คิดเฟื่องเรื่องอยู่ปริวาส (๑)
คิดเฟื่องเรื่องอยู่ปริวาส (๑)
————————
ผมเขียน บาลีวันละคำ เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๖
คำว่า “อาบัติ” ข้อความมีดังนี้ –
………………………………
อาบัติ
อ่านว่า อา-บัด
บาลีเป็น “อาปตฺติ” อ่านว่า อา-ปัด-ติ
รากศัพท์คือ อา (ทั่ว, ยิ่ง) + ปทฺ (ธาตุ แปลงเป็น ปตฺ = ไป, ถึง) + ติ (ปัจจัย = การ-, ความ-) = อาปตฺติ
“อาปตฺติ” หมายถึง โทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทหรือข้อห้ามแห่งภิกษุ อย่างที่เข้าใจกันด้วยภาษาง่ายๆ ว่า “ผิดศีล” หรือ “ศีลขาด”
คำนี้เรานิยมพูดทับศัพท์ว่า “อาบัติ” เช่น “พระทำอย่างนี้ไม่เป็นอาบัติหรือ”
นักบาลีมักแปลตามศัพท์ว่า “การต้อง” หมายถึง “กระทบ” คือ การกระทำเช่นนั้นไปกระทบเข้ากับความผิด หรือมีความผิดเข้ามากระทบผู้กระทำ
อาบัติมี 7 ชื่อ มีความหมายตามลักษณะความผิด ดังนี้ (เพื่อเข้าใจง่าย ขอแปลแบบถอดความ)
(1) ปาราชิก = “แพ้ไล่ออก”
(2) สังฆาทิเสส = “ต้องให้สงฆ์สั่งสอน”
(3) ถุลลัจจัย = “เลวอย่างหยาบ”
(4) ปาจิตตีย์ = “ทำดีตกแตก”
(5) ปาฏิเทสนียะ = “รับสารภาพ”
(6) ทุกกฏ = “มารยาททราม”
(7) ทุพภาสิต = “ปากเสีย”
มาตรการลงโทษ (ในวงเล็บคืออาบัติ)
(1) ขาดจากความเป็นพระทันทีที่ทำ
(2) ที่ประชุมสงฆ์ลงโทษตามวิธีการที่กำหนด
(3-7) เปิดเผยความผิดต่อหน้าเพื่อนภิกษุด้วยกัน เรียกว่า “ปลงอาบัติ”
………………………………
วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ผมเขียนคำว่า “ปริวาส” ข้อความมีดังนี้ –
………………………………
ปริวาส
บาลีอ่านว่า ปะ-ริ-วา-สะ ไทยอ่านว่า ปะ-ริ-วาด
ประกอบด้วย ปริ (รอบ) + วาส (การอยู่, การพักแรม) = ปริวาส
“ปริวาส” มีความหมายว่า การอยู่ค้างคืน, การอยู่แรมคืน; เป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการที่ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสจะต้องประพฤติเพื่อให้พ้นผิด เรียกว่า “อยู่ปริวาส” คำเก่าเรียก “อยู่กรรม” (ทำในกรณีที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้ โดยต้องอยู่ปริวาสตามจำนวนวันที่ปกปิด)
อาบัติสังฆาทิเสสมีฐานความผิด 13 กรณี เช่น สำเร็จความใคร่ถึงน้ำกามหลั่ง เป็นต้น เป็นอาบัติหนักรองจากปาราชิก ยังไม่ขาดจากความเป็นพระ แต่จะพ้นผิดได้โดยให้สงฆ์ลงโทษแบบอารยชน เช่น
– อยู่ร่วมที่กับภิกษุอื่นไม่ได้ ต้องแยกบริเวณอยู่ต่างหาก (ซึ่งเป็นความหมายของคำว่า “ปริวาส”)
– ถูกตัดสิทธิ์ เช่นถูกตัดออกจากลำดับการรับนิมนต์ (ทำนองเดียวกับ เว้นวรรคทางการเมือง)
– ลดฐานะตัวเอง เช่น ถ้าเป็นพระผู้ใหญ่ ก็ต้องไปนั่งท้ายแถว, รับไหว้จากพระด้วยกันไม่ได้
– ประจานตัว เช่น ถ้ามีพระอาคันตุกะเข้ามาในวัด พระที่อยู่ปริวาสต้องไปรายงานตัวว่า ตนต้องอาบัติหนัก อยู่ในระหว่างถูกลงโทษ
ในคัมภีร์ “ปาริวาสิกขันธกะ” วินัยปิฎก ซึ่งเป็นเรื่องการอยู่ปริวาสโดยเฉพาะ ไม่ได้แสดงไว้ว่าภิกษุทั่วไปอยู่ปริวาสกันได้ด้วย
“อยู่ปริวาส” เป็นการลงโทษพระที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติธรรมเพื่อความบริสุทธิ์ของภิกษุทั่วไป ดังที่บางแห่งนิยมจัดเป็นกิจกรรมบุญกันในสมัยนี้
: นักเรียนทำผิด ครูสั่งให้วิ่งรอบสนาม 3 รอบเป็นการลงโทษ
: นักเรียนที่ไม่ได้ทำผิดเห็นว่าการวิ่งเป็นการออกกำลัง ทำให้ร่างกายแข็งแรง ก็เลยขอวิ่งด้วย
หรือว่าจะเข้าใจแบบนี้ ?
………………………………
จบข้อความจาก บาลีวันละคำ
………………………………
มีญาติมิตรบางท่านบอกว่า ท่านไม่มีพื้นความรู้ อ่านแล้วก็ไม่ค่อยเข้าใจ
บางท่านแสดงความเห็นว่า พระท่านอาจไม่ทราบว่าตลอดเวลาทั้งปีท่านต้องอาบัติสังฆาทิเสสบ้างหรือเปล่า เพื่อความบริสุทธิ์ปีหนึ่งก็เลยถือโอกาสเข้าปริวาสเสียทีหนึ่ง จะได้ไม่มีมลทินติดตัว การจัดกิจกรรมอยู่ปริวาสน่าจะมีเหตุผลเช่นนี้
ผมก็เลยคิดว่า เอาเรื่องนี้มาพูดสู่กันฟังอีกทีก็น่าจะดี
ประเด็นที่จะขอพูดสู่กันฟังก็คือ การอยู่ปริวาสคืออะไร และคิดอย่างไรกับกิจกรรมบุญปริวาส
………………………………
๑ การอยู่ปริวาสคืออะไร
………………………………
คนที่บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนานั้นต้องรักษาศีลเป็นอันมาก ตัวเลขที่ชาวบ้านรู้กันก็อย่างที่พูดกันว่า พระมีศีล ๒๒๗ ข้อ
ความจริงศีลของพระมีมากกว่านี้อีกมาก แต่ ๒๒๗ ข้อนี้เป็นส่วนที่มีพุทธบัญญัติให้พระต้องทบทวนสอบทานทุกครึ่งเดือน เรียกกันว่า “สวดพระปาติโมกข์” จึงมักนิยมจำกันแต่ตัวเลขนี้
ถ้าพระไปละเมิดศีลเข้า ก็มีความผิด
คำพระเรียกว่า “ต้องอาบัติ”
อาบัติก็มี ๗ ชื่อดังที่พูดไว้ในคำว่า “อาบัติ”
อาบัติทั้ง ๗ แบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ อาบัติหนัก กับ อาบัติเบา
อาบัติปาราชิกและสังฆาทิเสสเป็นอาบัติหนัก นอกนั้นเป็นอาบัติเบา
ในจำนวน ๒๒๗ ข้อนั้น
ฐานความผิดที่ทำให้ต้องอาบัติปาราชิก มี ๔ กรณี
ฐานความผิดที่ทำให้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส มี ๑๓ กรณี
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเก็บความจากคัมภีร์เรียบเรียงไว้ในหนังสือ นวโกวาท ดังนี้ (สะกดตามต้นฉบับ) –
………………………………
ปาราชิกนั้น ภิกษุต้องเข้าแล้วขาดจากภิกษุ
สังฆาทิเสสนั้น ต้องเข้าแล้วต้องอยู่กรรม จึงพ้นได้
อาบัติอีก ๕ อย่างนั้น ภิกษุต้องเข้าแล้วต้องแสดงต่อหน้าสงฆ์ หรือคณะ หรือภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง จึงพ้นได้
ปาราชิก ๔
๑. ภิกษุเสพเมถุน ต้องปาราชิก.
๒. ภิกษุถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ได้ราคา ๕ มาสก ต้องปาราชิก.
๓. ภิกษุแกล้งฆ่ามนุษย์ให้ตาย ต้องปาราชิก.
๔. ภิกษุอวดอุตตริมนุสสธรรม (คือธรรมอันยิ่งของมนุษย์) ที่ไม่มีในตน ต้องปาราชิก.
สังฆาทิเสส ๑๓
๑. ภิกษุแกล้งทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน ต้องสังฆาทิเสส.
๒. ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ จับต้องกายหญิง ต้องสังฆาทิเสส.
๓. ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ พูดเกี้ยวหญิง ต้องสังฆาทิเสส.
๔. ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ พูดล่อให้หญิงบำเรอตนด้วยกาม ต้องสังฆาทิเสส.
๕. ภิกษุชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน ต้องสังฆาทิเสส.
๖. ภิกษุสร้างกุฎีที่ต้องก่อและโบกด้วยปูนหรือดิน ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ จำเพาะเป็นที่อยู่ของตน ต้องทำให้ได้ประมาณ โดยยาวเพียง ๑๒ คืบพระสุคต โดยกว้างเพียง ๗ คืบ วัดในร่วมใน และต้องให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน ถ้าไม่ให้สงฆ์แสดงที่ให้ก็ดี ทำให้เกินประมาณก็ดี ต้องสังฆาทิเสส.
๗. ถ้าที่อยู่ซึ่งจะสร้างขึ้นนั้นมีทายกเป็นเจ้าของ ทำให้เกินประมาณนั้นได้ แต่ต้องให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน ถ้าไม่ให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน ต้องสังฆาทิเสส.
๘. ภิกษุโกรธเคืองแกล้งโจทภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล ต้องสังฆาทิเสส.
๙. ภิกษุโกรธเคืองแกล้งหาเลสโจทภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิก ต้องสังฆาทิเสส.
๑๐. ภิกษุพากเพียรเพื่อจะทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤตินั้น ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส.
๑๑. ภิกษุประพฤติตามภิกษุผู้ทำลายสงฆ์นั้น ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤตินั้น ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส.
๑๒. ภิกษุว่ายากสอนยาก ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤตินั้น ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส.
๑๓. ภิกษุประทุษร้ายตระกูล คือประจบคฤหัสถ์ สงฆ์ไล่เสียจากวัด กลับว่าติเตียนสงฆ์ ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤตินั้น ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส.
………………………………
จบข้อความจาก นวโกวาท
………………………………
(มีต่อ)
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๕
๑๓:๑๕
…………………………….
…………………………….