อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๑)
อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๔) (4)
อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๔) (4)
———————–
………………………….
สรุปประเด็น-เหตุผลที่พยายามจะบอกว่าพ่อแม่ไม่มีบุญคุณ
………………………….
เท่าที่อธิบายมาก็เป็นอันเห็นได้ว่า ปัญหาเริ่มต้นจากแนวความคิดที่ว่า พ่อแม่ไม่มีบุญคุณ เราจึงไม่ต้องกตัญญู
เหตุผลที่ยกมาอ้างว่าพ่อแม่ไม่มีบุญคุณก็คือ –
๑ เราไม่ได้เกิดมาเพราะเราอยากเกิด (เราเกิดมาเพราะเราอยากเกิดหรอคะ)
๒ พ่อแม่ต่างหากเล่าที่ทำให้เราเกิด (พ่อแม่รึป่าวที่อยากมีเรา)
๓ ที่เราลำบากอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะพ่อแม่นั่นแหละเป็นตัวการ (เพราะความอยากมีเราของเขา ทำให้เราลำบากแบบตอนนี้ไม่ใช่หรอ)
สรุปแทนได้เลยว่า-แล้วอย่างนี้ยังจะให้เรากตัญญูอีกหรือ
……………….
ที่อธิบายมาตั้งแต่ต้น ไม่ได้ต้องการจะโฆษณาชวนเชื่อว่าพ่อแม่มีบุญคุณ ทั้งไม่ได้มีเจตนาจะชักชวนให้ใครกตัญญูต่อพ่อแม่ หรือต่อใคร หรือต่ออะไร
เพียงแต่พยายามจะบอกว่า เรื่องกตัญญูและเรื่องพ่อแม่ พระพุทธศาสนามองอย่างไร สอนไว้อย่างไร
ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ใครจะเห็นตามหรือเห็นต่าง เชิญตามสบาย เป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลโดยสมบูรณ์
ถ้าพิจารณาให้ดีก็จะเห็นว่า คำสอนเรื่องพ่อแม่มีบุญคุณและเรื่องกตัญญูนี้ เป็นคำสอนในระดับ “บอกให้รู้” เท่านั้น ยังไม่ได้แนะนำให้ทำอะไร
คำสอนในระดับ “แนะนำให้ทำหน้าที่” ยังมีอีกส่วนหนึ่ง ไม่ได้นำมาแสดงเพราะเห็นว่าอยู่คนละกรอบขอบเขตกัน อาจจะเชื่อมโยงถึงกัน แต่ก็เป็นอิสระจากกันและกัน และอาจแยกขาดจากกันได้
กล่าวคือ เมื่อจะทำหน้าที่ต่อพ่อแม่ ก็ไม่ต้องขึ้นอยู่กับกตัญญูหรือไม่กตัญญู หมายความว่าเราจะกตัญญูหรือไม่กตัญญูก็เป็นสิทธิของเรา แต่การทำหน้าที่ก็ยังคงเป็นหน้าที่ของเราอยู่นั่นเอง ถ้าไม่ทำ เราก็บกพร่อง
และในขณะทำหน้าที่ต่อพ่อแม่ จะรู้หรือไม่รู้ว่าพ่อแม่มีบุญคุณ หรือรู้แล้วจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จะยอมรับว่ามีบุญคุณจริงหรือไม่ยอมรับว่ามีบุญคุณจริง ก็ไม่ต้องเอามาเป็นเงื่อนไข คือทำหน้าที่ไปตามหน้าที่เท่านั้น
เพียงแต่ว่าถ้ารู้ว่าพ่อแม่มีบุญคุณอย่างไรและยอมรับว่ามีบุญคุณจริง เราก็จะทำหน้าที่อย่างมั่นใจ มีกำลังใจ และมีความชื่นบานที่จะทำหน้าที่ให้ดียิ่งขึ้นและทำให้ดีที่สุด
ถ้ายังรู้สึกเกี่ยงงอนอยู่อีก ก็ขอให้ลองเทียบดูกับสิ่งที่เราทำต่อเพื่อน เช่นเราแบ่งของกินให้เพื่อน แบ่งของใช้ให้เพื่อน ทำนั่นทำนี่ให้เพื่อนสารพัดอย่าง
เพื่อนมาเจอกับเราเป็นเพื่อนกันเมื่อเราโตแล้ว ทำไมเราทำให้เพื่อนได้
นี่พ่อแม่เราแท้ๆ บำรุงเลี้ยงเรามาตั้งแต่เรายังไม่เกิด จนเราโต มีเพื่อน ท่านก็ยังเลี้ยงเราอยู่ การทำอะไรให้ท่านมันน่ารังเกียจนักหรือ มันเป็นการขาดทุนหรือเสียเปรียบอย่างนั้นหรือ
ที่ว่ามานี้เป็นเพียงพูดให้คิด ไม่ได้ขอให้เชื่อ ไม่ได้บังคับให้ทำ และไม่ได้ขอร้องให้ทำ เชื่อหรือไม่เชื่อ ทำหรือไม่ทำเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลโดยสมบูรณ์
ส่วนข้างพ่อแม่นั้นเล่า เมื่อจะทำหน้าที่ต่อลูก ก็ไม่ต้องอ้างว่าลูกกตัญญูจึงจะทำ ถ้าลูกไม่กตัญญูก็จะไม่ทำ ก็คือทำตามหน้าที่เช่นกัน
แต่โดยปกติธรรมดา ธรรมชาติของพ่อแม่มีน้ำคือเมตตาหล่อเลี้ยงหัวใจอยู่เสมอไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร การทำหน้าที่ต่อลูกจึงเป็นไปโดยแทบจะไม่มีเงื่อนไขใดๆ
……………….
ในพระไตรปิฎก พระพุทธองค์ตรัสว่า พ่อแม่เป็นผู้เลี้ยงลูกให้เติบโต และแสดงโลกนี้แก่ลูก (มาตาปิตโร ปุตฺตานํ อาปาทกา โปสกา อิมสฺส โลกสฺส ทสฺเสตาโร : อังคุตรนิกาย ทุกะนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๒๗๘)
คัมภีร์อรรถกถาขยายความคำว่า “แสดงโลกนี้แก่ลูก” ว่า ตอนที่ลูกเกิด ถ้าพ่อแม่จับเหวี่ยงทิ้งเสียในป่า ทิ้งน้ำ หรือทิ้งลงเหว ลูกก็จะไม่ได้อยู่จนโตได้เห็นโลก (สเจ หิ มาตาปิตโร ชาตทิวเสเยว ปุตฺตํ ปาเท คเหตฺวา อรญฺเญ วา นทิยํ วา ปปาเต วา ขิเปยฺยุํ อิมสฺมึ โลเก อิฏฺฐานิฏฺฐารมฺมณํ น ปสฺเสยฺย : มโนรถปูรณี ภาค ๒ หน้า ๔๕)
ยกเรื่องนี้พูดเพราะนึกถึงคำของพ่อแม่รุ่นเก่าที่พูดเวลาโมโหลูกว่า “รู้ยังงี้กูเอาขี้เถ้ายัดปากเสียก็ดีหรอก”
“เอาขี้เถ้ายัดปาก” เป็นสำนวนเก่า เด็กรุ่นใหม่คงไม่เคยได้ยิน คนรุ่นเก่าหุงข้าวเตาถ่านหรือเตาฟืน ขี้เถ้าจะอยู่ที่ก้นเตา เห็นอยู่ทุกวัน เป็นของใกล้มือ ถ้าสมมุติว่าจะฆ่าลูก คว้าอะไรไม่ได้ เอาขี้เถ้านั่นแหละยัดปากลูก ลูกก็ตาย
บาลีว่า จับโยนทิ้งป่า ทิ้งน้ำ ทิ้งเหว
ไทยว่า เอาขี้เถ้ายัดปาก
แต่นี่เป็นสำนวนพูดไปอย่างนั้นเอง ยังไม่เคยได้ยินว่ามีพ่อแม่คนไหนทำจริงๆ
คนรุ่นใหม่อาจจะแย้งว่า-ขืนทำก็คุกนะสิ
โปรดเข้าใจว่า สังคมบ้านๆ สมัยก่อนอยู่กันแบบไม่รับรู้กฎหมาย เมื่อครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาผัวเมียส่วนมากไม่ได้จดทะเบียนสมรส ใครไปพูดเรื่องจดทะเบียนยังถูกย้อนให้ว่าข้าไม่ใช่วัวใช่ควาย
มีลูกเลี้ยงลูกสมัยก่อนเป็นไปตามธรรมชาติ คลอดแล้วลูกตายก็ตายไป ไม่มีใครคิดเรื่องกฎหมาย เพราะฉะนั้น การปล่อยให้ลูกตาย-หรือถ้าคิดจะฆ่าลูก-ก็ไม่มีใครห่วงเรื่องคุก ดังที่มักยกขึ้นมาอ้างกันในเวลานี้
แม้แต่ในเวลานี้ก็เถอะ เลี้ยงไปเลี้ยงมาลูกตาย หาเหตุอ้างโดยไม่ผิดกฎหมายได้เยอะแยะ
เพราะฉะนั้น ถ้าพ่อแม่ตั้งใจจะไม่เลี้ยงลูกจริงๆ ละก็ ไม่ว่าสมัยโน้นหรือสมัยไหน ทำได้ไม่ยาก
แต่พ่อแม่ส่วนมากก็ไม่ทำเช่นนั้น อย่างแย่ที่สุดก็-อย่างที่เรารู้กัน-คลอดแล้วเอาไปทิ้ง แต่ลึกๆ ในใจก็ยังหวังว่าจะมีคนเก็บเอาไปเลี้ยง
นี่คือภาพแห่งความจริงที่พ่อแม่มีลูก-เลี้ยงลูก จะมีบุญคุณหรือไม่มี คิดเอาเอง
……………….
ปัญหาที่น่าถามกันก็คือ กรณีพ่อแม่มีบุญคุณหรือไม่มีบุญคุณนี้ เป็นความเชื่อหรือเป็นสัจธรรม
“เป็นความเชื่อ” หมายความว่า ใครเชื่อว่าพ่อแม่มีบุญคุณ พ่อแม่ก็มีบุญคุณสำหรับคนนั้น ใครไม่เชื่อว่าพ่อแม่มีบุญคุณ พ่อแม่ก็ไม่มีบุญคุณสำหรับคนนั้น
คือมีบุญคุณหรือไม่มีขึ้นอยู่กับความเชื่อของคน
คำว่า “เป็นสัจธรรม” หมายความว่า เป็นจริงอย่างที่สิ่งนั้นเป็น ไม่ว่าใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ สิ่งนั้นก็คงเป็นจริงอย่างที่มันเป็น
กล่าวคือ ถ้าพ่อแม่มีบุญคุณจริง แม้ใครจะไม่เชื่อว่าพ่อแม่มีบุญคุณ พ่อแม่ก็ยังคงมีบุญคุณอยู่นั่นเอง และถ้าพ่อแม่ไม่มีบุญคุณจริง แม้ใครจะเชื่อว่าพ่อแม่มีบุญคุณ พ่อแม่ก็คงไม่มีบุญคุณอยู่นั่นเอง
คือมีหรือไม่มีขึ้นอยู่กับความจริง ไม่ขึ้นอยู่กับความเชื่อของใคร
พระพุทธศาสนาจึงมีหลักอยู่อย่างหนึ่งว่า “ยถาภูตํ ปชานาติ” แปลว่า “รู้ชัดตามความเป็นจริง” คือความจริงเป็นอย่างไร ก็รู้ให้ตรงกับความเป็นจริง นั่นก็คือเราต้องปรับความเชื่อให้ตรงกับความจริง ไม่ใช่เกณฑ์ความจริงให้ตรงกับความเชื่อของเรา
แล้วเรื่องพ่อแม่มีบุญคุณหรือไม่มีบุญคุณ ความจริงเป็นอย่างไร?
ตอบตามคำสอนในพระพุทธศาสนา ก็ต้องตอบว่า ความจริงคือพ่อแม่มีบุญคุณจริง
ข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งคือ หลักคำสอนเรื่องอนันตริยกรรม (อะ-นัน-ตะ-ริ-ยะ-กำ)
………………………………
“อนันตริยกรรม” หมายถึง กรรมหนัก, กรรมที่เป็นบาปหนักที่สุด ตัดทางสวรรค์ ตัดทางนิพพาน, กรรมที่ให้ผลคือความเดือดร้อนไม่เว้นระยะเลย มี ๕ อย่างคือ –
๑. มาตุฆาต ฆ่ามารดา
๒. ปิตุฆาต ฆ่าบิดา
๓. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์
๔. โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป
๕. สังฆเภท ทำสงฆ์ให้แตกกัน
………………………………
จุดที่เป็นข้อพิสูจน์คือที่บอกว่า “ตัดทางสวรรค์ ตัดทางนิพพาน” คือคนที่ฆ่าพ่อฆ่าแม่ทำบุญอะไรแค่ไหนก็ไปเกิดในสวรรค์ไม่ได้ ปฏิบัติธรรมยิ่งยวดขนาดไหนก็บรรลุมรรคผลไม่ได้
ทำไมเป็นอย่างนั้น?
อย่างพระองคุลิมาล ฆ่าคนมาตั้งเท่าไรไหนหนึ่ง ก็ยังบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้
แต่ถ้าตอนนั้นท่านฆ่าแม่ หมดสิทธิ์ทันที
ทำไมเป็นอย่างนั้น?
แม่ก็แค่คนคนหนึ่งเหมือนกับคนอื่นๆ ที่ท่านฆ่ามาเป็นพัน
ถ้าคนอื่นมาฆ่าแม่ท่าน คนที่ฆ่าแม่ท่านก็ยังสามารถบรรลุมรรคผลได้
แต่ถ้าตัวท่านเป็นผู้ฆ่าแม่เสียเอง ท่านบรรลุมรรคผลไม่ได้ ทั้งๆ ที่คนถูกฆ่าก็เป็นคนเดียวกัน
ทำไมเป็นอย่างนั้น?
ถ้าการฆ่าคนไม่เป็นเหตุให้บรรลุมรรคผลไม่ได้
พ่อแม่ก็คือ “คน”
การฆ่าพ่อแม่ก็ไม่ควรจะเป็นเหตุให้บรรลุมรรคผลไม่ได้เช่นกัน
ใช่หรือไม่
แต่ทำไมคนฆ่าพ่อฆ่าแม่จึงบรรลุมรรคผลไม่ได้
นั่นแสดงว่า ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกต้องมีอะไรที่พิเศษยิ่งกว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนทั่วไป
และ “อะไรที่พิเศษ” นี้ ต้องเป็น “สัจธรรม” คือเป็นอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่เป็นอย่างที่คนเชื่อ หรือเป็นไปตามค่านิยมของคน
และ “อะไรที่พิเศษ” นั่นแหละคือสิ่งที่เราเรียกกันว่า “บุญคุณ”
……………….
ที่ว่ามานี้เป็นการอ้างข้อพิสูจน์บนพื้นฐานคำสอนของพระพุทธศาสนา
สำหรับคนที่ไม่เชื่อไม่นับถือคำสอนในพระพุทธศาสนา ย่อมอ้างได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพ่อแม่มีบุญคุณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอนันตริยกรรม-คนฆ่าพ่อฆ่าแม่ไปสวรรค์ไม่ได้ไปนิพพานไม่ได้ หรือไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรที่พระพุทธศาสนาสอน ไม่ต้องเอามาอ้าง ข้าพเจ้าไม่เชื่อทั้งนั้น ข้าพเจ้าเชื่อ “ความเชื่อ” ของข้าพเจ้าเองอย่างเดียวเท่านั้น
ถ้าเช่นนั้นก็เลิกพูดกัน
ทางใครทางมัน
เชิญไปตามทางของตัวเองตามสบายเถิด
ตอนต่อไป
………………………….
๖ กับครู เราจ่ายค่าเทอมแลกการศึกษาค่ะ
………………………….
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๙ ธันวาคม ๒๕๖๓
๑๙:๑๔
……………………………….
อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๔) (3)
……………………………….
อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๕)
……………………………….