พยายามขึ้นไปให้ถึง
พยายามขึ้นไปให้ถึง
———————
เมื่อจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน มีพระพุทธดำรัสผ่านพระอานนท์ว่า –
……………………………………..
โย โว อานนฺท มยา
ธมฺโม จ วินโย จ
เทสิโต ปญฺญตฺโต
โส โว มมจฺจเยน สตฺถา.
ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยอันใด
ที่เราแสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่พวกเธอ
ธรรมและวินัยอันนั้นจะเป็นศาสดาของพวกเธอ
เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว
ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค
พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๑๔๑
……………………………………..
กฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับอะไรสักอย่างที่กำหนดขึ้นในสมัยหนึ่ง เมื่อล่วงกาลผ่านเวลาไประยะหนึ่ง-อาจเพียงแค่ไม่ถึง ๑๐๐ ปี-ก็มักจะต้องถูกปรับปรุงแก้ไข หรือบางเรื่องอาจถูกยกเลิกไปเลยเพราะไม่เข้ากับยุคสมัย
พระธรรมวินัยอันเป็นตัวพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ (เทสิโต) และทรงบัญญัติไว้ (ปญฺญตฺโต) เมื่อกว่า ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว-นานช้ากว่า ๑๐๐ ปีตั้งหลายเท่า น่าจะต้องมีบางสิ่งบางส่วนบางเรื่องที่ไม่เข้ากับยุคสมัย หรือพูดตรงๆ ว่าล้าสมัย อยู่บ้าง – ใช่หรือไม่?
เฉพาะพระพุทธศาสนาเถรวาท-อย่างที่นับถือกันอยู่ในเมืองไทยและบางประเทศ-มีหลักการที่ชัดเจนและแน่นอนที่จะรักษาแบบแผนดั้งเดิมตรงตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้บัญญัติไว้ให้มั่นคงตลอดไป
ก็ถ้าหากพระธรรมวินัยมีข้อบกพร่องเพราะล่วงกาลผ่านยุคสมัยดังกล่าว พระพุทธศาสนาเถรวาทก็เท่ากับเป็นศาสนาที่มีหลักการดำรงความบกพร่องนั้นไว้อย่างเหนียวแน่นมั่นคงนั่นเอง – ใช่หรือไม่?
จะมีวิธีคิด วิธีมอง หรือวิธีหาคำตอบแบบไหน อย่างไร?
……………….
ผมเชื่อว่าชาวพุทธสมัยใหม่ในเมืองไทย-ทั้งชาววัดและชาวบ้าน กำลังคิดอย่างที่ว่าข้างต้น คือคิดว่าพระธรรมวินัยหลายข้อหลายเรื่องไม่เหมาะกับยุคสมัยแล้ว
แนวคิดแบบใหม่เริ่มแสดงตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า เราจะต้องพัฒนาให้พระพุทธศาสนาก้าวไปกับสังคมสมัยใหม่ได้ ไม่ใช่งม-จมอยู่กับหลักการวิธีการเดิมๆ แต่สมควรต้องปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย
ตัวอย่างเรื่องที่อาจพบเห็นได้ง่ายๆ อาจดูเป็นเรื่องเล็กๆ และบางคนอาจมองว่า-ไร้สาระที่จะหยิบยกขึ้นมาพูด ก็อย่างเช่น ปัจจุบันนี้พระภิกษุสามเณรเถรวาทในเมืองไทยบางสำนัก-หลายสำนัก เวลาทำงานบางอย่างภายในวัด จะสวมเครื่องแต่งกายชุดทำงานเป็นเสื้อกางเกงสีเหลืองและสวมหมวกด้วย โดยอ้างว่าสบงจีวรอังสะรุ่มร่าม ไม่สะดวก ไม่คล่องตัว
แต่เหตุผลสำคัญที่สุดก็คือ อธิบายบอกกันว่าการสวมเสื้อกางเกงสวมหมวกในเวลาทำงานเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร พระภิกษุสามเณรสามารถทำได้
ชาวบ้านสมัยใหม่ฟังเหตุผลแล้วย่อมมีแนวโน้มที่จะเห็นด้วย
ได้ยินว่าพระภิกษุเถรวาทจากเมืองไทยที่ไปอยู่เมืองฝรั่งก็ปฏิบัติตัวทำนองเดียวกันนี้ ไม่ใช่เฉพาะกรณีทำงานในวัดเรื่องเดียว แม้เรื่องอื่นๆ ก็ใช้หลักการเดียวกัน นั่นคือ การกระทำอย่างนั้นๆ โดยใช้รูปแบบเช่นนั้นๆ ในภูมิประเทศเหตุการณ์เช่นนั้นๆ ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร สามารถทำได้
และเช่นเดียวกัน เราท่านที่เป็นคนสมัยใหม่ โดยเฉพาะท่านที่มีประสบการณ์ในการอยู่เมืองฝรั่ง ฟังเหตุผลแล้วย่อมมีแนวโน้มที่จะเห็นด้วย
แล้วมันถูกหรือเปล่า? จริงๆ แล้วทำเช่นนั้นได้หรือเปล่า? และเหตุผลที่ยกขึ้นมาอ้างเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นหรือเปล่า? แต่ที่สำคัญที่สุดคือ-เป็นเหตุผลที่มีเหตุผล (ธมฺมิกํ ธมฺมยุตฺตํ) หรือเปล่า ใช้หลักการอะไรในการวินิจฉัยตัดสินว่า ใช่หรือไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร สามารถทำได้หรือไม่ควรทำ?
……………….
ขอเรียนว่า ผมไม่มีความประสงค์จะคัดค้าน ถกเถียง หรือโต้แย้งกับแนวคิดสมัยใหม่แต่ประการใดทั้งสิ้น แต่กำลังจะเสนอหลักการอย่างหนึ่ง
นั่นคือ โปรดช่วยกันศึกษาเรียนรู้หลักการดั้งเดิมที่ถูกต้องของพระธรรมวินัยให้เข้าใจถูกต้องถ่องแท้เสียก่อน
ต่อจากนั้น ใครจะคิดอย่างไร ใครจะว่าอย่างไร และใครจะทำอย่างไร เชิญตามสบาย
ความเป็นจริงที่ปรากฏชัดเจนในเวลานี้ก็คือ ชาวพุทธในบ้านเรา-ทั้งชาววัดและชาวบ้าน ขาดการศึกษา เรียนรู้ ค้นคว้า ตรวจสอบหลักพระธรรมวินัยไปให้ถึงต้นรากต้นตอ
วิธีที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้คือ –
(๑) ฟังจากที่มีคนบอก
(๒) ดูจากที่มีคนทำ
(๓) แล้วตกลงใจตามความเชื่อของตัวเองว่า ใช่/ไม่ใช่ ได้/ไม่ได้
เหตุผลต้นเดิม ที่ไปที่มา หลักการเดิมแท้ของพระธรรมวินัยข้อนั้นเรื่องนั้น ท่านแสดงไว้อย่างไร บัญญัติไว้อย่างไร ไม่รู้ ไม่เคยรู้ ไม่จำเป็นต้องรู้ ไม่เคยศึกษาไปให้ถึงต้นฉบับ (และไม่คิดจะศึกษาให้เสียเวลาด้วย)
ในท่ามกลางแห่งความเป็นไปเช่นนี้-คือด้วยวิธีการเข้าใจพระธรรมวินัยแบบนี้แหละ-ที่เราแสดง-ประกาศแนวคิดแบบใหม่กันว่า เราจะต้องพัฒนาพระพุทธศาสนาให้ก้าวไปกับสังคมสมัยใหม่ได้ ไม่ใช่งม-จมอยู่กับหลักการวิธีการเดิมๆ แต่สมควรต้องปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย
ของเก่าก็ไม่ศึกษาให้กระจ่างใจ
ของใหม่ก็ทะยานจิตคิดจะบัญญัติใหม่
ต่างคนต่างใจไม่เป็นเอกภาพ
แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนา?
……………….
ขออนุญาตยกกิจการคณะสงฆ์อย่างหนึ่งมาพิจารณาเป็นกรณีศึกษา
การสาธารณสงเคราะห์-เป็นสายงานของคณะสงฆ์ที่เพิ่มขึ้นใหม่จากสายงานเดิม สายงานเดิมคือ (๑) การปกครอง (๒) การศึกษา (๓) การเผยแผ่ (๔) การสาธารณูปการ สายงานที่เพิ่มใหม่คือ (๕) การศึกษาสงเคราะห์ (๖) การสาธารณสงเคราะห์
การสาธารณสงเคราะห์ เป็นสายงานที่เปิดโอกาสให้พระสงฆ์ช่วยสังคม-ช่วยชาวบ้านได้เป็นอันมาก
แต่เป็นสายงานที่ควรจับตามองและพิจารณาโดยโยนิโสมนสิการ เพราะเป็นสายงานที่เปิดทางให้พระสงฆ์ทำอะไรแปลกๆ ได้เป็นอันมากด้วยเช่นกัน
พระเณรช่วยชาวบ้านไถนา ดำนา เกี่ยวข้าว ก็บอกว่าเป็นสาธารณสงเคราะห์ ชาวบ้านสมัยใหม่เห็นแล้วก็ชื่นชมยินดีว่าพระช่วยสังคม
พระเณรหุงต้มอาหารเลี้ยงชาวบ้านที่ประสบภัย ก็บอกว่าเป็นสาธารณสงเคราะห์ ชาวบ้านสมัยใหม่เห็นแล้วก็ชื่นชมยินดีว่าพระไม่ทิ้งประชาชน
แต่พระไถนา ดำนา เกี่ยวข้าว พระหุงต้มอาหาร หลักพระธรรมวินัยท่านแสดงไว้บัญญัติไว้อย่างไร ไม่มีใครพูด
ไม่มีใครพูดเพราะไม่มีใครรู้
ถึงรู้ก็ไม่พูด
ถึงพูดก็บอกว่าไม่ผิด
ถึงผิด ก็บอกว่าผิดเล็กน้อย ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ทำได้ ความเป็นความตายของชาวบ้านสำคัญกว่า ชาวบ้านอยู่ไม่ได้ พระก็อยู่ไม่ได้ จะมาเคร่งครัดอะไรกันนักกันหนา ฯลฯ
วิธีที่จะรักษาชาวบ้านไว้ได้ด้วย รักษาพระธรรมวินัยไว้ได้ด้วย ไม่มีใครคิด
ที่ไม่ได้คิด สาเหตุสำคัญมาจากไม่รู้
ที่ไม่รู้ สาเหตุสำคัญมาจากไม่ได้ศึกษา
พระพุทธเจ้าท่านประกาศพระศาสนากับประชาชน พระพุทธเจ้าอยู่กับประชาชน พระสงฆ์ก็อยู่กับประชาชน ไม่มีหลักพระธรรมวินัยข้อไหนที่ทรงแสดงทรงบัญญัติให้พระสงฆ์อยู่นิ่งเฉยปล่อยให้ประชาชนผจญปัญหาไปตามลำพัง
แต่ในฐานะเป็นบรรพชิต พระสงฆ์ควรช่วยประชาชนโดยวิธีการอย่างไร รายละเอียดในการปฏิบัติคือทำอย่างไร ตรงนี้ต่างหากที่-ทั้งชาววัดชาวบ้านควรต้องศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจกระจ่าง แล้วปฏิบัติให้ตรงตามนั้น
มีตัวอย่างเล็กๆ เป็นแนวเทียบ-กรณีทำอะไรลงไปเพราะไม่รู้ และไม่รู้เพราะไม่เรียน
คือ เจ้าสำนักแห่งหนึ่งท่านเห็นคำบาลีว่า “สกิเทว” (สะ-กิ-เท-วะ) (เป็นเรื่องว่าด้วยผู้บรรลุธรรมเป็นพระสกทาคามีจะเกิดอีกชาติเดียวก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์) ท่านก็บอก-และยืนยัน-ว่า คำนี้ต้องแปลว่า “เทวดาคราวเดียว” คือท่านเข้าใจว่า สกิ = คราวเดียว เทว = เทวดา
คนเรียนบาลีฟังแล้วก็รู้ทันทีว่าท่านไม่มีความรู้ ทั้งนี้ เพราะคำว่า “สกิเทว” เกิดจากการประสมกันระหว่างคำว่า “สกึ” (สะ-กิง) = คราวเดียว (once) + “เอว” (เอ-วะ) = นั่นเทียว (only)
สกึ + เอว = สกิเทว
ด้วยกระบวนการทางไวยากรณ์ทำให้ สกึ + เอว กลายเป็น “สกิเทว” แปลว่า “ครั้งเดียวเท่านั้น” (once only) ไม่มี “เทวดา” อยู่ในคำนี้แต่ประการใด
เมื่อแสดงความเข้าใจผิดๆ เพราะไม่รู้ออกไปแล้ว วิธีที่ผู้รู้จริงท่านประพฤติกันก็คือ ยอมรับว่าเข้าใจผิดไป
ถ้าใครได้อ่านหนังสือสาส์นสมเด็จอันเป็นจดหมายโต้ตอบกันระหว่างสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพกับสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และอ่านอย่างพินิจจะพบข้อความสั้นๆ ประโยคหนึ่งแทรกปนอยู่บ่อยๆ กล่าวคือกรณีที่เคยทรงสันนิษฐานเรื่องใดเรื่องหนึ่งว่าเป็นเช่นนั้นๆ แต่ภายหลังได้ทรงตรวจสอบอย่างถ้วนถี่หรือทรงพบหลักฐานใหม่ ปรากฏว่าเรื่องที่สันนิษฐานไว้นั้นไม่ถูกต้อง ก็จะทรงบอกกันว่า “ที่หม่อมฉันว่า…นั้น ผิดไป” เป็นถ้อยคำสั้นๆ แต่แสดงความเป็นบัณฑิตอย่างแท้จริง คือผิดก็ยอมรับว่าผิด
มีบางเรื่องที่พระสงฆ์บางรูปท่านทำลงไป จะด้วยไม่รู้ หรือรู้แต่คิดว่าไม่เสียหายอะไร และเรื่องที่ทำนั้นคนทั้งหลายเห็นเป็นเรื่องดีมีประโยชน์ แต่เมื่อว่าตามหลักพระธรรมวินัยจริงๆ ก็ไม่ใช่หน้าที่ของบรรพชิตที่จะต้องทำแบบนั้น แต่เมื่อทำลงไปแล้ว เป็นที่รู้เห็นกันทั่วไป จะให้ท่านถอยหรือยอมรับทำไม่ถูก ก็ยาก เพราะส่วนมากมี “อัตตา” ค้ำอยู่ ทั้งมีเสียงของสังคมที่เห็นดีด้วยคอยสนับสนุน แม้จะขัดพระธรรมวินัย แต่ถูกใจสังคม
กรณีแบบนี้แหละที่ชวนให้เห็นไปว่าพระธรรมวินัยล้าสมัย พระทำถูกใจสังคม แต่ไม่ถูกพระธรรมวินัย ก็แปลว่าพระธรรมวินัยข้อนั้นล้าสมัย ไม่จำเป็นต้องถือตามอีกต่อไป
เวลานี้เรากำลังเป็นอย่างนี้กันทั่วไป
ชาววัดขาดความพยายามที่จะหาวิธีปฏิบัติตามพระธรรมวินัย
แต่พอใจที่จะละเมิดพระธรรมวินัยแล้วพยายามหาวิธีอธิบายว่าไม่ใช่เรื่องเสียหาย
ชาวบ้านเห็นพระภิกษุสามเณรทำอะไร ก็ไม่มีความรู้พอที่จะตัดสินได้ว่าผิดหรือถูก แต่ใช้ความคิดความเห็นความพอใจของตนเองเป็นเครื่องตัดสิน
ข้อเสนอของผมคือ ทั้งชาววัดและชาวบ้านช่วยกันศึกษาพระธรรมวินัย
ชาววัดพยายามที่จะหาวิธีปฏิบัติตามพระธรรมวินัย
ชาวบ้านก็ต้องพยายามช่วยพระด้วย
วิธีที่ชาวบ้านจะช่วยพระได้ดีที่สุดคือ ศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจว่าอะไรบ้างที่พระทำไม่ได้-ทำแล้วผิดพระวินัย เมื่อรู้แล้วก็อย่าสนับสนุนให้พระทำผิดพระวินัย แต่พยายามช่วยกันหาวิธีให้พระอยู่กับสังคมและช่วยสังคมได้ด้วย พร้อมกันนั้นก็สามารถรักษาพระธรรมวินัยได้ด้วย
ความเจริญทางเทคโนโลยีแทนที่จะเป็นอุปสรรค อาจพลิกกลับมาใช้สนับสนุนให้พระสามารถรักษาพระธรรมวินัยได้สะดวกยิ่งขึ้นก็เป็นได้-ถ้าเราฉลาดจริง (ตามที่ชอบอ้างว่าคนรุ่นเราฉลาดกว่าคนรุ่นก่อน) และใช้ความฉลาดช่วยกันคิดหาวิธีตั้งแต่เดี๋ยวนี้
แทนที่จะตั้งป้อมคิดไปท่าเดียวว่า-โลกเปลี่ยนแปลง สังคมเปลี่ยนไป เราจะต้องปรับปรุงพระธรรมวินัยเพื่อให้พระพุทธศาสนาอยู่กับโลกได้
ศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจกระจ่างชัดเสียก่อน และถ้าไม่ถูกมิจฉาทิฐิครอบงำจนโงหัวไม่ขึ้น ก็จะเห็นประจักษ์ใจว่า ที่ควรจะปรับปรุงนั้นหาใช่พระธรรมวินัยไม่ หากแต่คือตัวเรานี่เอง
พยายามพัฒนาตัวเองขึ้นไปให้ถึงเป้าหมาย
ไม่ใช่พยายามดึงเป้าหมายลงมาหาความต้องการของตัวเอง
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕
๑๖:๒๔
………………………………………….
พยายามขึ้นไปให้ถึง
…………………………….
…………………………….