บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

แผ่นดินพระพุทธศาสนา

แผ่นดินพระพุทธศาสนา

—————————–

พระภิกษุสามเณรตามวัดต่างๆ มีกิจวัตรทำวัตรสวดมนต์วันละ ๒ เวลา คือเช้า-ประมาณ ๐๘:๐๐ และเย็น-ประมาณ ๑๗:๐๐ พยานหลักฐานที่ยืนยันคือ บททำวัตรเช้าและทำวัตรเย็น ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔

แล้วก่อนรัชกาลที่ ๔ ไม่มีทำวัตรสวดมนต์หรือ? 

มีครับ แต่จะสวดบทไหนบทอะไร ต้องไปศึกษาค้นคว้ากันดู แต่ยืนยันได้ว่าการไหว้พระสวดมนต์ประจำวันนั้นเป็น “กิจของสงฆ์” ที่ทำกันมาเนิ่นนานแล้ว

การทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็นนั้น พระเณรสมัยก่อนถือเป็นเรื่องสำคัญ เป็นกิจที่ขาดไม่ได้และไม่ควรขาด

คำพูดประโยคหนึ่งที่เป็นเครื่องยืนยันคือ “ขี้เต็มถาน เจ็ดตำนานไม่จบ” 

“เจ็ดตำนาน” คือหนังสือสวดมนต์

“ขี้เต็มถาน เจ็ดตำนานไม่จบ” เป็นคำพูดที่ใช้กับพระที่บวชเข้ามาแล้วไม่ท่องบ่นบทสวดมนต์ บทที่ควรจะสวดได้ในกิจวัตรประจำวันก็สวดไม่ได้ เวลาทำวัตรสวดมนต์ต้อง “แอบ” เอาหนังสือเจ็ดตำนานไปกางอ่าน 

ที่ควรทราบไว้เป็นตำนานอีกอย่างหนึ่งก็คือ พระเณรสมัยก่อนทำวัตรสวดมนต์สวดปากเปล่า คือท่องบทสวดได้ทุกบท ไม่ต้องเปิดหนังสือ 

ที่ว่า “ควรทราบไว้เป็นตำนาน” ก็เพราะต่อไปจะไม่มีใครเชื่อ เนื่องจากการสวดมนต์หรือทำวัตรสวดมนต์ คนสมัยนี้เกิดมาก็เห็นแต่กางหนังสืออ่านทั้งนั้น

สมัยนี้นิมนต์พระไปเจริญพระพุทธมนต์ในงานต่างๆ พระท่านยังสวดปากเปล่าได้ แต่ทำนายได้เลยว่า ในอนาคตอีกไม่นาน พระสวดมนต์ในงานพิธีจะกางหนังสืออ่าน และจะเห็นกันว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่สุด พระ-หรือคน-ที่สวดมนต์ปากเปล่าจะมีอยู่แต่ในตำนานเท่านั้น

ที่ว่า-การทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็นเป็นกิจสำคัญของพระเณรทุกวัดนั้น ยืนยันได้จากเพื่อนผมเอง บวชอยู่วัดมหาธาตุราชบุรีด้วยกัน แล้วย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ เพื่อเรียน มจร สมัยโน้นการเรียน มจร ยังคาบลูกคาบดอกอยู่ หลายๆ วัดไม่เต็มใจที่จะให้พระในสังกัดไปเรียน

เจ้าอาวาสวัดที่เพื่อนผมไปอยู่ยื่นเงื่อนไขว่า ใครจะไปเรียน มจร มมร ก็ได้ แต่ทำวัตรเช้า-เย็นต้องไม่ขาด

การไปเรียน มจร มมร เป็นกิจสำคัญ 

แต่ทำวัตรเช้า-เย็น เป็นกิจสำคัญกว่า

เดี๋ยวนี้ได้ยินว่า เจ้าอาวาสทุกวัดยื่นเงื่อนไขว่า ใครจะขาดทำวัตรสวดมนต์ก็ได้ แต่ต้องไปเรียน มจร มมร

……………….

ก่อนที่ผมจะมาอยู่วัดมหาธาตุราชบุรีก็โดนขู่ล่วงหน้าว่า วัดมหาธาตุเขาทำวัตรเช้าเย็นไม่ขาด เณรจะไปอยู่กับเขาได้รึ

นอกจากทำวัตรเช้าเย็นไม่ขาดแล้ว ช่วงเข้าพรรษา ๓ เดือน วัดมหาธาตุยังเพิ่มเวลาทำวัตรตอนตีสี่ขึ้นอีกเวลาหนึ่งด้วย เพราะฉะนั้น ช่วงในพรรษาจึงทำวัตรสวดมนต์วันละ ๓ เวลา คือ เช้า-เย็น-ตีสี่ วัดหนองกระทุ่มที่ผมบวชก็ปฏิบัติแบบเดียวกัน ลองสืบถามดูจากเพื่อนฝูงต่างจังหวัด ก็ได้คำตอบตรงกันว่า ในพรรษาเพิ่มเวลาทำวัตรตีสี่เหมือนกันทุกวัด ผมเข้าใจว่าน่าจะปฏิบัติเหมือนกันทั่วประเทศ

ปี ๒๕๒๕ ผมเข้ารับราชการในกองทัพเรือ กรมที่สังกัดมีที่ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังเดิมซึ่งกำแพงติดกับวัดอรุณราชวราราม ช่วงในพรรษาคืนไหนเข้าเวรนอนกรม ตอนตีสี่ยังได้ยินเสียงระฆังวัดอรุณ นี่เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ยืนยันได้

ทำวัตรตีสี่ในพรรษา-เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ “ควรทราบไว้เป็นตำนาน” เพราะเดี๋ยวนี้วัดที่เพิ่มเวลาทำวัตรตีสี่ในพรรษาขึ้นอีกเวลาหนึ่งแทบจะหมดไปจากแผ่นดินไทยแล้ว อีกไม่นานจะไม่มีใครเห็น และต่อไปก็จะไม่มีใครเชื่อว่าพระเณรสมัยก่อนลุกขึ้นเคาะระฆังทำวัตรตีสี่ในพรรษาเป็นเรื่องที่มีจริง

วัดมหาธาตุราชบุรีช่วงเวลาเข้าพรรษา ทำวัตรเช้า-เย็น-ตีสี่ จะมีการ “เช็คชื่อ” ด้วย วิธีการคือ แต่ละเวลาพอทำวัตรสวดมนต์เสร็จ พระที่เป็นเจ้าหน้าที่จะเอาบัญชีรายชื่อมากางแล้วขานชื่อพระเณรทุกรูปเรียงตามลำดับอาวุโส พระจะขานชื่อเป็นนามฉายา ส่วนเณรขานชื่อจริง เมื่อขานชื่อใคร พระเณรรูปนั้นก็จะตอบเป็นภาษาบาลีว่า “อาคโต ภนฺเต” (อา-คะ-โต พัน-เต) แปลเป็นไทยว่า “มาขอรับ”

สมัยผมเรียนชั้นประถม ก็มีระบบเช็คชื่อแบบเดียวกัน เด็กชายตอบว่า “มาครับ” เด็กหญิงตอบว่า “มาค่ะ” ไม่รู้ว่าโรงเรียนเอาแบบคำตอบไปจากวัดหรือว่าวัดเอาอย่างโรงเรียนกันแน่ แต่โรงเรียนเกิดทีหลังวัด เพราะฉะนั้น โรงเรียนน่าจะเอาอย่างวัดมากกว่า

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นธรรมเนียมของวัดมหาธาตุราชบุรี (วัดอื่นๆ ก็น่าจะเหมือนกัน) คือ ๓ เดือนในพรรษาจะตั้งเวรพระเณรตีระฆังตอนตีสี่ทุกคืน แม้แต่ตัวเจ้าอาวาสก็ถูกจัดเข้าเวรตีระฆังด้วย นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ “ควรทราบไว้เป็นตำนาน” เพราะเดี๋ยวนี้วัดต่างๆ น่าจะไม่ได้ทำกันแล้ว

วัดในละแวกบ้านผม เดี๋ยวนี้ระฆังเช้าระฆังเย็นบอกเวลาทำวัตรเช้าเย็นก็แทบจะไม่ได้ยินแล้ว ไม่ต้องพูดถึงระฆังตีสี่

……………….

มีคนถามผมว่า เทียนพรรษาที่ถวายกันคึกคักในวันอาสาฬหบูช่าติดต่อถึงวันเข้าพรรษานั้นเอาไว้ทำอะไร

ผมไม่ทราบว่า คติของคนเก่าท่านอธิบายกันไว้อย่างไร ท่านผู้ใดทราบ ขอแรงช่วยเอามาบอกเล่าสู่กันฟังเป็นความรู้ จะขอบพระคุณอย่างยิ่ง

เมื่อยังไม่ทราบคติเก่า ก็ขออนุญาตตอบตามความเข้าใจของตัวเอง ตามความเข้าใจของผม ชาวบ้านถวายเทียนพรรษาก็เพื่อให้พระได้จุดเวลาไหว้พระสวดมนต์ตอนตีสี่ตามธรรมเนียมที่เล่ามาข้างต้น

กล่าวคือ ทำวัตรเช้าเย็นยังไม่จำเป็นต้องมีแสงสว่างอะไรเป็นพิเศษ เพราะยังไม่มืดมาก แต่เมื่อวัดต่างๆ เพิ่มเวลาทำวัตรตอนตีสี่ขึ้นอีกเวลาหนึ่งในช่วงเข้าพรรษา สมัยก่อนไม่มีไฟฟ้า ตีสีเป็นเวลามืดสนิท ต้องการแสงสว่างซึ่งเทียนธรรมดาที่จุดบูชาพระตอนทำวัตรเช้าเย็นไม่สามารถให้สว่างได้พอ ชาวบ้านเล็งเห็นความจำเป็นเช่นนี้จึงหล่อเทียนขนาดใหญ่ให้แสงสว่างมากเป็นพิเศษถวายวัดต่างๆ เพื่อให้พระท่านจุดเวลาทำวัตรตอนตีสี่ เป็นการบูชาพระด้วย ให้แสงสว่างตามต้องการด้วยไปพร้อมๆ กัน

ถ้าเหตุผลที่ถวายเทียนพรรษาอยู่ที่-เพื่อจุดบูชาพระในพรรษา ก็แล้วเวลาอื่นๆ นอกพรรษาไม่ต้องบูชาพระดอกหรือ วัดต่างๆ ทำวัตรเช้าเย็นทั้งปีอยู่แล้ว ทำไมจึงไม่ถวายเทียน ทำไมถวายเฉพาะเทียนที่ใช้จุดบูชาในพรรษา จะว่าวัดต่างๆ ทำวัตรสวดมนต์เฉพาะช่วงเวลาเข้าพรรษา นอกพรรษาไม่ทำ ก็ผิดไป

วัดต่างๆ ทำวัตรเช้าเย็นตลอดทั้งปีอยู่แล้ว แต่ช่วงเวลา ๓ เดือนในพรรษาเพิ่มเวลาทำวัตรตอนตีสี่ขึ้นอีกเวลาหนึ่ง เวลาตีสี่เป็นเวลาที่จำเป็นต้องมีแสงสว่างเป็นพิเศษ ชาวบ้านจึงถวายเทียนพิเศษเพื่อจุดในเวลาเช่นนั้น จึงเรียกเทียนพิเศษนั้นว่า “เทียนพรรษา”

“เทียนพรรษา” จึงเป็นพยานยืนยันว่า ๓ เดือนในพรรษาวัดต่างๆ ต้องทำวัตรสวดมนต์ในเวลาเช้ามืดคือประมาณตีสีเพิ่มขึ้นจากเวลาปกติเช้าเย็น

ถ้าชาววัดและชาวบ้านเข้าใจเหตุผลตรงกันเช่นนี้ วัดต่างๆ ก็ควรที่จะฟื้นฟูกิจวัตรทำวัตรเช้ามืด-ตีสี่ในพรรษาดังที่เคยทำกันมาในอดีต โดยมีชาวบ้านคอยถวายกำลังใจ

กำลังใจที่ชาวบ้านถวายไปแล้วคือถวายเทียนพรรษา

กำลังใจที่จะถวายต่อไปก็คือ เช้า เย็น และตีสี่ ได้ยินเสียงระฆังดังมาจากทุกวัด ชาวบ้านจะยกมือท่วมหัวอนุโมทนาว่า สาธุ สงฆ์ท่านทำกิจของสงฆ์ เป็นการธำรงพระศาสนาดีแท้ 

และเป็นการย้ำยืนยันว่า ที่นี่คือแผ่นดินพระพุทธศาสนา

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕

๑๗:๓๖

…………………………………………..

แผ่นดินพระพุทธศาสนา

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *