เพื่อนแท้
เพื่อนแท้
——–
ในพระไตรปิฎกมีพระสูตรหนึ่ง ชื่อสิงคาลกสูตร ว่าด้วยมาณพชื่อสิงคาลกะ พ่อสอนไว้ก่อนตายว่าให้ไหว้ทิศ ตื่นเช้าขึ้นมาก็ไหว้ทิศตามที่พ่อสั่ง พระพุทธองค์ตรัสแนะนำว่า ถ้าจะให้ได้ประโยชน์ยิ่งขึ้นควรจะไหว้ทิศตามหลักในอริยวินัย แล้วทรงแสดงว่า –
ทิศเบื้องหน้า หมายถึงบิดามารดา
ทิศเบื้องขวา หมายถึงครูอาจารย์
ทิศเบื้องหลัง หมายถึงคู่ครองและบุตรธิดา
ทิศเบื้องซ้าย หมายถึงมิตรสหาย
ทิศเบื้องล่าง หมายถึงผู้ทำงานรับใช้
ทิศเบื้องบน หมายถึงนักบวชในศาสนาต่างๆ
ทรงแสดงว่า การปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านี้อย่างถูกต้องเหมาะสม นั่นแหละคือการไหว้ทิศที่ถูกต้อง แล้วทรงแสดงหลักปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านั้น และหลักปฏิบัติที่บุคคลเหล่านั้นจะพึงปฏิบัติตอบอย่างละเอียด
นอกจากเรื่องการไหว้ทิศตามหลักในอริยวินัยแล้ว ยังทรงแสดงหลักธรรมอื่นอีก กล่าวคือ
๑ บาปที่เรียกว่า “กรรมกิเลส” ๔ ประการ คือ การฆ่า การขโมย การประพฤติผิดทางเพศ และหลอกลวง
๒ อคติ ๔ ประการ คือ ลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะชัง ลำเอียงเพราะหลงผิด ลำเอียงเพราะกลัว
๓ ทางแห่งความเสื่อมที่เรียกว่า “อบายมุข” ๖ ประการ คือ ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน เที่ยวดูการเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านทำการงาน ทรงแจกแจงว่าแต่ละอย่างมีโทษอย่างไร
๔ เพื่อนเทียมและเพื่อนแท้ ทรงแสดงว่า –
เพื่อนเทียมมี ๔ ประเภท คือ คนปอกลอก คนดีแต่พูด คนหัวประจบ คนชักชวนในทางฉิบหาย ทรงแจกแจงว่าแต่ละประเภทมีลักษณะอย่างไร
เพื่อนแท้ก็มี ๔ ประเภท คือ เพื่อนมีอุปการะ เพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์ เพื่อนแนะประโยชน์ เพื่อนมีความรักใคร่ ทรงแจกแจงว่าแต่ละประเภทมีลักษณะอย่างไร
เมื่อพระพุทธองค์ตรัสจบลง สิงคาลกมาณพเข้าใจซาบซึ้งในพระธรรมที่ทรงแสดง ประกาศตนเป็นอุบาสกนับถือพระพุทธศาสนา
ศึกษารายละเอียด: สิงคาลกสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๑๗๒-๒๐๖
………………………………………..
………………………………………..
ในบรรดาเพื่อนแท้ ๔ ประเภท เพื่อนแท้ที่เรียกว่า “เพื่อนมีอุปการะ” มีการปฏิบัติต่อเพื่อน ๔ แบบ
คำบาลีว่าดังนี้ –
(อ่านคำบาลีไม่คล่องก็กรุณากัดฟันอ่านถวายพระเป็นพุทธบูชา! ตั้งอารมณ์ว่ากำลังสวดมนต์ ได้บุญเท่ากัน สาธุ)
………………………………………..
๑ ปมตฺตํ รกฺขติ.
๒ ปมตฺตสฺส สาปเตยฺยํ รกฺขติ.
๓ ภีตสฺส ปฏิสรณํ โหติ.
๔ อุปฺปนฺเนสุ กิจฺเจสุ กรณีเยสุ ตทฺทิคุณํ โภคํ อนุปฺปเทติ.
………………………………………..
หนังสือ นวโกวาท พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แปลไว้ดังนี้ –
………………………………………..
๑ ป้องกันเพื่อนผู้ประมาทแล้ว
๒ ป้องกันทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว
๓ เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้
๔ เมื่อมีธุระ ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก
………………………………………..
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [169] แสดงความหมายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ขออนุญาตยกมาเทียบคู่เพื่อให้เห็นคำแปลเทียบกันดังนี้ –
………………………………………..
1) เพื่อนประมาท ช่วยรักษาเพื่อน
a) He guards you when you are off your guard.
2) เพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สินของเพื่อน
b) He guards your property when you are off your guard.
3) เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้
c) He is a refuge to you when you are in danger.
4) มีกิจจำเป็น ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก
d) He provides a double supply of what you may ask in time of need.
………………………………………..
การปฏิบัติต่อเพื่อน ๔ แบบนี้ คัมภีร์อรรถกถา (สุมังคลวิลาสินี ภาค ๓ หน้า ๒๒๒-๒๒๓) ขยายความไว้มองเห็นภาพชัดเจน แต่ถ้ายกคำแปลตามที่ท่านแปลไว้ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลชุด ๙๑ เล่ม ฉบับของมหามกุฎฯ มาให้อ่าน ญาติมิตรที่อ่านอาจจะมึนมากกว่าที่จะมองเห็นภาพ จึงขออนุญาตถ่ายทอดด้วยสำนวนของผมเองเพื่อให้เห็นภาพตรงตามที่อรรถกถาบรรยาย
………………………………………..
๑ ป้องกันเพื่อนผู้ประมาทแล้ว
เห็นเพื่อนไปเมาหมาไม่แดก นอนแถกเหงือกอยู่ตามข้างถนน เออ แบบนี้เดี๋ยวเถอะกางเกงก็จะไม่ติดก้น มึงอยากนอน นอนไป กูนั่งเฝ้าให้ เพื่อนสร่างเมาตื่นขึ้นมา พากลับบ้าน (ที่ไม่เอากลับตั้งแต่แรกก็เพราะเกรงใจ อยากให้เพื่อนหลับให้สบายๆ ไปก่อน)
…….
๒ ป้องกันทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว
ไปบ้านเพื่อน เพื่อนไม่อยู่บ้าน ไปเมาที่ไหนอีกละสิเนี่ย บ้านช่องประตูหน้าต่างเปิดโล่ง เออ ให้มันได้ยังงี้ นอนเฝ้าบ้านให้เพื่อนจนกระทั่งเพื่อนกลับ
…….
๓ เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้
ภัยถึงตัวเพื่อน เพื่อนก็ถึงตัวเพื่อนทันควันเหมือนกัน กูอยู่ทั้งคน มึงไม่ต้องวิตก เดี๋ยวกูจัดการเอง มึงคอยช่วยกูด้วยก็แล้วกัน
…….
๔ เมื่อมีธุระ ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก
ยามเพื่อนร้อนเงิน มาออกปาก จะเอาไปทำอะไร เขาเรียกตัวเข้ากรุงเทพฯ งานอะไรยังไม่รู้ มึงจะเอาเท่าไร สักพันก็พอ เข้ากรุงเทพฯ พันเดียวมึงกินแกลบก็แล้วกันไอ้เหียกเอ๊ย เอาไปหมื่นหนึ่ง เหลือเอามาคืนกู ไม่เหลือก็แล้วไป
………………………………………..
เมื่อวานนี้ (๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕) ผมโพสต์เรื่อง “ผู้ไม่ยอมละลายตัวเอง” เอ่ยถึงท่านอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก บอกว่าท่านเป็นสามเณรประโยค ๙ รูปแรกในสมัยรัชกาลที่ ๑๐ สอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๓ …
……………………………………………
ผู้ไม่ยอมละลายตัวเอง
……………………………………………
ผมพิมพ์คำว่า “สามเณรประโยค ๙ รูปแรกในสมัยรัชกาลที่ ๑๐” ลงไปอย่างเพลิดเพลิน ตรงกับคำบาลีว่า “ปมตฺต” (ปะ-มัด-ตะ) ซึ่งแปลว่า “ประมาท” คือเผลอไปแบบคนหลับลึก
“เพื่อน” คนหนึ่งซึ่งเป็น “เพื่อน” ทางเฟซบุ๊กด้วย เป็น “เพื่อน” ในทางส่วนตัว เคยทำงานด้วยกันร่วมงานกันมาด้วย เข้ามาอ่าน เพื่อนก็ทำหน้าที่เพื่อนแท้อย่างที่คำบาลีบอกว่า “ปมตฺตํ รกฺขติ” ซึ่งแปลว่า “ป้องกันเพื่อนผู้ประมาทแล้ว” โดยการทักท้วงมาว่า -สมัยรัชกาลที่ ๑๐ หรือรัชกาลที่ ๙?
นั่นแหละ ผมจึงตามไปแก้ไขได้ทันท่วงที
ถ้าเพื่อนไม่ “รกฺขติ” ผมก็คง “ปมตฺต” ไปอีกนาน
ขอคารวะ “เพื่อน” มา ณ ที่นี้อีกวาระหนึ่ง
ผมอยากให้ “เพื่อน” ทางเฟซบุ๊กเป็นแบบนี้กันมากๆ ครับ
เห็นเพื่อนเขียนอะไรผิด – โดยเฉพาะใช้คำผิด สะกดการันต์ผิด ข้อมูลผิด นั่นคือเพื่อนเรากำลังตกอยู่ในอาการ “ปมตฺต” (ประมาทพลาดพลั้งเผอเรอไม่รอบคอบ)
เพื่อนแท้ควรทำหน้าที่ “ปมตฺตํ รกฺขติ” ช่วยเพื่อนที่กำลังพลาดให้ทำสิ่งที่ถูกต้อง-อย่างที่เพื่อนผมช่วยผม
ผมโชคดีที่มี “เพื่อน” คอยช่วย “รกฺขติ” อยู่เสมอๆ ผมมีแค่สองหูสองตา แต่มีเพื่อนคอยเป็นหูเป็นตาให้อีกเป็นร้อย
การทักท้วงเพื่อนที่พลั้งพลาด เป็นคนละเรื่องกับการจับผิดชาวบ้านนะครับ ต้องแยกให้ถูก อย่าเอาไปปนกัน
“ปมตฺตํ รกฺขติ” = ป้องกันเพื่อนผู้ประมาทแล้ว เป็นหน้าที่ของเพื่อนแท้ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ช่วยกันทำ
เพื่อนแท้ อย่าปล่อยให้เพื่อนลืมรูดซิปกางเกง แล้วเดินเป็นนักเลงไปทั่วบ้านทั่วเมืองนะครับ
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑ สิงหาคม ๒๕๖๕
๑๖:๐๕
………………………………………….
เพื่อนแท้
…………………………….
…………………………….