บาลีวันละคำ

อาชญาบัตร (บาลีวันละคำ 1,134)

อาชญาบัตร

อ่านว่า อาด-ยา-บัด และ อาด-ชะ-ยา-บัด

(ตาม พจน.54)

ประกอบด้วย อาชญา + บัตร

(๑) “อาชญา

บาลีเป็น “อาณา” (อา-นา) รากศัพท์มาจาก อาณฺ (ธาตุ = ส่งไป) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: อาณฺ + = อาณ + อา = อาณา แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องส่งไป” ขยายความว่า “ส่งคำสั่งไปประกาศให้รู้และให้ปฏิบัติตาม” หมายถึง คำสั่ง, ข้อบังคับ, การบังคับบัญชา, การสั่ง, อำนาจ (order, command, authority)

อาณา” สันสกฤตเป็น “อาชฺญา” อ่านว่า อาด-ยา (เสียงที่น่าจะใกล้เคียงที่สุดคือ อาด-เชีย) เอามาใช้ในภาษาไทยจึงมักออกเสียงตามสะดวกลิ้นไทยว่า อาด-ชะ-ยา

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

อาชฺญา : (คำนาม) คำสั่ง, บัญชา; an order, a command.”

นอกจากปรับเสียงแล้วเรายังปรับรูปเป็น “อาญา” อีกรูปหนึ่ง ในภาษาไทยจึงมีใช้ทั้ง อาญา อาณา และ อาชญา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายแต่ละคำไว้ดังนี้ –

1 อาญา : (1) อํานาจ; โทษ (มักใช้สําหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านาย) เช่น พระราชอาญา (2) คดีที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดตามกฎหมายอาญา เรียกว่า คดีอาญา แตกต่างกับคดีที่ฟ้องร้องเกี่ยวกับสิทธิส่วนเอกชน ซึ่งเรียกว่า คดีแพ่ง

2 อาณา : อํานาจปกครอง เช่น อาณาบริเวณ

3 อาชญา : อํานาจ; โทษ (มักใช้สําหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านาย) เช่น พระราชอาชญา

(๒) “บัตร

บาลีเป็น “ปตฺต” (ปัด-ตะ)

คำว่า “ปตฺต” ในบาลีมีความหมายหลายอย่าง คือ :

(1) ปีกนก, ขนนก (the wing of a bird, a feather)

(2) ใบไม้ (a leaf)

(3) แผ่นโลหะบางๆ เล็กๆ ที่พิณ (a small thin strip of metal at the lute)

(4) บาตรของภิกษุ, ชาม (the alms-bowl of a bhikkhu, a bowl)

ในที่นี้ “ปตฺต” หมายถึง ใบไม้. รากศัพท์มาจาก ปตฺ (ธาตุ = ตก) + ปัจจัย

: ปตฺ + = ปตฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะร่วงหล่นโดยไม่นาน

เดิมเราขีดเขียนอักษรลงบนใบไม้เพื่อใช้ส่งสารติดต่อถึงกัน ต่อมาเมื่อพัฒนาขึ้นเป็นแผ่นกระดาษ จึงเรียกกระดาษหรือสิ่งที่เป็นแผ่นใช้เขียนลายลักษณ์อักษรว่า “ปตฺต” หมายถึง ใบ, แผ่น, ใบหนังสือ, จดหมาย, ลายลักษณ์อักษรทั่วไป

ปตฺต สันสกฤตเป็น “ปตฺร” เราใช้อิงสันสกฤตเป็น “บัตร” (บัด)

ในภาษาไทย คำว่า “บัตร” ใช้ต่อท้าย “คำศัพท์” ที่เป็นบาลีสันสกฤตด้วยกัน เช่น นามบัตร สิทธิบัตร ประกาศนียบัตร มรณบัตร อนุโมทนาบัตร

อาณา + ปตฺต > อาชญา + บัตร = อาชญาบัตร แปลตามศัพท์ว่า “หนังสือแสดงว่ามีอำนาจ” = ใบอนุญาตให้มีอำนาจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง

อาชญาบัตร” เป็นคำที่บัญญัติขึ้นเทียบอังกฤษว่า licence (license)

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล licence เป็นบาลีดังนี้ :

anuññā อนุญฺญา (อะ-นุน-ยา) = การอนุญาต

anumati อนุมติ (อะ-นุ-มะ-ติ) = การอนุมัติ

adhikārapaṇṇa อธิการปณฺณ (อะ-ทิ-กา-ระ-ปัน-นะ) = หนังสือให้อำนาจกระทำการ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

อาชญาบัตร : (คำที่ใช้ในกฎหมายกฎ) (คำนาม) ใบอนุญาตซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้แก่ผู้รับอนุญาตเพื่อใช้ประกอบการอาชีพบางอย่างตามเขตที่กําหนด.

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แก้ไขบทนิยามใหม่เป็นดังนี้ –

อาชญาบัตร : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) ใบอนุญาตซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้แก่ผู้รับอนุญาตเพื่อกระทำการบางอย่างภายในเขตที่กําหนด.”

: อำนาจของคนพาล มีไว้เพื่อสังหารตนเอง

3-7-58

ต้นฉบับ