บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๑)

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๔) (3)

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๔) (3)

—————————–

………………………….

๓ กับครอบครัว เราเกิดมาเพราะเราอยากเกิดหรอคะ 

๔ พ่อแม่รึป่าวที่อยากมีเรา 

๕ เพราะความอยากมีเราของเขา ทำให้เราลำบากแบบตอนนี้ไม่ใช่หรอ

………………………….

……………………………..

๓ เหตุผลข้อที่สามก็คือ-เพราะความอยากมีเราของเขา ทำให้เราลำบากแบบตอนนี้ไม่ใช่หรอ

……………………………..

ประเด็นอันว่าด้วย-เพราะพ่อแม่อยากมีเรา หรือว่าอันที่จริงแล้วเพราะเรานั่นเองที่อยากเกิด ได้ชวนให้พิจารณามาแล้ว ผู้มีใจเป็นธรรมหรือใจมีธรรมคงตอบได้ 

ประเด็นที่ควรสนใจในตอนนี้ก็คือ-เพราะใครก็ไม่รู้แหละเป็นเหตุให้มี “การเกิด” เกิดขึ้น และการเกิดนั้น – “ทำให้เราลำบากแบบตอนนี้ไม่ใช่หรอ”

คำถามนี้ชัดเจนว่า เราโทษพ่อแม่ว่าเป็นเหตุทำให้เราลำบากอยู่ในตอนนี้

เหตุผลชั้นเดียวก็คือ-เพราะพ่อแม่เป็นต้นเหตุให้เราเกิด ถ้าไม่มีพ่อแม่ เราก็ไม่ต้องเกิด เมื่อไม่เกิด ก็ไม่ต้อง “ลำบากแบบตอนนี้”

จึงต้องขอย้ำว่า-เหตุผลมันไม่ได้มีแค่ชั้นเดียวแบบนี้ แต่มันยังมีอีกหลายชั้น มีชั้นไหนอีกบ้างได้อธิบายมาแล้วในตอนก่อนๆ ถ้ายังไม่เข้าใจ ขอได้โปรดย้อนกลับไปพิจารณา

เพราะมีการเกิดจึงทำให้เราต้องลำบาก

แต่-เพราะใครหรืออะไรจึงทำให้มีการเกิด ควรทบทวนให้ชัด

แต่ในขณะนี้จะขอชวนให้พิจารณาประเด็น-เพราะมีการเกิดจึงทำให้เราต้องลำบาก-แค่นี้ก่อน

……………….

ข้อความที่สรุปว่า “เพราะมีการเกิดจึงทำให้เราต้องลำบาก” นี้ จะเป็นแนวคิดที่ผู้พูดคิดขึ้นเองหรือไปได้ยินได้ฟังมาจากไหนก็ตามที แต่ก็ไปตรงกันอย่างพอดิบพอดีกับพระบาลีว่า – 

“ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ”

(ทุก-ขา ชา-ติ ปุ-นับ-ปุ-นัง)

(ธัมมปทคาถา พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๒๑)

ท่านแปลกันว่า “ความเกิดเป็นทุกข์ร่ำไป” 

เคยได้ยินนักขบธรรมะชวนคิดว่า “เป็นทุกข์ร่ำไป” หรือว่า “เกิดร่ำไป” กันแน่ หรือว่า “ร่ำไป” ขยายคำไหนก็ถูกต้องทั้งนั้น 

ผมพอใจที่จะแปลแบบขยายความนิดๆ ไปในตัว คือแปลว่า – 

เพราะมีการเกิด เราจึงต้องเป็นทุกข์ซ้ำซาก (ทุกข์แล้วทุกข์อีกไม่รู้จักจบจักสิ้น)

หรือไม่ก็ –

เพราะมีการเกิดซ้ำซาก (เกิดแล้วเกิดอีกไม่รู้จักจบจักสิ้น) เราจึงต้องเป็นทุกข์

แต่ในอรรถกถา (ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๕ เรื่องปฐมโพธิกาล) ท่านอธิบายว่า “ชาติ  นาเมสา  ปุนปฺปุนํ  อุปคนฺตุํ  ทุกฺขา” แปลว่า “อันว่าการเกิด คือการเข้าถึง (การเกิด) บ่อยๆ นั่น เป็นทุกข์” 

หนังสือ “พุทธวจนะในธรรมบท” โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก แปลคาถาบทนี้ไว้ดังนี้ –

……………….

อเนกชาติสํสารํ 

สนฺธาวิสฺสํ อนิพฺพิสํ 

คหการํ คเวสนฺโต 

ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ. 

เมื่อไม่พบนายช่างผู้สร้างเรือน 

เราได้เวียนว่ายตายเกิด 

ในสงสารนับชาติไม่ถ้วน 

การเกิดแล้วเกิดอีกเป็นทุกข์

Through many a birth 

I wandered in Samsara, 

Seeking but not finding the Housebuilder, 

Painful is birth ever again and again.

……………….

ภาษาไทย “การเกิดแล้วเกิดอีกเป็นทุกข์” 

ภาษาอังกฤษ “Painful is birth ever again and again.” ได้ความตรงกัน

เป็นอันว่าคำตอบคือ “เกิดบ่อยๆ” ไม่ใช่ “ทุกข์บ่อยๆ”

โดยความเป็นจริงก็ควรกล่าวเช่นนั้น คือเมื่อพูดว่า “เกิดบ่อยๆ” ก็เป็นอันหมายถึง “ทุกข์บ่อยๆ” ไปในตัว เพราะมีการเกิดจึงมีทุกข์ และเมื่อเราพูดถึงสังสารวัฏ ก็ย่อมหมายถึงการเวียนเกิดเวียนตาย ซึ่งก็คือ “เกิดบ่อยๆ” นั่นเอง 

ที่ว่ามานี้เป็นการอธิบายแนวธรรมะ ถ้าเป็นเหตุให้ท่านผู้ใดเบื่อหน่ายหรือรำคาญ ก็ขออภัยด้วย

……………….

ทีนี้มาว่าถึงตัวแนวคิดในคำพูด-“(พ่อแม่) ทำให้เราลำบากแบบตอนนี้ไม่ใช่หรอ”

เราเอาอะไรเป็นเกณฑในการที่พูดว่า “ทำให้เราลำบาก” เรามองตรงไหนจึงว่าเราลำบาก?

ตามความเข้าใจหรือตามความรู้สึกของคนทั่วไป – 

(๑) การที่ต้องทำสิ่งที่ไม่อยากทำ (ขี้เกียจทำ ไม่สนุก ไม่ชอบ) 

(๒) การที่เรามีสิ่งที่ไม่อยากมี  

(๓) การที่เราไม่ได้สิ่งที่อยากได้ 

นี่แหละคือ “ลำบาก” 

ถ้าเราได้ทำสิ่งที่อยากทำ มีสิ่งที่อยากมี และได้สิ่งที่อยากได้ เราคงไม่พูดว่าเราลำบาก ตรงกันข้าม เราจะต้องบอกว่าเราสบาย เรามีความสุข 

เกิดมาแล้วย่อมประสบพบทั้งสองด้าน คือทั้งด้านที่ได้และด้านที่ไม่ได้ หรือทั้งด้านที่ลำบากและด้านที่สบาย กล่าวตามหลักโลกธรรมก็คือ ต้องพบทั้งอิฏฐารมณ์-สิ่งที่น่าปรารถนา และอนิฏฐารมณ์-สิ่งที่ไม่น่าปรารถนา 

นี่เป็นหลักธรรมดา

เพราะฉะนั้น เพื่อความเป็นธรรม –

เวลาเราลำบาก เราโทษพ่อแม่ว่าเป็นต้นเหตุ 

เวลาเราสบาย เราก็ต้องยกความดีให้เป็นของพ่อแม่ด้วย

ถ้า-เพราะพ่อแม่ทำให้เราเกิด เราจึงลำบาก

ก็ต้อง-เพราะพ่อแม่ทำให้เราเกิด เราจึงสบาย-ด้วยเช่นกัน

คราวนี้ ลองมองให้ไกลออกไปอีก มองไปที่บุคคลต่างๆ ที่มีชื่อเสียง บุคคลที่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่มนุษยชาติเป็นอเนกอนันต์ บุคคลที่โลก-แน่ละ รวมทั้งเราด้วย-ยกย่องชื่นชม 

บุคคลเหล่านั้นไม่ได้เกิดมาจากกระบอกไม้ไผ่เหมือนในนิทาน ทุกคนต้องมีพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด ถ้าไม่มีพ่อแม่ โลกจะมีบุคคลเหล่านั้นได้อย่างไร

แต่แน่ละ คนที่เกิดมาเลว เกิดมาสร้างความหายนะให้แก่มนุษยชาติ เกิดมาสร้างประวัติศาสตร์ที่ด่างพร้อยให้แก่โลก ก็ต้องมีด้วยเป็นธรรมดา 

ถ้าเราตำหนิด่าว่าพ่อแม่ของคนเลวๆ เหล่านี้-รวมทั้งพ่อแม่ของเราเองที่ทำให้เราลำบาก

เราก็ต้องยกย่องพ่อแม่ของคนดีๆ เหล่านั้นด้วย และควรต้องยกย่องพ่อแม่ของเราเองด้วย-ในตอนที่เราได้รับความสุขสบาย

คงจะเห็นได้แล้วว่า เรื่องนี้จะพูดแบบเหมารวมไปหมดไม่ได้

การที่เรามองด้านเดียวเฉพาะจุดที่ว่า “เพราะความอยากมีเราของเขา ทำให้เราลำบากแบบตอนนี้ไม่ใช่หรอ” 

เป็นการมองที่รอบคอบและเป็นธรรมแล้วหรือ?

ตอนต่อไป

………………………….

สรุปประเด็น-เหตุผลที่พยายามจะบอกว่าพ่อแม่ไม่มีบุญคุณ

………………………….

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๘ ธันวาคม ๒๕๖๓

๑๔:๒๐

……………………………….

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๔) (2)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………….

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๔) (4)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *