุณธรรมถึงระดับสูงสุดได้ แต่สัตว์เดรัจฉานมีได้ในระดับที่ต่ำมากๆ ที่เราเรียกกันว่าเป็นเพียงสัญชาตญาณเท่านั้น ไม่ใช่คุณธรรมแท้ที่เกิดจากการพัฒนาจิตใจ 

การพูดว่า ถ้ามนุษย์ไม่มีคุณธรรมข้อนั้นข้อนี้ มนุษย์ก็ต่ำเท่ากับสัตว์เดรัจฉาน จึงมีความหมายตามนัยนี้ 

ท่านพูดในแง่ที่-ผู้นั้นมีสภาวะที่สามารถเป็นอะไรได้ในระดับไหน

ไม่ได้พูดในแง่ที่ว่า-สภาวะนั้นดีหรือเลว

สัตว์เดรัจฉานมันสามารถดีหรือเลวได้ในระดับไหน มนุษย์ที่ไม่มีคุณธรรมก็จะดีหรือเลวได้เท่าๆ กับสัตว์เดรัจฉานเท่านั้น 

การเปรียบเทียบมนุษย์กับสัตว์เดรัจฉานในทางธรรมมีความหมายดังที่ว่ามานี้

……………….

ทีนี้มาตอบคำถามตรงๆ – ทำไมเราต้องเอาความกตัญญูมาเป็นพื้นฐาน

ที่ต้องเอากตัญญูมาเป็นพื้นฐาน ก็เพื่อที่ว่าคนเราจะได้ปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องเหมาะสม – นี่เป็นคำตอบรวบยอด

ทุกสิ่งทุกอย่างนอกจากตัวของเราออกไป เรียกรวมว่า “สิ่งแวดล้อม” 

ทุกสิ่งที่เราสร้างขึ้น เป็นสิ่งแวดล้อมที่จำเป็น

ธรรมชาติรอบตัวเรา เป็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ

คนด้วยกัน เป็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุด

ถ้าคนเรามีกตัญญู-กล่าวคือเห็นคุณค่า-ของสิ่งดังกล่าวนี้ เราก็จะปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ-โดยเฉพาะกับคนด้วยกัน-อย่างที่ควรจะปฏิบัติ 

เช่น ทะนุถนอม อนุรักษ์ บำรุงรักษา ส่งเสริม สร้างสรรค์ เคารพ นับถือ ให้เกียรติ ฯลฯ

ทำไมเราจึงจะต้องทำเช่นนี้?

ก็เพราะเรามองเห็นคุณค่าของคนและคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ 

การเห็นคุณค่า หรือ “รู้คุณ” คือกตัญญู (+ กตเวที)

เราจะต้องทะนุถนอม อนุรักษ์ บำรุงรักษา ส่งเสริม สร้างสรรค์ เคารพ นับถือ ให้เกียรติ ฯลฯ ไปทำไม-ถ้าเราไม่เห็นคุณค่าหรือไม่รู้คุณ 

เราก็มีแต่จะปล่อยปละละเลย หรือไม่ก็ทำลายไปเสียเลยด้วยซ้ำไป 

และที่ทำกันทั่วไป-ถ้าไม่เห็นคุณค่าหรือไม่รู้คุณ-ก็คือ ใครหรืออะไรที่เราจะอาศัยสูบรีดประโยชน์เอามาเสพเสวยสนองความต้องการของเราได้ เราก็จะรุมทึ้งรุมทำ พอคนนั้นสิ่งนั้นหมดประโยชน์ที่เราต้องการแล้วเราก็ผลักทิ้งโยนทิ้ง แล้วไปแสวงหาคนใหม่สิ่งใหม่เพื่อสูบรีดต่อไปอีก 

เราจะไม่มีความคิดที่จะบำรุงรักษาคนนั้นสิ่งนั้นให้ดำรงคงอยู่อย่างเหมาะสม-ทั้งๆ ที่-ก็เพื่อจะเราจะได้อาศัยสูบเสพเสวยประโยชน์จากคนนั้นสิ่งนั้นต่อไปได้อีกอย่างยั่งยืนยาวนานแท้ๆ นั่นเอง

ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ?

ก็เพราะเราเห็นแต่ประโยชน์ที่จะได้จากคนนั้นสิ่งนั้นทางเดียว แต่มองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องทะนุถนอม อนุรักษ์ บำรุงรักษา ส่งเสริม สร้างสรรค์ เคารพ นับถือ ให้เกียรติ ฯลฯ ให้เหน็ดเหนื่อยไปทำไม 

พื้นฐานหรือรากเหง้ามันก็มาจาก-เพราะเราไม่เห็นคุณค่า คือไม่รู้คุณ ซึ่งก็คือไม่มีกตัญญูเป็นพื้นฐานนั่นเอง 

กตัญญูคือมองเห็นคุณค่าของสิ่งนั้น แล้วปฏิบัติต่อสิ่งนั้นอย่างเหมาะสม เพื่อให้สิ่งนั้นคงคุณค่านั้นอยู่ได้อย่างยั่งยืน – ซึ่งเป้าหมายก็คือ-เพื่อประโยชน์ของเราเอง หรือในวงกว้างก็คือเพื่อที่เราจะได้อยู่ร่วมกันอย่างราบรื่นและสุขสงบนั่นแล้ว

ประโยชน์ตกอยู่แก่เราเอง-ผู้กตัญญู

ประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่แก่ผู้-หรือสิ่ง-ที่เรากตัญญูนั้นเลย 

ตัวอย่างง่ายๆ เช่นเรากตัญญูคือรู้คุณของต้นไม้ต้นหนึ่ง ที่ให้ร่มเงา ให้ดอกให้ผลแก่เรา 

เราก็จึงบำรุงรักษาดูแลต้นไม้นั้น 

ต้นไม้มันได้ประโยชน์อะไรด้วย?

แม้แต่จะมองกันว่า-ก็มันไม่ตาย มันงอกงามเติบโต และแพร่พันธุ์ต่อไปได้นั่นไง คือประโยชน์ของมัน 

แต่ลองตามดูต่อไปสิ การที่มันไม่ตาย มันเจริญเติบโตงอกงามนั้น เพื่อประโยชน์ของใคร ของมันเองหรือ ตัวมันเองมันได้อะไรเพื่อตัวมันเองบ้าง

เราต่างหากที่ได้ประโยชน์จากมัน ใช่หรือไม่

แม่น้ำ ลำคลอง ป่าไม้ สัตว์ต่างๆ ผืนดิน แผ่นดิน บ้านเมือง ฯลฯ และที่สำคัญที่สุด-ผู้คนที่อยู่ร่วมสังคมกับเรา โดยเฉพาะที่เราเกี่ยวข้องผูกพันด้วย ก็ไม่ต่างอะไรกับ-ต้นไม้ต้นนั้นในตัวอย่าง

กตัญญูทำให้เราได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้น

กตัญญูไม่ได้ทำให้เราเสียประโยชน์ให้แก่สิ่งเหล่านั้นหรือเสียให้ใคร

……………….

ทีนี้ลองพิจารณาหาเหตุผลของฝ่ายที่คิดว่าไม่จำเป็นต้องกตัญญูต่อใครต่ออะไร ว่าเพราะอะไรจึงคิดอย่างนั้น 

เหตุผลข้อหนึ่งน่าจะเป็นเพราะไม่ต้องการรับผิดชอบต่อคนนั้นสิ่งนั้น กลัวจะต้องเป็นภาระ กลัวจะหมดเปลือง กลัวว่าจะต้องเสียสละสิ่งนั้นสิ่งนี้อันควรจะเป็นเครื่องอำนวยความสุขให้ตัวเองแก่คนหรือแก่สิ่งที่เรากตัญญู เพราะฉะนั้น ไม่ต้องมีอะไรผูกพันกัน เป็นอิสระดีกว่า กตัญญูไปทำไม

ถ้าคิดอย่างนี้ ก็ขอให้ศึกษาคำสอนในพระพุทธศาสนาดูว่า ท่านสอนให้คนกตัญญูทำอะไรต่อคนที่เรากตัญญู 

ตัวอย่างที่น่าศึกษาคือการปฏิบัติของลูกต่อพ่อแม่ ถ้าลูกเห็นว่าพ่อแม่มีคุณ (กตัญญู) และจะตอบแทนคุณ (กตเวที) ท่านให้ทำอย่างไร

ในคัมภีร์อังคุตรนิกาย ทุกนิบาต (ทุ-กะ-นิ-บาต) มีพระสูตรหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสถึงการตอบแทนคุณพ่อแม่ว่า – 

(๑) ถ้าลูกเลี้ยงดูพ่อแม่อย่างดีเลิศขนาดว่าให้กินนอนอยู่บนบ่าซ้ายขวา ทำอะไรๆ ให้ทุกอย่างตั้ง ๑๐๐ ปีหรือจนตายจากกันไป ขนาดนี้ก็ยังไม่ถือว่าเป็นการตอบแทนคุณ

(๒) ถ้าลูกมีอำนาจสามารถสถาปนาพ่อแม่ให้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ครองสมบัติสมบูรณ์ทุกประการ แม้ขนาดนี้ก็ยังไม่ถือว่าเป็นการตอบแทนคุณ

(๓) ถ้าพ่อแม่เป็นคนไม่มีคุณธรรม เช่นไม่มีศรัทธา ไม่มีศีล ไม่มีจาคะ ไม่มีปัญญา ลูกคนใดชี้แจงหรือชักจูงให้พ่อแม่เกิดมีคุณธรรมขึ้นมาได้ ลูกคนนั้นจึงจะได้ชื่อว่าตอบแทนคุณพ่อแม่ 

จะเห็นได้ว่า พระพุทธศาสนาไม่ได้บอกเลยว่า ต้องเลี้ยงดูผู้มีคุณ ต้องยอมสละทรัพย์สินเงินทองให้ ต้องยอมเป็นทาสรับใช้ จึงจะได้ชื่อว่ากตัญญู 

พระพุทธศาสนาเน้นที่การเสริมสร้างคนให้มีคุณธรรมเพื่อประโยชน์ของตัวผู้มีคุณธรรมนั่นเอง

ผู้กตัญญูจึงไม่ต้องเสียอะไรให้แก่ใครเลย

กตัญญูต่อคนใดสิ่งใด จึงไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องยอมเป็นทาสรับใช้ของคนนั้นสิ่งนั้น 

แต่อย่างไรก็ตาม การรู้คุณ (กตัญญู) กับการทำหน้าที่ตามฐานะ พึงพิจารณาโดยแยบคาย มิเช่นนั้นอาจเข้าใจสับสน

พระพุทธศาสนาสอนเรื่องการทำหน้าที่ตามฐานะอีกด้วย โดยไม่ขึ้นอยู่กับกตัญญูหรือไม่กตัญญู 

หมายความว่า ใครจะกตัญญูใคร หรือไม่กตัญญูใคร ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่เมื่ออยู่ในฐานะใดๆ ก็ต้องทำหน้าที่ตามฐานะนั้นๆ ด้วย เช่นเป็นลูกมีหน้าที่อย่างไรก็ต้องทำ เป็นพ่อแม่มีหน้าที่อย่างไรก็ต้องทำ เป็นศิษย์เป็นครู เป็นผู้ใหญ่เป็นผู้น้อย เป็นพระเป็นชาวบ้าน เป็นสามีภรรยา เป็นเพื่อนกัน มีหน้าที่อย่างไรก็ต้องทำหน้าที่นั้นๆ จะอ้างกตัญญูหรือไม่กตัญญูไม่ได้ 

การทำหน้าที่ตามฐานะเป็นคำสอนเพื่อให้ผู้อยู่ในฐานะนั้นๆ ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้อง ไม่ใช่คำสอนให้ฝ่ายหนึ่งต้องยอมสยบให้อีกฝ่ายหนึ่ง หรือคนหนึ่งทำหน้าที่ แต่อีกคนหนึ่งไม่ต้องทำอะไร

เรื่องกตัญญูกตเวทีนี้ ถ้ามองไม่ถูกมุม อาจถูกมองว่าเป็นคำสอนที่เลวทราม เพราะสอนให้ฝ่ายหนึ่งยอมสยบให้อีกฝ่ายหนึ่งอย่างโงหัวไม่ขึ้น

เพราะฉะนั้น ถ้าใครยังไม่เข้าใจหรือยังเข้าใจแบบนั้นอยู่ ก็ขอได้โปรดศึกษาความหมายของคำว่า “กตัญญู-กตเวที” ให้ชัดๆ เถิด 

เข้าใจชัดเมื่อไร ก็จะตอบตัวเองได้ชัดเมื่อนั้นว่า – ทำไมเราต้องเอาความกตัญญูมาเป็นพื้นฐานด้วยคะ

ตอนต่อไป

………………………….

๓ กับครอบครัว เราเกิดมาเพราะเราอยากเกิดหรอคะ 

………………………….

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๕ ธันวาคม ๒๕๖๓

๑๕:๑๘

……………………………….

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๒) 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………….

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๔) 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *