บาลีวันละคำ

วินยาธิการ (บาลีวันละคำ 485)

วินยาธิการ [1]

อ่านว่า วิ-นะ-ยา-ทิ-กาน

ประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ วินย + อธิการ

วินย” (วิ-นะ-ยะ) คำเดียวกับที่เราใช้ว่า “วินัย” รากศัพท์คือ วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + นี (ธาตุ แปลง นี > เน > นย = นำไป)

: วิ + นย แปลตามศัพท์ว่า “นำไปอย่างวิเศษ” = ฝึก, อบรม, กำจัด

ฝึกให้ทำความดีเป็น

อบรมให้นิสัยดีติดตัว

กำจัดนิสัยที่ไม่ดีออกไป

วินยวินัย” ตามความหมายที่เข้าใจกันคือ กฎ, ระเบียบแบบแผน, ข้อบังคับ, ข้อปฏิบัติ

อธิการ” (บาลีอ่านว่า อะ-ทิ-กา-ระ) รากศัพท์คือ อธิ (คำอุปสรรค = ยิ่ง, ใหญ่, ทับ) + กรฺ (ธาตุ ยืดเสียง กร > การ = ทำ)

: อธิ + การ แปลตามศัพท์ว่า “ทำอย่างยิ่งใหญ่” = ทำอย่างไว้ฝีมือ, ทำอย่างถวายชีวิต

อธิการ” ตามความหมายทั่วไปคือ ผู้ทำการ, เจ้าการ, เจ้ากรณี, เจ้าของเรื่อง, เรื่องหรือกรณีที่กำลังพิจารณา

อธิการ” ตามความหมายเฉพาะในที่นี้คือ เจ้าหน้าที่, ผู้ได้รับมอบหมายหรือแต่งตั้งให้มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องราวหรือกิจการนั้นๆ

วินยาธิการ” หมายถึงพระที่ได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่รับผิดชอบในกรณีที่มีภิกษุสามเณรละเมิดวินัย หรือประพฤติมิชอบปรากฏต่อสาธารณะ

พระวินยาธิการ” มีผู้เรียกเป็นภาษาปาก แต่เป็นที่เข้าใจกันดีว่า “ตำรวจพระ

วินยาธิการ” (วินัย + อธิการ) อ่านว่า วิ-นะ-ยา-ทิ-กาน ไม่ใช่ วิน-ยา-ทิ-กาน

ทำนองเดียวกับนามสมณศักดิ์พระราชาคณะ “พระราชวินยาภรณ์” (-ราด-ชะ-วิ-นะ-ยา-พอน = – วินัย + อาภรณ์ แปลว่า “ผู้มีวินัยเป็นเครื่องประดับ”) มีผู้อ่านผิดเป็น พระราช-วิน-ยา-ภรณ์ แล้วเลยมีผู้เขียนตามความเข้าใจผิดว่า “พระราชวิญญาภรณ์” กลายเป็นคนละคำไป

: คุมตัวเองไม่ดี จึงต้องมีตำรวจ

: คุมตัวเองเข้มงวด ไม่มีตำรวจ ก็ดี

—————

(พระวินยาธิการ ที่เจ้าคณะจังหวัด…สั่งยุบหน่วยงานนี้ คืออะไร -Suwit Yongwanit ถาม)

12-9-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย