บาลีวันละคำ

ปรังการ (บาลีวันละคำ 3,709)

ปรังการ

ถ้ารู้จัก “อหังการ” ก็ควรรู้จักคำนี้ด้วย

อ่านว่า ปะ-รัง-กาน

ปรังการ” เขียนแบบบาลีเป็น “ปรงฺการ” อ่านว่า ปะ-รัง-กา-ระ แยกศัพท์เป็น ปร + การ

(๑) “ปร” 

บาลีอ่านว่า ปะ-ระ รากศัพท์มาจาก (แทนศัพท์ หึสา = เบียดเบียน) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุและ กฺวิ

: + รมฺ = ปรมฺ + กฺวิ = ปรมกฺวิ > ปรม > ปร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยินดีในการเบียดเบียน” หมายถึง –

(1) อีกอันหนึ่ง, อื่นอีก, อื่น (another, other) 

(2) ศัตรู, ปรปักษ์ (enemies, opponents)

ในภาษาไทยใช้ว่า “ปร-” เหมือนบาลี (ขีดท้ายคำบ่งว่าใช้นำหน้าคำอื่น ไม่ใช้เดี่ยวๆ) อ่านว่า ปะ-ระ- และ ปอ-ระ-

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปร– : (คำวิเศษณ์) อื่น, ใช้เป็นบทหน้าสมาส เช่น ปรปักษ์ ปรโลก. (ป.).”

(๒) “การ” 

บาลีอ่านว่า กา-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (กร > การ)

: กรฺ + = กรณ > กร > การ แปลตามศัพท์ว่า (1) “การทำ” (2) “ผู้ทำ” 

การ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การกระทำ, กิริยาอาการ, วิธีทำ (doing, manner, way)

(2) กรรม, การบริการ, การกระทำที่แสดงความเมตตา หรือความเคารพ หรือความนับถือ (deed, service, act of mercy or worship, homage)

(3) ผู้ทำ หรือผู้จัดการ หรือผู้ค้า (one who does, handles or deals)

(4) ในเป็นชื่อเฉพาะทางไวยากรณ์, คือ นิบาต, อักษร, เสียงหรือคำ (particle, letter, sound or word), เช่น ม-การ (มะ-กา-ระ) = อักษร ม, ตัว ม หรือ ม อักษร, จ-การ (จะ-กา-ระ) = จ อักษร 

การ” เมื่อสมาสกับคำอื่น มีความหมายต่างออกไป คือหมายถึง การทำให้เกิดขึ้นหรือการนำเอาออกมาใช้ = สภาวะหรือคุณภาพ (the production or application of = the state or quality of) เช่น –

อหํการ = “กระทำว่าเรา” = มองเห็นแต่ตนเอง (selfishness)

อนฺธการ = ความมืด 

สกฺการ = การสักการะ, เครื่องสักการะ

พลกฺการ = การใช้กำลัง (forcibly)

ในที่นี้ “การ” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)

ปร + การ ซ้อน งฺ 

: ปร + งฺ + การ = ปรงฺการ (ปะ-รัง-กา-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “อาการเป็นเหตุให้ทำคนอื่นว่าเป็นคนอื่น” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปรงฺการ” ว่า condition of otherness, other people, alienity [opp. ahankāra selfhood] (ภาวะแห่งความเป็นอื่น, คนอื่น, ความเป็นคนภายนอก [ตรงข้าม อหงฺการ ความผยองหรืออหังการ]).

ปรงฺการ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปรังการ” (ปะ-รัง-กาน) คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

อภิปรายขยายความ :

คำว่า “ปรังการ” ในบาลีมักใช้ควบคู่กับคำว่า “อหังการ” (บาลี: อหงฺการ) เป็นคำที่มีความหมายตรงกันข้ามกัน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “อหังการ” ไว้ บอกไว้ดังนี้ –

อหังการ : (คำนาม) การยึดว่าเป็นตัวเรา; ความเย่อหยิ่งจองหอง, ความทะนงตัว, ความก้าวร้าวด้วยการถือว่าตนเองสำคัญ. (คำกริยา) หยิ่ง, จองหอง, อวดดี. (ป., ส.).”

แต่พจนานุกรมฯ ก็ไม่ได้เก็บคำว่า “ปรังการ” ไว้ ทั้งๆ ที่เป็นคำที่มีความหมายคู่เคียงกันอยู่

อหังการ” = ยกตัวเอง

ปรังการ” = ข่มคนอื่น

อหังการปรังการ” จึงมีความหมายตรงกับคำไทยที่ว่า “ยกตนข่มท่าน

อย่างไรก็ตาม คำว่า “ยกตนข่มท่าน” ในภาษาบาลี มีคำที่มีความหมายเช่นนี้ตรงๆ อีกคำหนึ่ง คือ “อตฺตุกฺกํสนปรวมฺภน” (อัตตุกกังสะนะปะระวัมภะนะ) แปลตามศัพท์ว่า “การยกขึ้นซึ่งตนและการติเตียนซึ่งผู้อื่น

คำนี้รูปคำดูขรุขระ เสียงก็ฟังดูขลุกขลัก ทั้งรูปทั้งนามยุ่งยากกว่า “อหังการปรังการ” คงไม่มีโอกาสเกิดในภาษาไทย

ขนาด “ปรังการ” รูปนามความหมายไม่ได้ด้อยกว่า “อหังการ” ตรงไหนเลย ก็ยังไม่มีใครรู้จัก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความพอใจของคน เป็นตัวกำหนดอนาคตของคำ

: ความดีงามหรือความระยำ เป็นตัวกำหนดอนาคตของคน

#บาลีวันละคำ (3,709)

8-8-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *