บาลีวันละคำ

บุคลิกทาน (บาลีวันละคำ 1,844)

เพราะไม่รู้จักจึงทักผิด

อ่านว่า บุก-คะ-ลิก-กะ-ทาน

แยกศัพท์เป็น บุคลิก + ทาน

(๑) “บุคลิก

บาลีเป็น “ปุคฺคลิก” อ่านว่า ปุก-คะ-ลิ-กะ รากศัพท์มาจาก ปุคฺคล + อิก (อิ-กะ) ปัจจัย

(ก) “ปุคฺคล” (ปุก-คะ-ละ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ปุ (นรก) + คลฺ (ธาตุ = เคลื่อน) + ปัจจัย, ซ้อน คฺ

: ปุ + คฺ + คลฺ = ปุคฺคลฺ + = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เคลื่อนไปสู่นรก

(2) ปูติ (ของบูดเน่า) + คลฺ (ธาตุ = กิน) + ปัจจัย, รัสสะ อู ที่ ปู-(ติ) เป็น อุ แล้วลบ ติ (ปูติ > ปุติ > ปุ), ซ้อน คฺ

: ปูติ > ปุติ > ปุ + คฺ + คลฺ = ปุคฺคลฺ + = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กินอาหารคือของบูดเน่า

(3) ปุคฺค (อาหารที่ยังอายุของสัตว์ให้เต็ม) + ลา (ธาตุ = กิน) + ปัจจัย, ลบ อา ที่ ลา (ลา > )

: ปุคฺค + ลา = ปุคฺคลา > ปุคฺคล + = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กินอาหารที่ยังอายุของสัตว์ให้เต็มเป็นไป” (คือต้องกินจึงจะมีชีวิตอยู่ได้)

(4) ปูร (เต็ม) + คล (เคลื่อน), รัสสะ อู ที่ ปู-(ร) เป็น อุ แล้วลบ (ปูร > ปุร > ปุ), ซ้อน คฺ ระหว่าง ปูร + คล

: ปูร > ปุร > ปุ + คฺ + คล = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำหมู่สัตว์โลกให้เต็มและเคลื่อนไปสู่ธรรมดาคือจุติและอุบัติ” (คือเกิดมาทำให้โลกเต็มแล้วก็ตาย)

ปุคฺคล” ในบาลีหมายถึง –

(1) ปัจเจกชน, บุคคล, คน (an individual, person, man)

(2) สัตว์, สัตว์โลก (being, creature)

ปุคฺคล” ใช้ในภาษาไทยว่า “บุคคล” (อ่านว่า บุก-คน, ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า บุก-คะ-ละ-, บุก-คน-ละ-)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

บุคคล, บุคคล– : (คำนาม) คน (เฉพาะตัว); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) คนซึ่งสามารถมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกว่า บุคคลธรรมดา; กลุ่มบุคคลหรือองค์กรซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เป็นบุคคลอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่ใช่บุคคลธรรมดา และให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกว่า นิติบุคคล. (ป. ปุคฺคล; ส. ปุทฺคล).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามเหลือเพียง –

บุคคล, บุคคล– : (คำนาม) คน (เฉพาะตัว); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล. (ป. ปุคฺคล; ส. ปุทฺคล).”

(ข) ปุคฺคล + อิก = ปุคฺคลิก แปลตามศัพท์ว่า “เป็นของเฉพาะบุคคล” หมายถึง เป็นของบุคคลคนเดียว, เฉพาะคน, ต่างหาก (belonging to a single person, individual, separate)

ปุคฺคลิก” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บุคลิก” อ่านว่า บุก-คะ-ลิก, ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า บุก-คะ-ลิก-กะ-

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บุคลิก, บุคลิก– : (คำวิเศษณ์) จําเพาะคน. (ป. ปุคฺคลิก).”

(๒) “ทาน

บาลีอ่านว่า ทา-นะ รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ทา + ยุ > อน = ทาน แปลตามศัพท์ว่า “การให้” “สิ่งของสำหรับให้

ทาน” มีความหมายว่า –

(1) การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

(2) สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทาน” ว่า giving, dealing out, gift; almsgiving, liberality, munificence (การให้, การแจกให้, ของขวัญ; การให้ทาน, การมีใจคอกว้างขวาง)

ทาน” ใช้ในรูปเดียวกันทั้งบาลีและสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ทาน : (คำนาม) ‘ทาน’, การให้, การบริจาค; มันเหลวซึ่งเยิ้มออกจากขมับช้างตกน้ำมัน; การอุปถัมภ์, การบำรุง; วิศุทธิ, นิรมลีกรณ์; การตัด, การแบ่ง; ทักษิณา, ของถวาย, ของให้เปนพิเศษ; การตี, การเฆาะ; อรัณยมธุ, น้ำผึ้งป่า; giving, gift, donation; fluid that flows from the temples of an elephant in rut; nourishing, cherishing; a present, a special gift; striking, beating; wild honey.”

ปุคฺคลิก + ทาน = ปุคฺคลิกทาน > บุคลิกทาน แปลตามศัพท์ว่า “ทานเฉพาะบุคคล” (การให้แก่บุคคล คือให้เป็นส่วนตัวแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บุคลิกทาน : (คำนาม) ทานที่ทายกให้จําเพาะบุคคล, คู่กับ สังฆทาน คือ ทานที่ให้แก่สงฆ์. (ตัดมาจาก ป. ปาฏิปุคฺคลิกทาน).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “บุคลิกทาน” ตัดมาจากคำบาลีว่า “ปาฏิปุคฺคลิกทาน

ปาฏิปุคฺคลิก” มาจาก ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + ปุคฺคลิก, ทีฆะต้นศัพท์ คือ อะ ที่ -(ฏิ) เป็น อา (ปฏิ > ปาฏิ)

: ปฏิ + ปุคฺคลิก = ปฏิปุคฺคลิก > ปาฏิปุคฺคลิก แปลตามศัพท์ว่า “เฉพาะบุคคล” คือ เจาะจงตัวบุคคล (belonging to one’s equal)

คำว่า “บุคลิกทาน” นี้มักเรียกกันสั้นๆ ในหมู่ชาววัดว่า “บุคลิก” (บุก-คะ-ลิก) ในความหมายว่า เจ้าภาพเจาะจงตัวภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไปในกิจนิมนต์

…………..

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “ทาน” ไว้ว่า –

ทาน : การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น; สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป;

ทาน 2 คือ

1. อามิสทาน ให้สิ่งของ

2. ธรรมทาน ให้ธรรม;

ทาน 2 อีกหมวดหนึ่ง คือ

1. สังฆทาน ให้แก่สงฆ์ หรือให้เพื่อส่วนรวม

2. ปาฏิบุคลิกทาน ให้เจาะจงแก่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ

…………..

อภิปราย :

คนส่วนมากรู้จักคำว่า “สังฆทาน” แต่มักไม่เข้าใจว่าอย่างไรคือ “สังฆทาน” ประกอบกับมักไม่รู้จัก “บุคลิกทาน” จึงมีเป็นอันมากที่เข้าใจ “บุคลิกทาน” ว่าเป็นสังฆทาน

หลายมีมาแล้ว ที่วัดมหาธาตุ ราชบุรี ตอนสายๆ ใกล้เพล ผู้เขียนบาลีวันละคำกำลังสนทนาธรรมอยู่กับอุบาสกอุบาสิกาที่มาทำบุญในวันพระในศาลาการเปรียญ มีพระภิกษุ ๒ – ๓ รูปนั่งสังเกตการณ์ร่วมฟังอยู่บนอาสน์สงฆ์

ขณะนั้นเอง มีสุภาพสตรี ๒ คนขี่รถจักรยานยนต์มาจอดข้างศาลา ลงจากรถแล้วเดินมาที่วงสนทนา คนหนึ่งหิ้วสิ่งที่เรียกกันผิดๆ ว่า “ถังสังฆทาน” มาด้วย แล้วถามขึ้นว่า “หลวงพ่ออยู่ไหมคะ”

พระรูปหนึ่งที่นั่งอยู่บนอาสน์สงฆ์บอกว่า “หลวงพ่อไปกิจนิมนต์นอกวัด คงจะกลับตอนบ่ายๆ”

สุภาพสตรีคนนั้นพูดว่า “อ้อ! ดิฉันจะมาถวายสังฆทานกับหลวงพ่อ งั้นเดี๋ยวตอนบ่ายจะมาใหม่”

ว่าแล้วก็หิ้วสิ่งที่เรียกกันผิดๆ ว่า “ถังสังฆทาน” หันหลังกลับขึ้นรถขับออกไป

ปากบอกว่าจะถวาย “สังฆทาน” พระสงฆ์ก็นั่งอยู่ตรงนั้นแล้ว แต่พอรู้ว่าหลวงพ่อไม่อยู่ก็หิ้วกลับ เพราะเจาะจงถวายหลวงพ่อ แต่ก็ยังเข้าใจว่าตนจะถวายสังฆทาน

ผู้เขียนบาลีวันละคำเชื่อว่า แม้จนถึงวันนี้สุภาพสตรีผู้นั้นก็ยังจะเข้าใจอยู่นั่นเองว่า “บุคลิกทาน” เป็นสังฆทาน เพียงเพราะถวายสิ่งที่เรียกกันผิดๆ ว่า “ถังสังฆทาน”

ยังจะมีชาวพุทธอีกมากแค่ไหนที่ตกอยู่ในวังวนแห่งความเข้าใจผิดเช่นนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เพียงแค่ยอมรับว่าโง่

: ก็ฉลาดทันที

27-6-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย