อหิงสา (บาลีวันละคำ 618)
อหิงสา
อ่านว่า อะ-หิง-สา
บาลีเขียน “อหึสา”
“อหึสา” รากศัพท์ คือ น (= ไม่, ไม่ใช่) แปลงเป็น อ + หึส (ธาตุ = เบียดเบียน) + อ ปัจจัย + อา (ทำให้เป็นอิตถีลิงค์)
: น > อ + หึส + อ = อหึส + อา = อหึสา
โปรดสังเกต
– –หึ– สระ อิ ที่ ห และมีจุดบน ทำให้ อิ เหมือนสระ อึ แต่อ่านเป็นเสียง “อิง”
– อหึ– ไม่ใช่ อะ-หึ (เสียงหัวเราะ หึ หึ) แต่เป็น อะ-หิง-
“อหึสา” เขียนแบบไทยเป็น “อหิงสา”
“หิงสา” (ยังไม่มี อ-) แปลว่า การเบียดเบียน, การทำอันตราย, ความโหดร้าย, การประทุษร้าย, การรบกวน, ความกังวล (hurting, injuring, cruelty, injury, vexation, annoyance, worry)
เมื่อมี “อ-” เป็น “อหิงสา” จึงมีความหมายเชิงปฏิเสธ และตรงข้ามกับ “หิงสา” คือหมายถึง การไม่เบียดเบียน, มนุษยธรรม, ความเมตตากรุณา (not hurting, humanity, kindness)
“อหิงสา” เป็นวิธีต่อสู้โดยไม่ต่อสู้ คือไม่ทำให้คู่ต่อสู่ได้รับอันตราย เป็นการต่อสู้เยี่ยงอารยชน เป็นการต่อสู่ที่เหนือการต่อสู้ ผู้ที่เจริญแล้วและฝึกตัวเองมาแล้วอย่างหนักเท่านั้นจึงจะสู้ด้วยวิธีอหิงสาได้
อานิสงส์อหิงสา
(ประมวลความจากพุทธศาสนสุภาษิตในคัมภีร์ต่างๆ)
1. เป็นที่รัก
2. ได้รับการสรรเสริญ
3. เหยียบย่างไปทางไหน มีแต่ความราบรื่น
4. ไม่มีศัตรูเวรภัย
5. เป็นทางนำไปสู่สิ่งที่ดีงาม
6. เป็นอารยชน
7. ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้ใหญ่” ที่แท้จริง
8. ได้ชื่อว่าเป็นสาวกของพระโคดมพุทธเจ้า
9. เป็นอมตะในโลก
10. บรรลุถึงสังคมที่สุขเกษม
อหึสาย รโต มโน :
: อหิงสา วัดผลที่การกระทำและคำพูด
: แต่บทพิสูจน์-วัดกันด้วยหัวใจ
24-1-57