บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๑)

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๕)

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๕)

———————–

………………………….

๖ กับครู เราจ่ายค่าเทอมแลกการศึกษาค่ะ 

………………………….

ถัดจากพ่อแม่ เป้าหมายต่อไปก็คือ ครู

นอกจากพ่อแม่จะไม่มีบุญคุณแล้ว ครูก็เป็นอีกพวกหนึ่งที่ไม่มีบุญคุณอะไรกับเรา และเราก็ไม่ต้องไปกตัญญูอะไรด้วย

ทำไมล่ะ?

อ้าว ก็-“เราจ่ายค่าเทอมแลกการศึกษา”-ยังไงเล่า

แนวคิดนี้ มองวิชาความรู้และสรรพสิ่งที่มนุษย์ควรได้รับการอบรมเรียนรู้ว่าเป็น “สินค้า” ที่ซื้อได้ด้วยเงินอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ต้องใช้อะไรอื่นอีก และไม่ต้องใช้คุณธรรมหรือหลักธรรมใดๆ มาเกี่ยวข้องด้วย

จ่ายเงินไป

ความรู้คือ “สินค้า” ชนิดหนึ่งก็แล่นปรู๊ดเข้ามาสถิตอยู่ในชีวิตเราได้เองทันทีโดยอัตโนมัติ

และครูก็มีฐานะเป็นแค่คนขายสินค้าชนิดนั้น

เราจ่ายเงินไป

คุณให้ความรู้มา

จบ

ก็เหมือนเราซื้อของตามห้างร้านนั่นไง

มี “คุณลูกค้า” คนไหนบ้างที่ต้องกตัญญูคนขายของ?

และด้วยตรรกะนี้ – 

ครูต่างหากที่จะต้องกตัญญูต่อเรา

ไม่มีเรา ครูก็อดตาย

ไม่มีเรา ครูจะเอากึ๋นที่ไหนไปเป็น “ครู” ถามหน่อย?!

……….

แนวความคิดเช่นนี้ควรจะเรียกว่า เป็น “การมองการศึกษาด้วยสายตาของคนที่ยังไม่ได้รับการศึกษา” คือยังไม่ได้เรียนรู้ถึงรากเหง้าการศึกษาของมนุษย์ 

ผมจะพยายามลำดับความให้ฟัง

…………………

รากเหง้าการศึกษาของมนุษย์เริ่มที่โคตรหรือวงศ์ตระกูลของมนุษย์แต่ละคน ใครเกิดมาในวงศ์ตระกูลอะไร ก็ศึกษาไปตามวงศ์ตระกูลของตน 

พ่อเป็นนายพราน ลูกก็เรียนวิชานายพรานจากพ่อ

พ่อเป็นช่างเหล็ก ลูกก็เป็นช่างเหล็กตามพ่อ

พ่อเป็นพ่อค้า ลูกก็เป็นพ่อค้าตามตระกูล

พ่อเป็นชาวนา ลูกก็เป็นชาวนาตามตระกูล

ธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์เป็นเช่นนี้ 

นี่คือที่เรียกว่าการศึกษาตามวงศ์ตระกูล

การศึกษาตามวงศ์ตระกูลเช่นนี้ พ่อแม่คือครู 

และพ่อแม่ไม่เคยเก็บค่าเล่าเรียนจากลูก

ต่อมา เมื่อเกิดความสัมพันธ์ระหวางตระกูลขึ้นมาอันเป็นธรรมชาติธรรมดาของมนุษย์ที่ต้องติดต่อสื่อสารกัน มนุษย์จึงเกิดมีความสนใจวิชาความรู้ต่างตระกูล 

เช่นลูกชาวนาอยากมีวิชาตีเหล็กเป็นต้น 

การส่งลูกหลานไปอยู่กับอีกตระกูลหนึ่งที่มีความสัมพันธ์คุ้นเคยกันเพื่อรับถ่ายทอดวิชาความรู้ จึงเกิดขึ้น 

การไปอยู่กับอีกตระกูลหนึ่งเช่นนี้ก็ไปอยู่ในฐานะเหมือนเป็นลูกหลานคนหนึ่งของตระกูลนั้น ไม่ได้เรียกเก็บค่าเล่าเรียนอะไรกัน ถือว่าเป็นการเกื้อกูลกันตามปกติ 

…………………

ตรงนี้ขอแวะข้างทางนิดหนึ่ง คือคำฝรั่งว่า school ที่เราแปลว่า โรงเรียน นั้น ดีร้ายจะเป็นคำเดียวกับ “สกุล” หรือตระกูลนี่เอง 

“ไปโรงเรียน” (go to school) ก็คือไปอยู่ที่ตระกูลอันตนจะรับถ่ายทอดวิชา อาจไปอยู่ด้วยเลยตลอดเวลาที่รับการถ่ายทอด หรือไปเฉพาะเวลาที่จะรับถ่ายทอดวิชาก็ได้ 

โรงเรียนกินนอนหรือโรงเรียนประจำ กับ โรงเรียนแบบไป-กลับ ก็ยังมีเป็นพยานอยู่ ขอฝากนักภาษาพิจารณาด้วยเถิด 

……….

กับอีกคำหนึ่ง ในภาษาไทยเรามีคำว่า “ลูกศิษย์” เรียกกันมาแต่เดิม และยังมีอีกหลาย “ลูก” เช่น ลูกจ้าง ลูกมือ ลูกน้อง คำพวกนี้ส่องให้เห็นวัฒนธรรมไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากชมพูทวีปผ่านทางพระพุทธศาสนา คือเรามองผู้ที่มาอยู่กับเราว่าเป็น “ลูก” คือเป็นคนในตระกูลของเรา เพียงแต่เป็น “ลูก” ในฐานะที่แตกต่างกันไป

“ลูกศิษย์” คือลูกที่อยู่ในฐานะเป็นศิษย์รับการถ่ายทอดวิชาความรู้

“ลูกจ้าง” คือลูกที่อยู่ในฐานะเป็นผู้ที่เราจ้างมาทำงาน

“ลูกมือ” คือลูกที่อยู่ในฐานะเป็นมือเป็นเท้าช่วยทำการแทนเรา 

“ลูกน้อง” คือลูกที่อยู่ในฐานะเป็นน้องของเรา

นี่คือเรามองทุกคนว่าเป็น “ลูก” คือเป็นสมาชิกในตระกูลเท่ากันหมด เพียงแต่อยู่ในฐานะต่างๆ กันเท่านั้น

คำว่า “ลูกศิษย์” เดี๋ยวนี้เราตัดคำว่า “ลูก” ออก เรียกกันเพียง “ศิษย์” คำเดียว เหมือนกับจะเกิดความรังเกียจกัน ไม่อยากให้ใครมาเป็นลูก หรือไม่อยากเป็นลูกใคร ก็ไม่รู้ว่าใครรังเกียจใครกันแน่ 

การที่ครูมองศิษย์ว่าเป็น “ลูก” นี้ สมัยก่อนปรากฏชัดเจนมาก ถ้าจะกำหนดกันด้วยห้วงเวลาทางประวัติศาสตร์ ก็ประมาณว่าตั้งแต่เราเริ่มตั้งโรงสคูล (school) ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เรื่อยมาจนถึง พ.ศ.๒๕๐๐ กึ่งพุทธกาล ตัดตอนกันตรงนั้น 

ในห้วงเวลาดังกล่าวนี้ ครูไม่ได้สอนแต่วิชาความรู้อย่างเดียว แต่อบรมสั่งสอนทุกเรื่อง ทั้งกิริยามารยาท นิสัยใจคอ ความประพฤติ เท่ากับที่พ่อแม่จะพึงอบรมสั่งสอนลูก และไม่ได้สอนเฉพาะในโรงเรียน แต่สอนทุกหนทุกแห่งที่พบปะกัน เด็กคนไหนมีปัญหาหรือมีอะไรผิดปกติ ครูจะตามไปดูจนถึงบ้าน 

ค่านิยม “ศิษย์มีครู” ในหมู่คนไทยจึงเข้มข้น ถึงขนาดบางคน-ใครด่าพ่อด่าแม่ อาจให้อภัย แต่ถ้าด่าครูเป็นไม่ยอมเด็ดขาด

ต่างกับวันนี้ ครูมีสิทธิ์สอนเฉพาะวิชาตามหลักสูตรเท่านั้น อื่นจากนั้น ขอโทษ อย่าสะเออะ! 

แล้วก็สอนได้เฉพาะในชั้นเรียนและในชั่วโมงเรียนเท่านั้น ก้าวเท้าออกจากห้องเรียนแล้ว ขอโทษ อย่ามาเสือกกับชีวิตกู!

…………………

กลับไปพิจารณาหลักเดิมของการเข้าศึกษาในต่างตระกูลที่ว่าเป็นการศึกษาแบบไม่มีค่าใช้จ่าย 

ร่องรอยที่เห็นได้ชัดเจนในคัมภีร์ก็คือ สถานะของศิษย์ หรือ “อันเตวาสิก” (ผู้อาศัยอยู่ในนั้นด้วย, คือพักอยู่หรืออยู่กับนายหรือครูของเขา, นักเรียน : one who lives in, i. e. lodges or lives with his master or teacher, a pupil-พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ) พบว่ามี ๒ ประเภท 

คือ ศิษย์ประเภทอันเตวาสิกทั่วไป ที่ต้องมีสิ่งตอบแทน ซึ่งก็คงจะตรงกับ “ค่าเล่าเรียน” ในสมัยนี้ และ “ธัมมันเตวาสิก” คือศิษย์ที่ไม่มีสิ่งตอบแทน แต่ใช้วิธีช่วยทำงานให้อาจารย์แทนค่าเล่าเรียน อยู่ในฐานะเป็นเด็กในบ้าน ทำงานทุกอย่างที่อาจารย์จะใช้ ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วก็เท่ากับเป็นการฝึกงานหรือรับการถ่ายทอดวิชาไปในตัวนั่นเอง บางทีศิษย์ประเภทนี้กลับเชี่ยวชาญในวิชานั้นๆ ยิ่งกว่าศิษย์ธรรมดาเสียด้วยซ้ำ ดังเช่นหมอชีวกไปเรียนวิชาแพทย์ที่ตักศิลา ก็ไปอยู่ในฐานะธัมมันเตวาสิกนี้ และอาจเพราะถูกอาจารย์ใช้อย่างหัวปักหัวปำนั่นเอง หมอชีวกจึงกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องสมุนไพรและการวางยาอย่างไม่มีใครเทียบ (ทุกโรค วางยาครั้งเดียวหายขาด)

จึงลงความเห็นได้ว่า การถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่กันในสมัยดั้งเดิมนั้นเป็นการให้เปล่า หากจะพึงมีสิ่งตอบแทนก็เป็นการที่ผู้เรียนระลึกถึงคุณของอาจารย์แล้วหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมามอบให้เป็นการบูชาครูหรือบูชาคุณ

ต่อมาเมื่อระบบเงินตรามีอิทธิพลมากขึ้น ดังที่การค้าแบบดั้งเดิมเป็นการ “แลกเปลี่ยน” สินค้า คือให้สิ่งของตอบแทนกัน ก็กลายเป็นการ “ซื้อขาย” คือจ่ายเงินแลกสิ่งของ ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงดังนี้เอง เมื่อผู้ต้องการเรียนวิชามีมากขึ้น การให้สิ่งของบูชาครูก็เปลี่ยนมาเป็นให้เงินแทนสิ่งของ แล้วกลายเป็นธรรมเนียมเสียค่าเล่าเรียนดังที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ วัฒนธรรม “ธัมมันเตวาสิก” ก็จึงค่อยๆ สูญไป 

แม้กระนั้น ในบางวงการ-เช่นวงการพิธีกรรม การถ่ายทอดวิชาแม้จะถูกอิทธิพลของระบบเงินตราครอบงำ เช่นต้องมี “ค่ายกครู” แต่ก็ยังเห็นร่องรอยของการถ่ายทอดวิชาความรู้แบบให้เปล่า นั่นคือค่ายกครูมีอัตราถูกเหมือนเป็นเรื่องล้อเล่น ซ้ำมีข้อห้ามไม่ใช่เรียกเกินราคาที่ครูบาอาจารย์กำหนดไว้อีกด้วย ซึ่งเท่ากับดำรงค่านิยมการให้เปล่าไว้นั่นเอง

จนกระทั่งทุกวันนี้ ทุกอย่างถูกตีค่าเป็นเงิน วิธีการถ่ายทอดวิชาความรู้กลายเป็นธุรกิจ เป็นที่มาของคำพูดที่ว่า – “กับครู เราจ่ายค่าเทอมแลกการศึกษาค่ะ”

เป็นคำพูดของคนที่ไม่เคยเรียนรู้รากเหง้าการศึกษา แต่มาอยู่ในยุคที่คุณธรรมทางการศึกษาเสื่อมโทรมจนถึงที่สุดแล้วนั่นเอง

……….

คำว่า “เราจ่ายค่าเทอมแลกการศึกษา” ฟังแล้วชวนให้คิดเทียบกับอะไรบางเรื่อง 

ต้องขอประทานโทษถ้าที่จะพูดนี้ฟังดูเป็นเรื่องหยาบ

คือ-ผมคิดเทียบกับความรักความต้องเนื้อพึงใจกันในระหว่างหนุ่มสาว ความรักที่มีให้กันและกันมีค่าเหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด สมมุติว่าหนุ่มสาวคู่หนึ่งได้เสียกันด้วยความรักความเต็มใจ อิ่มใจ ชื่นใจ สุขใจ ด้วยกันทั้งสองฝ่าย นั่นคือคุณค่าของความรัก

แต่ถ้าสมมุติใหม่ หลังจากเสพสมกันแล้ว ฝ่ายชายยื่นเงินจำนวนหนึ่งให้ฝ่ายหญิงแล้วบอกว่า –

“เราจ่ายค่าตัวแลกการเสพสุขให้เธอนะ” 

จะเหลืออะไรที่เป็นคุณค่าของความรัก?

เมื่อศิษย์พูดว่า “เราจ่ายค่าเทอมแลกการศึกษาค่ะ” 

จะเหลืออะไรที่เป็นคุณค่าของการถ่ายทอดวิชาความรู้ของมนุษย์?

………………….

แล้วลองตามไปดู ที่ว่า “เราจ่ายค่าเทอมแลกการศึกษาค่ะ” นั้น ใครจ่าย?

ก็จะพบความจริงว่า ร้อยทั้งร้อยพ่อแม่เป็นคนจ่าย 

แล้วลองถอยหลังไปดู คนที่พูด “เราจ่ายค่าเทอมแลกการศึกษาค่ะ” นั้น มองพ่อแม่เป็นอะไร

อ๋อ พ่อแม่ก็ไม่มีบุญคุณค่ะ! 

นี่คือความคิดของเด็กไทยสมัยนี้-เด็กไทยที่มีผู้ชื่นชมว่า อย่าดูถูกความคิดเด็ก!!

ตอนต่อไป

………………………….

๗ เพราะงั้นมาทวงบุนคุนไม่ได้ 

………………………….

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๓

๑๖:๕๐

……………………………….

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๔) (4)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………….

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๖)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *