อหังการ (บาลีวันละคำ 486)
อหังการ
อ่านว่า อะ-หัง-กาน
บาลีเขียนว่า “อหงฺการ” (สะกด “อหํการ” ก็มี) อ่านว่า อะ-หัง-กา-ระ
“อหงฺการ” ประกอบด้วย อหํ + การ
“อหํ” เป็นสรรพนามเรียกตัวผู้พูดเอง (เอกพจน์ ประธานของประโยค) แปลว่า ข้าพเจ้า ข้า กู (ตามสถานะ)
“การ” รากศัพท์คือ กรฺ ธาตุ ยืดเสียงเป็น การ แปลว่า การกระทำ, งาน, สิ่งหรือเรื่องที่ทํา
อหํ + การ แปลงนิคหิตเป็น ง = อหงฺการ แปลตามศัพท์ว่า “อาการเป็นเหตุให้ทำตนว่าข้า” = การทำความยึดมั่นว่าตัวข้า
ภาษาไทยใช้ว่า “อหังการ” บางทีออกเสียงเป็น “อหังกา” = อหังการ์ (ร์ การันต์) พจน.42 บอกไว้ว่า –
“อหังการ : (คำนาม) การยึดว่าเป็นตัวเรา; ความเย่อหยิ่งจองหอง, ความทะนงตัว, ความก้าวร้าวด้วยการถือว่าตนเองสำคัญ (คำกริยา) หยิ่ง, จองหอง, อวดดี”
ความหมายทางธรรม (ความหมายเชิงปรัชญา) อหังการ หมายถึงทฤษฎีที่ยึดมั่นว่ามีตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวรสำหรับอยู่เสวยสุขชั่วนิรันดร
“อหังการ” มักมาคู่กับ “มมังการ” (มะ-มัง-กาน, : มมํ (มะ-มัง = ของข้าพเจ้า ของข้า ของกู) + การ) หมายถึง “การทำความยึดถือว่าของข้า”
คำของท่านพุทธทาสภิกขุที่ว่า “ตัวกู-ของกู” ก็ถอดไปจาก “อหังการ-มมังการ” นี่เอง
: ใหญ่แค่ไหนก็เอาไว้ไม่อยู่
แล้วจะยึดตัวกูของกูไปทำไม
13-9-56