บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๑)

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๖) 

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๖) 

———————–

………………………….

๗ เพราะงั้นมาทวงบุนคุนไม่ได้ 

………………………….

เมื่อประกาศอย่างอหังการว่าพ่อแม่และครูบาอาจารย์ไม่มีบุญคุณด้วยเหตุผลอย่างนี้ๆ แล้ว ก็สำทับให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดลงไป-อันเปรียบเสมือนตอกตะปูปิดฝาโลง-ว่า —

“เพราะงั้นมาทวงบุนคุนไม่ได้”

สำหรับพ่อแม่ มีความผิดโทษฐานทำให้เราเกิด เพราะฉะนั้นจงเลี้ยงดูเราให้ดีๆ เราอยากได้อะไร ต้องได้ อยากทำอะไร ต้องได้ทำ เลี้ยงให้เราโต ต่อจากนั้นก็จงออกไปจากชีวิตเราซะ จะไปไหนก็ไป อย่ามายุ่งกับเรา

สำหรับครู รับเงินค่าเทอมแลกการศึกษาของเราเสร็จแล้วก็รีบไปเสียให้พ้นๆ ไม่ต้องมาเสนอหน้าอีก เราไม่มีอะไรต่อกัน

และทั้งพ่อแม่ ทั้งครู จำใส่กะโหลกไว้ – อย่ามาทวง “บุนคุน” กับเรา!!

…….

ญาติมิตรที่อ่านคงเข้าใจได้ว่า ที่เขียนสำนวนแบบนี้เป็นการจงใจเขียนเพื่อให้สะใจ-สะใจลูกและสะใจศิษย์ที่มีแนวคิดแบบนี้

แต่ลูกที่ดีและศิษย์ที่ดีคงไม่พูดถึงขนาดนี้

………………….

ประเด็นเรื่องทวงบุญคุณนี่ จะว่าเข้าใจง่ายก็ง่ายที่สุด แต่จะว่าเข้าใจยากก็ยากไม่ใช่เล่น

ที่ว่าเข้าใจง่ายก็คือ-สำหรับคนที่เกิดมาจนได้เป็นพ่อคนแม่คนแล้ว-ก็คือพอมีลูกแล้วนั่นแหละ ก็จะเข้าใจเรื่องทวงบุญคุณนี่ได้ทะลุไปถึงก้นบึ้งของหัวใจ

แต่ถ้ายังเด็กอยู่ ยังอ่อนต่อโลก หรือยังไม่มีลูก พูดเรื่องนี้ให้เข้าใจได้ยากมาก 

………………….

เล่าเรื่องพระเจ้าอชาตศัตรูให้ฟังสักหน่อยก็แล้วกัน ขอเล่าเป็นภาษาธรรมดาๆ 

เจ้าอชาตศัตรูกษัตริย์แห่งแคว้นมคธสมัยพุทธกาลท่านจับพ่อท่านไปขังและทรมานจะให้พ่อตายเพื่อท่านจะได้เป็นกษัตริย์เร็วๆ ตอนนั้นท่านยังไม่มีลูก 

วันที่ลูกคนแรกของท่านเกิดกับวันที่พ่อท่านตาย เจ้าหน้าที่แจ้งข่าวมาเจอกันที่ท้องพระโรง ตกลงให้เอาข่าวลูกเกิดเข้าไปแจ้งก่อน

พอรู้ว่าลูกเกิดแล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูเกิดความรู้สึกรักลูกท่วมท้นขึ้นมาในหัวใจ คิดย้อนไปว่าตอนที่เราเกิด พ่อก็คงจะรู้สึกรักเราแบบเดียวกันนี้แหละ พลันก็สำนึกถึงบุญคุณของพ่อได้ในขณะนั้นนั่นเอง พอออกปากจะสั่งให้ไปปล่อยตัวพ่อ เจ้าหน้าที่ก็เข้ามาบอกว่าพ่อตายแล้ว (ดูรายละเอียดในสุมังคลวิลาสินี ภาค ๑ อรรถกถาสามัญผลสูตร หน้า ๒๐๑-๒๐๖)

นี่คือบทจะเข้าใจง่ายก็ง่ายแบบนี้

พอมีลูก พ่อแม่ที่ปกติจะรักลูกแบบนี้ทุกคน 

และตั้งแต่ลูกเกิดพ่อแม่ก็จะคิดอยู่เรื่องเดียว คือจะทำอะไรให้ลูก 

ไม่ได้คิดว่าจะเอาอะไรจากลูก

ถ้าหัวใจของพ่อแม่เป็นกระเป๋าหรือที่เก็บของ แล้วเทของที่อยู่ในกระเป๋าออกมาดูกันให้หมด เราก็จะพบแต่รายการที่คิดจะทำอะไรให้ลูกทั้งนั้น รายการที่คิดจะเอาอะไรจากลูก หาไม่เจอ

เพราะฉะนั้น รายการทวงบุญคุณจึงไม่มีอยู่ในภารกิจประจำชีวิตของพ่อแม่

คนที่เป็นพ่อคนแม่คนแล้วย่อมจะเป็นพยานยืนยันความที่กล่าวนี้ได้

ครูก็ไม่ต่างอะไรจากพ่อแม่

หัวใจครูกับหัวใจพ่อแม่เป็นหัวใจชนิดเดียวกัน

คนที่เป็นครูด้วยชีวิตจิตวิญญาณย่อมจะเป็นพยานยืนยันความที่กล่าวนี้ได้

เพราะฉะนั้น รายการทวงบุญคุณจึงไม่มีอยู่ในภารกิจประจำชีวิตของครูด้วยเช่นเดียวกัน

และถ้าศึกษาหลักการทำหน้าที่ของพ่อแม่และของครูที่พระพุทธศาสนาสอนไว้ ก็จะพบว่า มีแต่คำสอนว่าจะต้องทำอะไรให้ลูก จะต้องทำอะไรให้ศิษย์เท่านั้น

ไม่มีคำสอนว่าให้ทวงบุญคุณจากลูก ให้ทวงบุญคุณจากศิษย์

เพราะฉะนั้น ทั้งลูกทั้งศิษย์โปรดสบายใจได้ ไม่มีพ่อแม่ที่ปกติคนไหนและไม่มีครูที่ปกติคนไหนไปทวงบุญคุณจากท่านอย่างแน่นอน

ไม่จำเป็นต้องสำทับ -“เพราะงั้นมาทวงบุนคุนไม่ได้” – หรอก!!

………………….

แต่ก็แน่นอน ในดีมีเสีย ในเสียมีดี 

พ่อแม่ที่ไม่ปกติและครูที่ไม่ปกติก็จะต้องมีอยู่บ้าง

แต่เป็นส่วนน้อยอย่างยิ่ง 

เพราะฉะนั้น กรุณาอย่ายกเอาส่วนน้อยอย่างยิ่งนั้นขึ้นมาอ้างเพื่อที่จะแย้งค้านว่าพ่อแม่ไม่ดี ครูเลว เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องนับถือ

ก็ทำนองเดียวกับเมื่อเราได้ยินได้รู้ว่ามีพระภิกษุประพฤติเสื่อมเสียที่นั่นที่โน่น แล้วมีใครบางคนพูดขึ้นว่า ต่อไปนี้เราเลิกนับถือพระกันเถิด เพราะพระประพฤติชั่ว

แล้วพระที่ประพฤติดีมีอยู่เป็นอันมากเล่า เราก็เลิกนับถือด้วยอย่างนั้นหรือ?

พระประพฤติชั่ว ก็เกิดคนบกพร่องขึ้นคนหนึ่งแล้ว

เรามาเลิกนับถือพระเสียอีกคนหนึ่ง 

คราวนี้มีคนบกพร่องเพิ่มขึ้นเป็นสองคน

เป็นวิธีคิดที่ถูกต้องแล้วหรือ

………………….

ทีนี้ลองมาคิดกันเล่นๆ พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกมาเป็นอย่างดีมีแต่ให้ ครูที่สอนศิษย์ด้วยหัวใจไม่หวังอะไรตอบแทน ถ้าสมมุติว่าท่านเกิดอยากจะ “ทวงบุญคุณ” ขึ้นมา ท่านมีสิทธิ์ไหม?

ผมมีข้ออุปมา ซึ่งอาจจะถูกแย้งว่าจะเอามาเปรียบกันไม่ได้ คืออุปมาเหมือนคนฝากเงินไว้กับธนาคารโดยไม่ได้มีแผนการที่จะถอน ถ้าฝากไว้จนครบเกณฑ์แล้ว เกิดวันหนึ่งอยากถอนขึ้นมา เขามีสิทธิ์ที่จะถอนหรือไม่? 

ไม่ต้องตอบนะครับ เพราะเป็นเพียง-ลองคิดกันเล่นๆ

แต่ที่ได้ยินมาจริงๆ ก็คือแง่คิดเรื่อง-ทำไมพ่อแม่ไทยในค่านิยมสังคมเก่าจึงอยากให้ลูกชายได้บวชเรียน

เคยได้ยินผู้รู้อธิบายว่า เพราะพ่อแม่ต้องการจะยืมปากพระให้อบรมสั่งสอนลูกเรื่องบุญคุณของพ่อแม่ 

ยังไง?

ยังงี้-คือธรรมชาติธรรมดาของคนเป็นพ่อแม่ (รวมทั้งคนที่เป็นครูด้วย-ละไว้ฐานเข้าใจ) สามารถอบรมสั่งสอนลูก (และศิษย์) ได้หมดทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องเดียวที่ท่านกระดากปากที่จะพูด นั่นคือเรื่องบุญคุณของตัวเอง 

ไม่มีพ่อแม่และครูคนไหนพูดเรื่องบุญคุณของตัวเองที่มีต่อลูกหรือต่อศิษย์ให้ลูกของตัวและให้ศิษย์ของตนฟังตรงๆ 

มันกระดากปาก เข้าทำนองกลองระฆังดังเองเป็นกลองระฆังจังไร ไม่มีใครเขาทำกัน

ถึงตัวเราเองก็เช่นกัน ลองนึกดูเถิด มีแต่คนอื่นใช่ไหมที่บอกเราว่าพ่อแม่มีบุญคุณ ครูบาอาจารย์มีบุญคุณ 

แต่ตัวพ่อแม่และครูบาอาจารย์ของเราท่านไม่เคยบอกเราด้วยตัวท่านเองเลย ใช่หรือไม่

แหล่งการศึกษาอบรมคุณธรรมในสังคมไทยแต่เดิมคือวัด เพื่อให้ลูกได้รับการศึกษาอบรมให้มีคุณธรรมครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้มั่นใจได้ว่าเรื่องกตัญญูกตเวที เรื่องคุณของพ่อแม่ คุณของครูบาอาจารย์ ลูกก็จะได้รับการอบรมสั่งสอนด้วยอย่างแน่นอน พ่อแม่ไทยในค่านิยมสังคมเก่าจึงอยากให้ลูกชายได้บวชเรียนยิ่งนัก 

เอาเรื่องนี้มาเขียนไว้เป็นข้อคิดเสริม เพื่อให้มั่นใจได้ยิ่งขึ้นว่า พ่อแม่จะไม่ทวงบุญคุณจากลูก และครูจะไม่ทวงบุญคุณจากศิษย์อย่างแน่นอน ยืนยันได้จากหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ประเพณีและค่านิยมในสังคมไทยดังบรรยายมา

บรรดาลูกๆ และบรรดาศิษย์ๆ ที่นิยมแนวคิดแบบนั้น หลับให้สบายเถิด

พ่อแม่และครูจะช่วยกันตอกตะปูปิดฝาโลงให้!!

ตอนต่อไป

………………………….

๘ และถ้ากับแผ่นดิน คิดว่าไม่มีค่ะ

………………………….

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๓

๑๘:๒๖

……………………………….

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๕)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………….

อย่าดูถูกความคิดผู้ใหญ่ (๗)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *