ทุกขักษัย (บาลีวันละคำ 3,688)
ทุกขักษัย
มาจากไหน ดูเป็นแขกแปลกหน้า
อ่านว่า ทุก-ขัก-ไส
(ตามพจนานุกรมฯ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทุกขักษัย : (คำแบบ) (คำนาม) การหมดทุกข์, พระนิพพาน. (ส. ทุะข + กฺษย; ป. ทุกฺขกฺขย).”
หมายเหตุ: “คำแบบ” หมายถึง คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป
พจนานุกรมฯ บอกว่า “ทุกขักษัย” บาลีเป็น “ทุกฺขกฺขย”
“ทุกฺขกฺขย” อ่านว่า ทุก-ขัก-ขะ-ยะ ประกอบด้วยคำว่า ทุกฺข + ขย
(๑) “ทุกฺข”
อ่านว่า ทุก-ขะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ทุ (คำอุปสรรค = ชั่ว, ยาก, ลำบาก, ทราม) + ขมฺ (ธาตุ = อดทน) + กฺวิ ปัจจัย, ซ้อน กฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (ทุ + กฺ + ขมฺ), ลบ กฺวิ และลบที่สุดธาตุ (ขมฺ > ข)
: ทุ + กฺ + ขมฺ = ทุกฺขมฺ + กฺวิ = ทุกฺขมกฺวิ > ทุกฺขม > ทุกฺข แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะที่ทำได้ยากที่จะอดทน” คือยากที่จะทนได้ = ทนนะทนได้ แต่ยากหน่อย หรือยากมาก
(2) กุจฺฉิต (น่ารังเกียจ) + ข (แทนศัพท์ว่า “สุข” = ความสุข), ลบ จฺฉิต (กุจฺฉิต > กุ), แปลง กุ เป็น ทุ, ซ้อน กฺ ระหว่าง ทุ กับ ข (ทุ + กฺ + ข)
: กุจฺฉิต + กฺ + ข = กุจฺฉิตกฺข > กุกฺข > ทุกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ความสุขที่น่ารังเกียจ” เป็นการมองโลกในแง่ดี คือความทนได้ยากที่เกิดขึ้นนั้นมองว่า-ก็เป็นความสุขแบบหนึ่ง แต่เป็นความสุขที่น่าเกลียด หรือน่ารังเกียจ
(3) ทฺวิ (สอง) + ขนุ (ธาตุ = ขุด) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง ทฺวิ เป็น ทุ, ซ้อน กฺ ระหว่าง ทฺวิ กับธาตุ (ทฺวิ + กฺ + ขนฺ), ลบที่สุดธาตุ (ขนฺ > ข)
: ทฺวิ + กฺ + ขน = ทฺวิกฺขนฺ + อ = ทฺวิกฺขน > ทุกฺขน > ทุกฺข แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะที่ขุดจิตเป็นสองอย่าง” คือจิตปกติเป็นอย่างหนึ่งอยู่แล้ว พอมีทุกข์มากระทบ ก็กระเทือนกลายเป็นอีกอย่างหนึ่ง ทำนองเดียวกับสำนวนที่ว่า “หัวใจแตกสลาย”
(4) ทุกฺขฺ (ธาตุ = ทุกข์) + อ (อะ) ปัจจัย
: ทุกฺขฺ + อ = ทุกฺข แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะที่ทำให้เป็นทุกข์” คำแปลสำนวนนี้ในภาษาบาลีมีความหมาย แต่ในภาษาไทย เท่ากับพูดว่า มืดคือค่ำ และ ค่ำคือมืด คือเป็นเพียงบอกให้รู้ว่า สิ่งนั้นเรียกว่า “ทุกข์” หรือเล่นสำนวนว่า “ทุกข์ก็คือทุกข์”
ความหมายที่เข้าใจทั่วไป “ทุกข์” คือความยากลําบาก, ความไม่สบายกายไม่สบายใจ (grief & sorrow, afflictions of pain & misery, all kinds of misery)
(๒) “ขย”
อ่านว่า ขะ-ยะ รากศัพท์มาจาก ขี (ธาตุ = เสื่อม, สิ้น) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อี ที่ ขี เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (ขี > เข > ขย)
: ขี + ณ = ขีณ > ขี > เข > ขย (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่สิ้นไป” หมายถึง ความสูญเสียหรือหมดสิ้นไป, ความเสื่อมหรือทรุดโทรมลง, ความหมดไป; การกินกร่อน, ความเสื่อมลง, ความสูญไป (waste, destruction, consumption; decay, ruin, loss)
บาลี “ขย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ขัย” (ไข)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ขัย : (คำนาม) ความสิ้นไป, เขตอายุของคนที่นิยมกันว่าสูงสุด เรียกว่า อายุขัย. (ป. ขย; ส. กฺษย).”
บาลี “ขย” สันสกฤตเป็น “กฺษย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“กฺษย : (คำนาม) ‘กษัย,’ ความเสียหาย, ความพินาศ, ความซูบผอม, ความสิ้น, การโยกย้าย; ความพินาศแห่งโลก; โรคผอมแห้ง; ปอดพิการ; บ้าน, เรือน, ที่อาศรัย; พยาธิหรือความป่วยไข้ทั่วไป; ความเสื่อมสิ้น, ความประลัย; (คำใช้ในพิชคณิต) กษัยราศี, จำนวนลบ; loss, destruction, waste, end, removal; destruction of the universe; consumption; phthisis pulmonalis; a house, a abode or asylum; disease or sickness in general; wasting away, decay; (in algebra) negative quantity, minus.”
…………..
หมายเหตุ: ภาษาอังกฤษ phthisis pulmonalis ตรงกับความหมายภาษาไทยว่า ปอดพิการ คำว่า pulmonalis ต้นฉบับ pul กับ monalis อยู่คนละบรรทัด และไม่มีขีดเชื่อมคำ ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่แน่ใจว่าคำนี้สะกดถูกต้องหรือไม่ ขอท่านผู้รู้โปรดช่วยตรวจสอบด้วย
…………..
สันสกฤต “กฺษย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “กษัย” อ่านว่า กะ-ไส และ “กษัย-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) อ่านว่า กะ-ไส-ยะ-
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กษัย, กษัย– : (คำนาม) การสิ้นไป, การหมดไป, การเสื่อมไป, การน้อยไป; ชื่อโรคตามตำราแพทย์แผนโบราณว่า ทำให้ร่างกายทรุดโทรม มีอาการผอมแห้งตัวเหลืองเท้าเย็น, เขียนเป็น กระษัย ก็มี. (ส. กฺษย; ป.ขย).”
ทุกฺข + ขย ซ้อน กฺ ระหว่างศัพท์
: ทุกฺข + กฺ + ขย = ทุกฺขกฺขย (ทุก-ขัก-ขะ-ยะ) แปลว่า “ความสิ้นไปแห่งทุกข์”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทุกฺขกฺขย” ว่า the destruction of pain, the extinction of ill (ความดับแห่งทุกข์, การทําลายความเจ็บปวด)
“ทุกฺขกฺขย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ทุกขักษัย” พจนานุกรมฯ บอกคำอ่านว่า ทุก-ขัก-ไส และบอกว่าคำสันสกฤตมาจาก ทุะข + กฺษย (ดูข้างต้น)
อภิปราย :
“ทุกขักษัย” ถ้าแยกศัพท์ก็จะเป็น ทุกข (บาลี) + กษัย (สันสกฤต)
ทุกข อ่านว่า ทุก-ขะ-
กษัย อ่านว่า กะ-ไส
ทุกข + กษัย ถ้ารวมกันตรงๆ ก็ควรจะเป็น “ทุกขกษัย” และควรจะอ่านว่า ทุก-ขะ-กะ-ไส ยังคงรูปและเสียงเดิมไว้ได้ครบถ้วน
แต่เมื่อพจนานุกรมฯ สะกดคำนี้เป็น “ทุกขักษัย” ทำให้เกิดรูปใหม่ คือ –ขัก– เพราะเอา ก– จาก กษัย มาเป็นตัวสะกด –ข (ขกฺ = ขัก) เสียง -ขะ กลายเป็น -ขัก- ส่วน กษัย เหลือแต่ –ษัย จะอ่านว่า กะ-ไส เหมือนเดิมก็ไม่ได้ เพราะ ก– ไปเป็นตัวสะกดเสียแล้ว ต้องอ่านว่า -ไส ซึ่งเป็นเสียงที่ไม่ได้ความหมาย เพราะความหมายที่ว่า “การสิ้นไป” มาจากคำที่ออกเสียงว่า กะ-ไส ไม่ใช่ ไส พยางค์เดียว
ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นว่า คำนี้สะกดเป็น “ทุกขกษัย” จะเหมาะกว่า หรือจะสะกดเป็น “ทุกข์กษัย” ก็ยังพออนุโลม เพราะได้รูปเท่าเดิมที่คุ้นตาคนไทย
“ทุกขกษัย” อ่านว่า ทุก-ขะ-กะ-ไส ได้เสียงเท่าคำเดิมที่คุ้นหู
“ทุกข์กษัย” อ่านว่า ทุก-กะ-ไส ก็ยิ่งคุ้นหู ยังมีรูป “กษัย” และเสียง กะ-ไส ที่เราคุ้นกับความหมายว่า “การสิ้นไป”
ฟังแต่เสียง:
ทุก-กะ-ไส ได้ความหมายว่า ทุกข์สิ้นไป = ทุกข์กษัย
ทุก-ขัก-ไส ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร นึกรูปคำไม่ออก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ทางไปสู่ความสิ้นทุกข์มีอยู่
: แต่ผู้เดินทางไม่มี
#บาลีวันละคำ (3,688)
18-7-65
…………………………….
…………………………….