บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

งานของนักเรียนบาลี

งานของนักเรียนบาลี

———————-

อย่านึกว่าไม่มีอะไรทำ

ผมกำลังเขียนเรื่องบุญกฐิน ตั้งใจ “หา” ความรู้มา “ให้” ญาติมิตรที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับบุญกฐินตอนออกพรรษาที่จะถึงนี้ 

อย่างน้อยที่สุดก็คือได้รับการบอกบุญให้ร่วมบริจาค 

อย่างมากที่สุดก็คือรับเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน

จะได้มีความรู้ที่ถูกต้อง มองภาพรวมของบุญกฐินออก ประเด็นใดที่เคยเข้าใจกันผิดๆ และทำกันผิดๆ ก็จะได้ละเว้นเสีย ไม่ทำและไม่สนับสนุนให้ใครทำ ประเด็นใดที่อาจมีข้อเยื้องแย้ง ก็จะได้มีข้อมูลที่เพียงพอจะวินิจฉัยตกลงใจเป็นส่วนตัวได้บ้างว่าอะไรควรเป็นอย่างไร

ก็พอดีเขียนถึงเรื่องความจำเป็นของการผลัดเปลี่ยนไตรจีวรประจำปีอันเป็นที่มาของพุทธานุญาตเรื่องกฐิน ก็ต้องเอ่ยถึงภิกษุชาวเมืองปาฐาผู้เป็นต้นเหตุต้นเรื่อง 

เรื่องภิกษุชาวเมืองปาฐาผู้เป็นต้นเหตุเรื่องกฐินนี้เราเอ่ยอ้างถึงกันทุกปีเมื่อถึงฤดูกฐิน แต่ผมเชื่อว่าเราส่วนมากมองข้ามความสำคัญไปเรื่องหนึ่ง นั่นคือการผลัดเปลี่ยนไตรจีวรเป็นหัวใจของกฐิน 

กฐินทุกวันนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการผลัดเปลี่ยนไตรจีวรแต่ประการใดทั้งสิ้น แต่ไปให้ความสำคัญกับจำนวนเงินที่ถวายในการทอดกฐิน

เหตุที่เราหลงทางกันไปไกลถึงเพียงนี้ก็เพราะไม่ได้ศึกษาความเป็นมาของกฐินประการหนึ่ง แม้ศึกษา ก็มองข้ามจุดสำคัญของเรื่องไปอีกประการหนึ่ง

ประเด็นนี้คงเอาไปพูดถึงในบทความชุดบุญกฐินที่จะได้นำเสนอต่อไป ส่วนที่จะว่าต่อไปนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่งครับ

เรื่องก็คือ เมื่ออ่านต้นเรื่องกฐินในพระไตรปิฎกที่กล่าวถึงภิกษุชาวเมืองปาฐา ก็ไปพบข้อความสั้นๆ ตอนที่เป็นความคิดคำนึงของภิกษุชาวเมืองปาฐาระหว่างที่จำใจจำพรรษาที่เมืองสาเกต

ข้อความสั้นๆ นั้นบอกว่า “อาสนฺเน ว  โน  ภควา  วิหรติ  อิโต  ฉสุ  โยชเนสุ” แปลได้ความว่า สาเกตกับสาวัตถีห่างกัน ๖ โยชน์

ข้อความสั้นๆ นี้ทำให้ผมเกิด “วาบความคิด” – แล้วเมืองอื่นๆ กับเมืองอื่นๆ ในพุทธประวัติหรือประวัติศาสตร์พุทธศาสนาอีกล่ะ เมืองไหนกับเมืองไหนไกลกันกี่โยชน์?

ในบทความชุดบุญกฐิน ผมอ้างถึงความลำบากในการแสวงหาผ้ามาทำจีวรเป็นเหตุให้บางคนที่มีศรัทธาขอบวชไม่มีโอกาสได้บวชเพราะตายเสียก่อนในขณะที่กำลังเที่ยวแสวงหาผ้าอยู่นั่นเอง

คนหนึ่งคือท่านพาหิยทารุจีริยะ นักเรียนบาลีน่าจะคุ้นกับชื่อนี้

อีกคนหนึ่งคือท่านปุกกุสาติ คนนี้นักเรียนบาลีอาจจะไม่คุ้น-ถ้าไม่ค้น

ท่านปุกกุสาติเป็นพระราชาเมืองตักศิลา สละราชสมบัติออกบวชแล้วจาริกมาถึงเมืองราชคฤห์เพื่อจะเฝ้าพระพุทธเจ้า 

คัมภีร์บอกว่า ตักสิลาถึงราชคฤห์ ๑๙๒ โยชน์

พระพุทธเจ้าเสด็จจากเมืองสาวัตถีไปรับที่เมืองราชคฤห์ คัมภีร์บอกว่า สาวัตถีถึงราชคฤห์ ๔๕ โยชน์ 

(ดูปปัญจสูทนี ภาค ๓ อรรถกถาธาตุวิภังคสูตร หน้า ๘๒๖-๘๒๗)

สาเกตกับสาวัตถีห่างกัน ๖ โยชน์

สาวัตถีกับราชคฤห์ห่างกัน ๔๕ โยชน์

ราชคฤห์กับตักสิลาห่างกัน ๑๙๒ โยชน์

นี่คือที่ผมเรียกว่า-ภูมิศาสตร์พุทธประวัติ

ข้อมูลนี้ได้มาจากคัมภีร์ ค้นเรื่องอื่น แต่ไปพบเข้า ก็เลยจดออกมา

แล้วเมืองอื่นๆ กับเมืองอื่นๆ อีกล่ะ?

ข้อมูลต้องมีอยู่ในคัมภีร์-คือพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาอาจริยมติ

ทำอย่างไรจึงจะดึงข้อมูลดังกล่าวนั้นออกมาได้ครบถ้วน

ใครจะเป็นคนทำ

ใครจะสั่งให้ใครทำ

ใครจะมีอัธยาศัยใฝ่ใจทำโดยไม่ต้องมีใครสั่ง

ใครจะทำให้วิชา “ภูมิศาสตร์พุทธประวัติ” สำเร็จเป็นรูปร่างขึ้นมาได้จริงๆ?

– นักศึกษา ป.ตรี ป.โท ป.เอก ทำวิทยานิพนธ์

– บริษัท ห้างร้าน หรือเอกชนที่มีกำลังทรัพย์ ประกาศให้ทุนโดยให้เสนอโครงการและงบประมาณที่ต้องการ

– มจร มมร เปิดภาควิชาภูมิศาสตร์พุทธประวัติ ศึกษาถึงระดับ ป.เอก

– วัดไทยในอินเดีย-เนปาล เพิ่มภารกิจศึกษาภูมิศาสตร์พุทธประวัติเข้าไปในภารกิจพระธรรมทูต

– คณะสงฆ์ไทยตั้งกองวิชาการพระพุทธศาสนา มีพระเถระระดับรองสมเด็จพระราชาคณะเป็นแม่กอง

ฯลฯ

……………….

ผมพูดมาเสมอ ยังไม่เบื่อที่จะพูดอีก และหวังใจว่าญาติมิตรก็อย่าเพิ่งเบื่อที่จะฟัง นั่นคือ –

เมืองไทยเรามีคนเรียนจบบาลีเป็นจำนวนมากพอควร

แต่แทบทั้งหมด หรือพูดแบบไม่เกรงใจว่า-ทั้งหมด-จบแล้วจบเลย เสวยวิมุตติสุขอย่างเดียวว่า-อาตมาเรียนจบแล้ว

ที่จบแล้วมุ่งทำงานบาลีต่อไปให้ถึงพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาอาจริยมติ มีเปอร์เซ็นต์เป็นศูนย์

ที่ควรแก่การอนุโมทนาอย่างยิ่งอีกอย่างหนึ่งในเวลานี้ก็คือ มีผู้มีจิตศรัทธาชักชวน เชิญชวน กระตุ้นเตือนกัน ช่วยกันสนับสนุนนักเรียนบาลีให้เรียนบาลีให้จบ มีอยู่เป็นจำนวนมาก

ควรแก่การแช่มชื่นใจอย่างยิ่ง

แต่ผู้มีจิตศรัทธาชักชวน เชิญชวน กระตุ้นเตือนกัน ช่วยกันสนับสนุนผู้ที่เรียนบาลีจบแล้วให้ทำงานบาลี กล่าวคือศึกษาค้นคว้าต่อไปให้ถึงพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาอาจริยมติ มีเปอร์เซ็นต์เป็นศูนย์อีกเหมือนกัน

ควรแก่การวังเวงใจอย่างยิ่ง

……………….

งานบาลีที่ควรทำ อย่างเช่นศึกษาสืบค้นข้อมูลจากคัมภีร์เกี่ยวกับระยะทางจากเมืองหนึ่งถึงเมืองหนึ่ง ที่ผมเรียกไปพลางๆ ว่า “ภูมิศาสตร์พุทธประวัติ” – เป็นต้น มีอยู่มากมาย 

งานมีอยู่มากมาย แต่ไม่มีคนทำ

คนที่สามารถทำได้มีอยู่มากมาย แต่ไม่มีใครสั่งให้ทำ

ทำเองด้วยใจรัก เปอร์เซ็นต์เป็นศูนย์

สาเหตุใหญ่มาจากทฤษฎีที่เรายึดถือกันมาว่า เรียนบาลีจบแล้ว ใครจะทำอะไรควรเป็นไปตามอัธยาศัย

ผลจึงเป็นไปตามที่เราเห็นกันอยู่-งานมีอยู่มากมาย รอให้มีคนมาทำ-ตามอัธยาศัย

……………….

งานที่จะทำมีอยู่มากพอ (มากพอที่จะเรียกได้ว่า-ท่วมหัว-นั่นแหละ!)

คนที่สามารถทำงานได้ก็มีอยู่มากพอ

คนที่พร้อมจะลุกขึ้นมาสนับสนุน ผมก็เชื่อว่ามีอยู่มากพอ

ผมยังหวังลึกๆ ว่า สักวันหนึ่ง ผู้ที่มีอำนาจในบ้านเมืองจะลุกขึ้นมาสั่งคณะสงฆ์ให้ลุกขึ้นมาทำงานบาลี 

สักวันหนึ่ง …

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒ สิงหาคม ๒๕๖๕

๑๔:๓๑

…………………………………………….

งานของนักเรียนบาลี อย่านึกว่าไม่มีอะไรทำ

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *